(23 ก.ย. 67) นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มายัง ธปท. จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 นั้น
บัดนี้ ธปท. ได้ปิดรับคำขอแล้ว โดยมีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ขออนุญาต ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ก่อนเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568
โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่ทยอยออกมาประกาศแล้ว ในการเข้าร่วมชิงไลเซนส์ Virtual bank มีด้วยกัน ทั้งหมด 5 กลุ่มทุน
1. ‘บมจ.เอสซีบี เอกซ์’ (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ ‘WeBank’ ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ ‘KakaoBank’ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้
2. ‘กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์’ ที่มองตลาดนี้มีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำธุรกิจ
3. ‘กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่’ ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ ‘ทรูมันนี่’ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ (ซีพี) จับมือ ‘แอนท์ กรุ๊ป’ (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน
4. ‘ซี กรุ๊ป’ ผนึก 4 พันธมิตร ชิงเวอร์ชวลแบงก์ ทั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท วีจีไอ หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามดังกล่าว, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
5. กลุ่ม Lightnet ภายใต้ ‘ชัชวาลย์ เจียรวนนท์’ จับมือ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก