Wednesday, 4 October 2023
REGION

จันทบุรี - พบเด็กป่วย ‘โรคเบอรี่ซินโดม’ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มูลนิธิพระพุทธบาทพลวงและคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น

ที่บ้านพักของครอบครัวผู้ยากไร้ ที่อาศัยสวนผลไม้ของญาติในบ้านที่ไม่มั่นคง อาชีพรับจ้างทำสานผลไม้ และ รับจ้างทั่วไป ของครอบครัว ศรีบุรุษ ในหมู่บ้านพังตะแคง หมู่ที่ 7 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี พระครูประดิษฐ์ ศาสนการ เจ้าอาวาสวัดทุ่งตาอินท์ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระพุทธบาทพลวง / พระครูพุทธบท บริบาล ประธานมูลนิธิพระพุทธบาทพลวง / พระครูปลัดน้ำ มันตะชาโต เลขามูลนิธิพระพุทธบาทพลวง พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมครอบครัว ของ นายสถาพร  ศรีบุรุษ ( น้องอ๋อ ) ที่ป่วยเป็นโรคเบอรี่ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายยาก เคยเข้ารักษาแล้วแต่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องใช้เวลา สภาพแวดล้อม และการเอาใจใส่ของคนในครอบครัว

ซึ่งโอกาสเกิดโรคนี้ในประเทศไทย น้อยมากถือว่าเป็น 1 ในล้าน สถิติที่ผ่านมาส่วนใหญ่ที่พบเจอ จะเป็นโรค ดาวน์ซินโดม แต่ผู้ป่วย โรคเบอรี่ซินโดม จะมีอาการหนักกว่า สาเหตุอาจเป็นไปได้หลายทาง ทั้ง พันธุ์กรรมที่มีโครโมโซนเกินจากเด็กปกติทั่วไป หรือ ช่วงตั้งครรภ์ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะที่เห็นชัดถึงความแตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป  อาการ จะลักษณะคล้ายเด็กที่ป่วยเป็นดาวซินโดม แต่ จะหนักกว่าตรงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย และ จะนิ่งเฉย ขณะเดียวกัน บิดา – มารดา เป็นครอบครัวที่ยากไร้ อาศัยญาติ พี่ น้อง ปลูกสร้างบ้านที่ไม่มั่นคง ต้องรับจ้างทั่วไปรายวันเพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่มีน้องชายอีก 1 คน เวลาออกไปทำงาน พ่อ แม่ ต้องนำน้องอ๋อ นั่งรถซาเล้งออกไปดูแลอยู่ใกล้ ๆ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจเกิดอันตรายเพราะเด็กไม่รู้สึกตัวเองเลย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดม

ซึ่งหากปล่อยให้เด็กเสียชีวิตไปโดยไม่เหลียวแลก็ดูเหมือนจะผิดนิสัยมนุษย์เมื่อลูกเกิดมาแล้ว สภาพร่างกายแบบไหน พ่อ แม่ ก็ต้องพร้อมเลี้ยงดูจนถึงที่สุด ถึงแม้ชีวิตจะยากลำบาก ยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทนรับสภาพ ในการที่ มูลนิธิพระพุทธบาทพลวงและคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งการต่อเติมที่อยู่อาศัยให้มั่นคง หลบแดด ลม ฝนได้ และ อาหารเครื่องอุปโภคบริโภคที่นำมาให้สามารถแบ่งเบาภาระได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะทำบุญช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ลำบาก สามารถร่วมบริจาคสมทบได้ที่มูลนิธิพระพุทธบาทพลวง หรือที่วัดพลวง และ วัดทุ่งอินท์ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  (ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี)

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ (รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก)

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 1  เมษายน  2564  ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจจุดคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 3 จุด  อ้างถึง คำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 2565 / 2563 ลงวันที่ 30  ตุลาคม  2563 และคำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 14 /2564 ลงวันที่ 4 มกราคม  2564 สำเนาคำสั่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 650 / 2564 ลงวันที่ 1 เมษายน 25649

ตามที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีคำสั่งที่ 14 / 2564 เรื่องการจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัดควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่  1.จุดตรวจแม่อุคอ ทางหลวงแผนดินหมายเลข 1263 ตำบลแม่อูคอ อำเภอุนยวม  2. จุดตรวจหน้าถ้ำ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 หมู่ที่ 8 บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สะเรียง  อำเภอแม่สะเรียง  3. จุดตรวจแม่ปิง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ฮี้  อำเภอปาย  จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   (COVID – 2019) ในประเทศไทย และในสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา การแพร่ระบาดได้ลดลง  ผู้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่  10 / 2564 เมื่อวันจันทร์ที่  8 มีนาคม  2564  จึงได้มีคำสั่งยกเลิก ด่านตรวจ  จุดตรวจ  จุดสกัด การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  จำนวน 3 แห่งดังกล่าว


ภาพ/ข่าว :  เกียรติศักดิ์  รักสัตย์  (ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

กรุงเทพฯ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน รณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD)

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ อาคาร CP-True Autistic Thai Foundation Vocatationl Training Center มูลนิธิออทิสติกไทย กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวให้โอวาทเรื่องการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานของบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในกรุงเทพฯ รวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการ กลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ให้มีโอกาสในการเข้าถึงการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวต่อไปในวันข้างหน้า

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายหน้าที่ให้ดิฉันมา ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และมุ่งเน้นดูแล การสนับสนุน และการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ. ศ. 2550 ในมาตรา 33 34 และ 35 ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการจ้างงานคนพิการ ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือในอัตราส่วน 100:1 คน

โดยการ สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในการเข้าถึงกฎหมายการจ้างงานคนพิการให้กับสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถ เข้าถึงกับคนพิการได้อย่างสะดวกโดยไม่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งยังมีนโยบาย ในการที่จะเชิญชวนสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่ได้จ้างงานคนพิการในการจัดเวทีเสวนาร่วมกัน และทำความเข้าใจในการให้โอกาสของคนพิการมีงานทำร่วมกันเพื่อผลักดันให้คนพิการนั้นมีอาชีพต่อไปในวันข้างหน้า การจ้างงานคนพิการนั้น นอกจากจะมอบโอกาสที่ดีแล้วยังเป็นการช่วยรัฐบาล ที่จะช่วยเหลือ กลุ่มคนได้โอกาสรวมถึงครอบครัวของคนพิการมากกว่าหนึ่งชีวิตเพราะในหนึ่งครอบครัวนั้นจะต้องมีผู้เสียสละมาดูแลคนพิการจึงทำให้ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ในการต่อไป

ในการนี้ นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลักรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านบุคคลออทิสติกไทย ในปี 2564 รวมทั้งนโยบาย ของกรุงเทพฯ ที่จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวง ทบวง กรม  และ องค์การคนพิการทุกประเภท ที่จะร่วมกัน พัฒนาและเตรียมความพร้อมในเรื่องของวุฒิการศึกษาโดยการเตรียมสถานศึกษาให้คนพิการได้เล่าเรียนและมีวุฒิบัตร เป็นที่ยอมรับและสามารถไปสมัครงานได้เทียบเท่ากับบุคคลปกติต่อไปในภายหน้าอีกทั้งยังมีนโยบายให้สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จ้างงานคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของกรุงเทพฯ

ในเวลาต่อมา นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวถึงบทบาทของการทำงาน ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกระทรวงการส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม(ไทย) และกับ สมาคม มูลนิธิ ต่าง ๆ ภาคีเครือข่ายของคนพิการ ที่จะร่วมกันยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในการเข้าถึงการมีงานทำ อย่างเต็มที่ พร้อมให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

จากนั้น อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์  นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม (ไทย) และ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ยังได้กล่าวขอบคุณ ภาครัฐและทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมงานในโครงการรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในวันนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบว่า คนพิการออทิสติก นั้นยังมีความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ เช่น การเป็นบาริสต้าชงกาแฟ และเป็นจิตรกรวาดภาพศิลปะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม

