เรื่องที่น้อยคนจะรู้!! เปิดอีกด้านของมหกรรมกีฬา ‘โตเกียวโอลิมปิก’ งานระดับโลกสุดยิ่งใหญ่ที่ซ่อนปม ‘สินบน-ทุจริต’ เพียบ!!
ไม่รู้ว่าข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ จะมีคนไทยกี่คนที่รู้และเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะสื่อบ้านเราเป็นสื่อที่มักง่าย เลือกนำเสนอข่าวที่หาง่าย ไร้การตรวจสอบ หรือไม่ทำการบ้านใดๆ เลย แต่สำหรับผมแล้ว ข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ นี้ค่อนข้างมีความน่าสนใจ เพราะมีจุดเชื่อมโยงกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซผู้ล่วงลับ จึงสรุปข่าวนี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ และมาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ
ค่าใช้จ่ายในการจัดโตเกียวโอลิมปิกทั้งหมดนั้นอยู่ที่ 1,432,800 ล้านเยน (1兆4328億円) หรือเทียบเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราวๆ 375,913 ล้านบาท โดยผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดแบ่ง มีดังนี้
1.) ประเทศ 42%
2.) เมืองโตเกียว 13%
3.) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน 45%
โดยประเทศและเมืองโตเกียวนั้น ที่มาของเงินก็คือภาษีจากประชาชนนั่นเอง รวมเป็น 55% คิดเป็นเงิน 783,400 ล้านเยน ส่วนอีก 45% ที่รับผิดชอบโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้นมาจากการรับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ภาคเอกชนนั้นเอง
จึงสามารถพูดได้ว่าการจัดโตเกียวโอลิมปิกเกินครึ่งหนึ่งเป็นเงินแผ่นดิน แต่กลับมีคนบางกลุ่มหาประโยชน์จากการจัดงานกีฬาระดับประเทศที่ใช้เงินแผ่นดินนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ซึ่งจุดที่มีการค้นพบการทุจริตในครั้งนี้ก็คือ คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม หรือ Public Interest Incorporated Foundation (公益財団法人) และด้วยเพราะการเป็นองค์กรแบบนี้ กฎหมายญี่ปุ่นจึงไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงและเผยแพร่ข้อมูลทางธุรกิจทั้งหมดให้สังคมได้รับทราบ พูดง่ายๆ คือไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายขององค์กรด้วยวิธีปกติได้ทั้งหมด
ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ในปัจจุบันคือ อดีตหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันชื่อ ทาคาฮาชิ ฮารุยูกิ (高橋 治之) อดีตดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเดนท์สุ บริษัทตัวแทนโฆษณาอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ผู้มีฉายาว่าท่านดอนแห่งวงการธุรกิจด้านกีฬา โดยหน้าที่ที่ทาคาฮาชิได้รับในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันคืออำนาจในการเลือกสปอนเซอร์ ที่จะเป็นเงินทุนให้กับการจัดโตเกียวโอลิมปิกถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิดการรับสินบนจากภาคเอกชนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์
ณ ปัจจุบัน (26 กันยายน 2565) มีบริษัทที่กำลังถูกสืบสวนการจ่ายสินบนดังต่อไปนี้
1.) บริษัท AOKI บริษัทผลิตเสื้อสูทสำเร็จขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น (ตัวผมก็ซื้อสูทพิธีการตอนสมัยเรียนที่ญี่ปุ่นจากบริษัทนี้) ได้จ่ายเงินสินบน 51 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
2.) บริษัท KADOKAWA บริษัทสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ที่ประเทศไทยอาจคุ้นเคยในสื่อประเภทการ์ตูน อนิเมชั่น นิยาย รวมไปถึงธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะ ได้จ่ายเงินสินบน 76 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
3.) บริษัท Daiko บริษัทสื่อโฆษณา ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบน 14 ล้านเยน กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน
4.) บริษัท Park24 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นทำธุรกิจให้เช่าที่จอดรถในโตเกียว ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบนเพื่อให้ได้เป็นสปอนเซอร์ของโตเกียวโอลิมปิก กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน
แต่ระดับผู้กว้างขวางในวงการสื่อสารมวลชนของญี่ปุ่น คงไม่ทำอะไรให้โดนจับง่ายๆ ถ้าไม่มีหลักฐานมัดให้ตัวคาหนังคาเขา จากการสืบสวนของสำนักงานอัยการ พบว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับว่าเป็นการติดสินบน นายทาคาฮาชิได้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons (コモンズ) เพื่อรับเงินสินบนนั้นในรูปแบบเงินค่าที่ปรึกษา จ่ายเป็นเงินรายเดือน
นอกจากนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยว่าบริษัทของนายทาคาฮาชิรับค่าที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพียงบริษัทเดียว จึงมีการเพิ่มตัวละครที่ชื่อ ฟุคามิ คาซุมาซะ (深見和政) ที่มีบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons2 (コモンズ2) เข้ามารับเงินค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์อีกบริษัทหนึ่ง
จากบริษัทที่ขึ้นลิสต์ข้างต้นไป บริษัท AOKI จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายทาคาฮาชิ โดยตรง ส่วนบริษัท KADOKAWA และ Daiko จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายฟุคามิ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างนายทาคาฮาชิ และนายฟุคามินั้น มีหลายจุดที่ทำให้สำนักงานอัยการคิดว่าทั้งคู่สมรู้ร่วมคิดกันในการรับสินบนครั้งนี้คือ ทั้งคู่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสมัยที่ทำงานที่บริษัทเดนท์สุ และบริษัท Commons2 (コモンズ2) ที่นายฟุคามิก่อตั้งในปี 2012 มีนายทาคาฮาชิเป็นกรรมการบริษัท ถึงปี 2013 นอกจากนี้แล้วบริษัท Commons2 รับงานทำ CM โปรโมตโตเกียวโอลิมปิกจากบริษัท AOKI ที่ได้รับการแนะนำจากบริษัท Commons (コモンズ) อีกทอดหนึ่ง
จากหลักฐานที่สืบสวนได้ ยังสามารถจับกุมได้เพียงนายทาคาฮาชิ, นายฟุคามิ และผู้บริหารบริษัทเอกชนข้างต้นเท่านั้น ยังมีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม เนื่องจากโตเกียวโอลิมปิกเป็นการแข่งขันระดับประเทศที่ยิ่งใหญ่ สปอนเซอร์ก็ถูกจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
1.) Worldwide Olympic Partner
2.) Gold Partner
3.) Official Partner
4.) Official Supporter
ทั้งสี่บริษัทล้วนเป็นเพียง Official Supporter ระดับล่างสุดของสปอนเซอร์โตเกียวโอลิมปิกเท่านั้นหรือ? แล้วระดับสูงขึ้นไปจะมีการรับสินบนหรือไม่? นั้นเป็นสิ่งที่สำนักงานอัยการกำลังสืบสวนเพิ่มเติม ถ้าได้ผลอย่างไร จะนำมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