สุดท้ายนี้ นายสรสิช จรูญโรจน์ เลขานุการในหม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์  พร้อมด้วยนายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย รับมอบหมายหน้าที่ในการนำสาร์น จาก หม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปกครอง และคนพิการออทิสติก ในการดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ จึงส่งมอบกำลังใจให้กับทุกๆภาคส่วนที่จะได้ช่วยกันส่งเสริมให้คนพิการนั้น มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมสืบต่อไป

แม่ฮ่องสอน - อนุทิน รองนายก และรมว.กระทรวงสาธารณสุข มอบวัคซีนโควิด-19 ลงพื้นที่ มอบนโยบายดำเนินงานรองรับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ณ โรงพยาบาลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย  นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เดินทางมาที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,000 โด้ส  และ  พบปะผู้บริหารจังหวัด/อำเภอ และ มอบนโยบายการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่  และ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งนำวัคซีนซิโนแวค ไปฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทำงานต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่ง ความปลอดภัยของคนในประเทศจะต้องมาเป็นอันดับแรก โดยเราปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมอยู่แล้วในการช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยสงคราประเทศเมียนมาตามสถานการณ์หากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะดูแลให้ความช่วยเหลือปฏิบัติตามหลักของมนุษยธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ให้เข้ามาในเขตแดนของเราหากไม่มีการสู้รบ  ส่วนผู้หนีภัยสงครามเมียนมา จำนวน 7 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่เดินเข้ามาก่อนหน้านี้ก็ได้รับการรักษา นอนรักษาตัวที่ รพ.สบเมย 4 คน โรงพยาบาลแม่สะเรียง 1 คน และ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 2 คน 

โดยหลังรับการรักษา หากมีอาการดีขึ้นหรือหายจากการบาดเจ็บ ทางโรงพยาบาลจะประสานกับทางอำเภอ มารับตัวไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละราย โดยต้องประเมินวันต่อวัน แต่ยืนยันว่าจะต้องรักษาจนหายดีก่อน โดยทางทีมแพทย์  จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทุกคนไม่ต่างจากการรักษาคนไทยเรา แต่การรับเข้ามาอาจจะมีมาตรากาคุมเข้มเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19


ภาพ/ข่าว :  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เชียงใหม่ - ทอท. ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายกฤษฎา พุกะทรัพย์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานฝ่ายกิจการเพื่อสังคม และผู้บริหาร พนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นผู้แทน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติ (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ2 เมษายน 2558 อุปถัมภ์) ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา จำนวน 100,000 บาท โดยมีพันตำรวจโท ผดุงเกียรติ ปัณฑรนนทกะ รองผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และดาบตำรวจหญิง กัญญารัตน์ ขวัญทรัพย์กิจ รักษาการครูใหญ่ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ทอท.ได้ให้การสนับสนุนและดูแลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้สร้างอาคารเรียน และสนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการด้านการศึกษาของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิษย์เก่าของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดารเกิดความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อไป


ภาพ/ข่าว  นภาพร  เชียงใหม่

กระบี่ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) และ งาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN

วันที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 18.30 น. ที่ประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) บริเวณทางเข้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) และการจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN โดยมีนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีฯ และนางสาวศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN มีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.กระบี่ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดกระบี่ ตัวแทนจากองค์กรภาคเอกชน สมาคมแม่บ้านองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ สภาประชาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  

นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้ก่อสร้างประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามันแห่งใหม่  ลักษณะอาคารมีความสูง 14.42 เมตร เป็นทรงแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.00 เมตร  ตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดสังเกตอย่างชัดเจน และเป็นเครื่องมือของการท่องเที่ยว  ในระบบโซเชียลในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ด้านนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว นางสาวศศิธร กิตติธรกุล พูดถึงการจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN ในนามประธานสภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว จากสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ทำให้ภาคการท่องเที่ยวประสบกับปัญหา ด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดการว่างงานในกลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น การมีส่วนร่วมที่จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดรายได้  เกิดการสร้างงานภายใต้ข้อจำกัด ที่จะทำอย่างไรให้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่  เป็นที่ยอมรับว่ามีความพร้อม  ในระบบการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)  ประกอบกับศักยภาพของสถานที่ท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน  ยังคงโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวโลกเสมอ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมจังหวัดกระบี่   ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกด้าน เพื่อฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 จะเห็นได้จากวันนี้ เรามีสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวทะเลอันดามันแห่งใหม่ “ประติมากรรมวงเวียน  KRABI LUCKY WINDMILL ที่นำศาสตร์ของความเชื่อ ความโชคดี มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบได้อย่างลงตัวและงดงาม ต่อไปเราคงจะได้เห็น KRABI LUCKY WINDMILL เป็นจุดเช็คอินที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์  ศรีปล้อง รายงาน

นครพนม - ฤทธิ์พายุฤดูร้อนพัดถล่ม จ.นครพนม 5 อำเภอ เสียหายนับร้อยหลังคา

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 ได้เกิดพายุฤดูร้อนฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พัดพัดเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครพนม หลายอำเภอประกอบด้วย อ.เมืองนครพนม ธาตุพนม เรณูนคร นาแก และ อ.ปลาปาก ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านถูกแรงลมพัดได้รับความเสียหาย จำนวนหลายหลังเสาไฟฟ้า ล้มหลายสิบต้น รวมถึงโรงเรียนทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

เริ่มต้นที่อำเภอนาแก โดยนายพีรพล ลือล่านายอำเภอนาแกได้รายงานความเสียหายเบื้องต้น มีบ้านพังได้รับความเสียหาย 18 หลังคา พื้นที่ บ.ต้นแหน ต.นาแก จำนวน 10 หลัง บ.สร้างติ่ว ต.นาแก จำนวน 2 หลัง บ.โคกสะอาด ต.นาแก จำนวน 6 หลัง รวม 18 หลัง

อำเภอเรณูนคร ว่าที่ร.ต.ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร พื้นที่ ต.นางาม ในเบื้องต้น มีหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่หมู่ 8 บ้านโนนคำ ตำบลนางาม ลมพัดหลังคาเรือนเสียหายบางส่วนจำนวน 7 หลัง พื้นที่หมู่ 14 ตำบลนางามเสียหายบางส่วน 1 หลัง

ขณะที่อำเภอปลาปาก นายเชิดพันธ์ ผลวิเชียร ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.ชพ) รักษาราชการแทนนายอำเภอปลาปาก รายงานความเสียหาย รวมทั้งหมด 17 หลัง พื้นที่ ม.1 ต.หนองเทาใหญ่  1 หลัง ม.2 ต.หนองเทาใหญ่  6 หลัง ม.5 ต.หนองเทาใหญ่ 3 หลัง ม.8 ต.หนองเทาใหญ่  7 หลัง รวมทั้งหมด  17  หลัง

ส่วนที่อำเภอเมืองนครพนม นำโดยนายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอ ได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ ถูกพายุพัดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ประกอบด้วย บ้านกล้วย ม.7 ต.ขามเฒ่าต้นไม้หักทับโค ตาย1ตัว และที่ตำบลหนองญาติ เสียหายเล็กน้อยจำนวน 5 หลัง บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อจำนวน 22 หลังคา

ด้านอำเภอธาตุพนม โดยนายวรวิทย์ พิมพนิตย์  นายอำเภอธาตุพนมได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกพายุพัดเมื่อ 1 เม.ย.เช่นกันพื้นที่ บ้านคำผักแพว ม.8 ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม (ติดต่อเขต จ.มุกดาหาร) เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายรวม 6 หลัง (เสียหายหนัก 2 หลัง เล็กน้อย 4 หลัง) โดยนายอำเภอธาตุพนม พร้อมด้วยปลัดอำเภอ กำนัน ผญบ ช่างเทศบาลตำบลน้ำก่ำออกสำรวจความเสียหาย และให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมทั้งได้สั่งการให้เทศบาลตำบลน้ำก่ำ ดำเนินการนำวัสดุมาช่วยเหลือซ่อมแซม

โดยในเช้าวันนี้ 3 เม.ย.64 เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม จะได้นำสิ่งของ และถุงยังชีพ ไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยทุกอำเภอในครั้งนี้ โดยเหล่ากาชาดนครพนม ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครพนม จะได้ออกไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างเร่งด่วนต่อไป  


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส (ผสข.นครพนม)

ยะลา - เช็งเม้งเบตงคึกคัก ประชาชนเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น มั่นใจเบตงไร้โควิด-19

ยะลา - เทศกาลเช็งเม้งสุสานบ้านจะเราะปะไต กม.4 ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นไปอย่างคึกคัก หลังประชาชนเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น มั่นใจในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลาไร้การระบาดไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังได้หนีความแออัดและหมอกควันPM 0.5 ในกรุงเทพฯ กลับมาสัมผัสธรรมชาติไร้หมอกควันพิษ PM.0.5

วันนี้ (3 เม.ย.) บรรยากาศในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ที่สุสานบ้านจะเราะปะไต บ้าน กม.4 อ.เบตง จ.ยะลา เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และที่เดินทางไปทำงานยังต่างจังหวัด ได้เดินทางกลับบ้านมาร่วมไหว้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง พร้อมกับครอบครัว บุตรหลาน และญาติพี่น้อง จำนวนมากเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น  มั่นใจในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลาไร้การระบาดไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังได้หนีความแออัดและหมอกควันPM 0.5 ในกรุงเทพฯ กลับมาสัมผัสธรรมชาติไร้หมอกควันพิษ

โดยแต่ละคนก็จะนำอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาด้วย พร้อมกับทำความสะอาดที่บริเวณหลุมฝังศพญาติพี่น้องของตนเอง ก่อนจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้ กราบไหว้บรรพบุรุษ และเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษ สิ่งของเครื่องใช้ ส่งไปให้เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

ซึ่งจะมีผู้คนไปไหว้หลุมศพบรรพบุรุษ ไปจนถึงวันศุกร์ ที่  4  เมษายน 2564 ซึ่งบรรยากาศปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดน้อยลง และในพื้นที่ไม่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนามีความมั่นใจ

ทั้งนี้ วันเช็งเม้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่จากไป อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างตระหนักรู้แก่ ลูกหลานรุ่นหลังให้เห็นประวัติและคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีเช่นทุกวันนี้

วันเช็งเม้ง ในปี 2564 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน  วันเช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นการทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษ โดยถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฌาปนกิจ เนื่องจากตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า "สร้างหลุมศพไม่ต้องสร้างเนินสุสาน" ดังนั้น จึงไม่เคยมีบันทึกถึงการทำความสะอาดเนินสุสานมาก่อน   แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มมีความนิยมสร้างหลุมศพโดยสร้างเนินสุสานด้วยในภายหลัง จึงทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้ที่สุสานเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเพณีที่ละเว้นไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และในวันเช็งเม้ง 2564 ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ทุกปี


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ

พังงา - เริ่มแล้ว...งาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” ประจำปี 2564

เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน 2564  ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพังงาหลังเก่า อ.เมืองพังงา นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเปิดงาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” ประจำปี 2564 เพื่อหารายได้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณกุศลอื่น ๆ โดยมี นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการต่าง ๆ และภาคเอกชน ร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้

นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา กล่าวว่า งาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” จัดในระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางจังหวัดพังงาจึงจำเป็นต้องลดความแออัดของผู้คนที่มาเที่ยวชมงานลง ดังนั้นในปีนี้จึงมีการตรวจวัดตามมาตรการก่อนเข้างาน ไม่มีการออกร้านมัจฉากาชาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเบียดเสียดกันขึ้น แต่ยังคงมีกิจกรรมต่าง ๆ ทุกคืนตลอดงาน เช่น การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การแสดงของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ การประกวดร้องเพลงของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าบาติก การจำหน่ายสลากการกุศล การเปิดรับบริจาคเงินเพื่อใช้ในกิจการของเหล่ากาชาด การแข่งขันกีฬา การประกวดผลผลิตทางการเกษต

นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้าโอทอปของดีเมืองพังงา สินค้าพื้นเมืองพื้นบ้าน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด ส่วนเวทีกลางจะมีการแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดังทุกค่ำคืน ทั้งนี้ก็เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนจากภัยต่าง ๆ เช่นช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ มอบทุนเด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น  สำหรับผู้ที่บริจาคเงินสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้เป็น 2 เท่าของยอดที่บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ส่วนสลากการกุศลจำหน่ายในราคาใบละ 100 บาท ลุ้นเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ Mitsubishi รุ่น Triton สร้อยคอทองคำ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย รวม 300 รางวัล


ภาพ/ข่าว  อโนทัย  งานดี  

อุทัยธานี - แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตร อำเภอทัพทัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี พร้อมหน่วยข้าราชการและผู้อำนวยการ  ศูนย์อำนวยการ จิตอาสาพระราชทาน จังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2564 ร่วมกับ พันโท ผดุงศักดิ์ ปิ่นเกตุ หัวหน้าชุดประเมินผลภัยแล้งที่ 9​ และคณะ สถานที่ ณ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร  บ้านสวนขวัญ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ บ้านสวนขวัญ หมู่ที่ 13 ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 

ทั้งนี้นาง ปรียารัตน์ ลานพลอย ท้องถิ่นอำเภอทัพทัน  นาย สุรศักดิ์ ภักดี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระทุ่ม  และจิตอาสาพระราชทานจังหวัดอุทัยธานี​ รวมทั้งสิ้น 78 คน ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พร้อมการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี  ศรีอนันต์

บึงกาฬ - ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 เม.ย.ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย  จังหวัดบึงกาฬ นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ได้เปิดโครงการยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวภายใต้ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว  กิจกรรมส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ  มีผู้เข้าร่วมการอบรม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 42 คน วิทยากรอบรมให้ความรู้โดยนายสุทธิพงษ์  สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำในวงการศิลปะและอาหารระดับโลก

นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว กิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาหารพื้นบ้าน การจัดประดับตกแต่งสำรับอาหารพื้นบ้าน ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ สามารถเสริมสร้างมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหาร ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเพื่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนในโอกาสเทศกาลวันสงกรานต์ใกล้จะมาถึงนี้ และในโอกาสต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนในพื้นจะได้ลิ้มรสความอร่อย ถูกปาก สวยงาม เกิดความประทับใจและกลับมาเที่ยวอีกครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ

ด้านนายธนวณิช ชัยชนะ นายกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬมีนโยบายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดบึงกาฬ ถ้าหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น แพ็คเกจจิ้งก็ดี การผลิตก็ดี หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพ ทัดเทียมต่างชาติ หรือการถนอมอาหารให้สามรถเก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยวนำกลับไปได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์

อยุธยา – นาย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดการใช้ความเร็วรถยนต์สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน - ต่างระดับอ่างทอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยมี นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงฯ องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมในพิธี ในวันที่ 1 เมษายน 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เตรียมการนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง และได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 สำหรับเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยกระทรวงฯ ได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน หรือ Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว

โดยเส้นทางนี้ถือเป็นต้นแบบของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ  260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง - สิงห์บุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทาง - มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว - อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่ - ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 


ภาพ/ข่าว  เดชา  อุ่นขาว

ชลบุรี – สง่างาม ผบ.กร.เปิดซุ้มประตูนักรบ "ซีล" นสร.กร. อย่างเป็นทางการ

วันที่ 1 เม.ย.64 พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) เป็นประธานในพิธีเปิดซุ้มประตู หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือฯ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจาก เส้นทางเข้า-ออกเดิมของ นสร.กร. ตัดผ่านสนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว ที่มีการฝึกอย่างต่อเนื่อง  และในบางครั้งมีการปิดเส้นทางเข้า-ออกส่งผลให้ข้าราชการของหน่วยต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านช่องแสมสารที่มีความแออัด และมีระยะทางไกลกว่าเดิม ตลอดจนหน่วยได้รับการขยายอัตราเพิ่มอีก 1 กรมรบพิเศษ ข้าราชการของหน่วยเพิ่มขึ้น การผ่านเข้า-ออกเส้นทางเดิมที่เป็นลักษณะทางลงเนินโค้ง ทำให้มีความไม่ปลอดภัย หน่วยจึงได้พิจารณาสร้างเส้นทางเข้า-ออกใหม่ ให้มีความปลอดภัย และสง่างาม

การออกแบบซุ้มประตูใหม่ที่มีความโดดเด่นเป็นลักษณะคล้ายเรือล่องหน ที่มีขีดความสามารถในการเล็ดลอดการตรวจพบ ตรวจจับจากข้าศึก และสามารถทำการแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญในการปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ โดยด้านบนของซุ้มประกอบด้วย ชื่อหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เหนือชื่อประดับเครื่องหมายความสามารถนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ด้านซ้ายมีธงเครื่องหมายยศ พลเรือตรี ซึ่งเป็นยศของผู้บัญชาการหน่วย และได้พิจารณาสร้างซุ้มประตูอยู่ในบริเวณที่มีเส้นทางเข้า-ออกหน่วยกว้างขวางกว่าเดิม เป็นไปตามแนวความคิดในการออกแบบของ พล.ร.อ.ลือชัย  รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือที่ได้กรุณามอบให้แก่หน่วย

จากลักษณะซุ้มประตูที่โดดเด่น  สง่างาม และทันสมัย สะท้อนความเป็นหน่วยปฏิบัตการพิเศษของกองเรือยุทธการได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยอีกด้วย


ภาพ/ข่าว นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กลุ่มกะเหรี่ยงในไทย KTG เปิดรับบริจาค สิ่งของช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามเมียนมา

ระบุ ผู้หนีภัยสงครามส่วนใหญ่ไม่กล้ากลับเข้าบ้าน อาศัยหลบซ่อนในป่า ขาดแคลนเสบียง  ขณะที่สถานการณ์ชายแดนวันนี้ยังเงียบสงบไม่มีผู้อพยพข้ามมาแต่อย่างใด

ณ บ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  น้องฟ้า ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับสิ่งของบริจาคศูนย์ KTG ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง  ตัวแทน กลุ่มกระเหรี่ยงในประเทศไทย หรือ KTG  (Karen Thai Group) กำลังทำการรวบรวมสิ่งของบริจาคที่ได้จากพี่น้องกะเหรี่ยง และ ประชาชนไทย ในประเทศไทย ซี่งส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า และ  ผ้าใบสีฟ้า  ของใช้ยามหน้าฝน เช่น ผ้าใบกันฝน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยึดเยื้อ พี่น้องที่หลบหนีกลางป่าจะได้มีที่พักพิงหลบฝนได้  โดยสิ่งของบริจาคได้ทยอยส่งมาอย่างต่อเนื่อง  ในวันนี้มีสิ่งของบริจาค ส่งมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก และ กลุ่มสตรีชาติพันธ์แม่สวด รวมกันส่งสิ่งของมากับรถโดยสาร จำนวน 5 คัน  ซึ่งเจ้าหน้าที่ KTG ระบุว่า พี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยสู้รบเมียนมา ยังต้องการของบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้หนีภัยสงครามส่วนใหญ่ไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่ยังคงอาศัยหลับนอนตามป่า ตามเขา เนื่องจากยังหวาดกลัวภัยสงคราม

โดยสิ่งของรับบริจาคส่วนใหญ่ ประกอบไปด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม ยารักษาโรค และของใช้ยามหน้าฝน เช่น ผ้าใบกันฝน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยึดเยื้อ พี่น้องที่หลบหนีกลางป่าจะได้มีที่พักพิงหลบฝนได้

ทั้งนี้  จากเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ประชาชน  เด็ก  ผู้หญิงและคนชราต้องทิ้งบ้านเรือนหนีภัยสงคราม แม้ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่บางส่วนไม่กล้ากลับเข้าไปอยู่ตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเดิม ยังคงหลบหนีซ่อนตัวอยู่ตามป่า และ เริ่มไม่มีเสบียง ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทยจะดำเนินการขออนุญาตทางหน่วยงานรัฐในการดำเนินการส่งของออกไปช่วยเหลือพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากยังไม่สามารถดำเนินการส่งของไปช่วยเหลือได้ ก็จะรวบรวมไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ หรือ จนกว่า ทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกได้เท่านั้น


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) 

เพชรบูรณ์ เกษตรอำเภอวังโป่ง จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานที่ อาคารคัดแยกมะขามหวาน วิสาหกิจชุมชนไม้ผลตำบลซับเปิบ หมู่ที่ 2 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  โดยมี นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวรายงาน หัวหน้าส่วนราชการอำเภอวังโป่ง นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลซับเปิบ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตำบลซับเปิบ สำนักงานตรวจบัญชีและสหกรณ์  ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ เข้าร่วม และสาธารณสุขอำเภอวังโป่ง ได้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทั่วประเทศ จึงได้มีนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นแกนหลักในการจัดงาน โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ หรือศูนย์เครือข่ายในพื้นที่เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต  การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพ ให้เกษตรกรทุกท่านที่มาร่วมงาน  ให้ความสนใจเรียนรู้จากฐานเรียนรู้และองค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการเกษตรสาขาต่าง ๆ ตลอดจนข่าวสารที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มาให้บริการข้อมูลข่าวสาร  เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรายอื่นได้ทราบ เพื่อพัฒนาการเกษตรของอำเภอวังโป่งต่อไป

กิจกรรมวันนี้มีบุคคลเป้าหมายเข้าร่วมงานเป็นเกษตรกรที่อยู่ ในพื้นที่อำเภอวังโป่ง จำนวน  130  ราย โดยแบ่งเกษตรกรเข้าฐานเรียนรู้ กลุ่มละ 25 ราย โดยใช้เวลาเรียนรู้ฐานละ 30 นาที หมุนเวียนการเรียนรู้ จนครบทุก 4 ฐาน แล้วจึงสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี ฐานเรียนรู้ที่ 1 การผลิตและแปรรูปมะขามหวานคุณภาพ  ,ฐานที่ 2 การผลิตสารชีวภัณฑ์ สอนวิธีการขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรใช้ควบคุมแมลงศัตรพืชเช่นเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ มวนเขียว ด้วงแรด ด้วงหนวดยาว ฯลฯ ,ฐานที่ 3 การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (หนูนา) ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงหนูแบบแยกคลอด การเตรียมบ่อเลี้ยง และวิธีการเลี้ยงหนูขุน ,ฐานที่ 4 การผลิตข้าวคุณภาพดี ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี

ด้าน นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวว่า ในวันนี้เราได้ให้พี่น้องเกษตรกรจำนวน 100 กว่ารายมาแลกเปลี่ยนความรู้ กับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรแล้ว  ซึ่งหวังว่างานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในครั้งนี้น่าจะมีส่วนที่ดีที่พี่น้องเกษตรกรได้มาพบปะกัน สิ่งสำคัญที่สุดเกษตรกรอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งเขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันได้เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  เดชา  มลามาตย์ / มนสิชา  คล้ายแก้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top