Tuesday, 22 April 2025
ไฮโดรเจน

'PTT – OR – TOYOTA – BIG' ผนึกกำลังดัน Future Energy ผุดต้นแบบสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในไทย

4 ยักษ์ใหญ่ 'PTT – OR – TOYOTA – BIG' ผนึกกำลังเสริมแกร่ง Future Energy เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย จับมือเดินหน้าสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมรองรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) อนาคตใหม่ของการเดินทางเติมเต็มความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศยานยนต์แห่งอนาคต 

มอบประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ ด้วยรถยนต์ โตโยต้า มิไร (Toyota Mirai) รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) ให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี ตอบรับแผนภาครัฐ สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

(8 พ.ย. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) และ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของ 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้พลังงานในการเดินทางและการขนส่งในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และหนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องการพลังงานชนิดใดสำหรับการเดินทาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2030 ของ โออาร์ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไปอีกด้วย

‘จีน’ ทดสอบ 'รถไฟในเมืองพลังงานไฮโดรเจน' ผลิตเองขบวนแรก วิ่งฉิว!! 160 กม./ชั่วโมง - เติมเชื้อเพลิงครั้งเดียววิ่งไกล 1,000 กม.

(22 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รถไฟในเขตเมือง ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนซึ่งจีนพัฒนาขึ้นขบวนแรก วิ่งทดสอบเสร็จสิ้นด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวานนี้ 21 มี.ค. ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งทางรถไฟ

โดยรถไฟดังกล่าวพัฒนาโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิลส์ จำกัด (CRRC Changchun Railway Vehicles) ในเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยวิ่งทดสอบบนรางทดสอบของบริษัทฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแบบเต็มระบบ ครอบคลุมครบฉากสถานการณ์ และหลากหลายระดับ

เมื่อเทียบกับรถไฟแบบดั้งเดิมที่อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือระบบจ่ายไฟฟ้าแบบสายส่งเหนือหัว รถไฟในเขตเมืองขบวนนี้มีระบบพลังงานไฮโดรเจนในตัวซึ่งสามารถให้แหล่งพลังงานที่เข้มข้นและยาวนาน โดยมีระยะการเดินทางสูงสุดแบบเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทดสอบยังแสดงให้เห็นว่ารถไฟพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าว ใช้พลังงานเฉลี่ย 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับรถไฟชั้นนำระดับโลก

CEO ใหม่ ปตท. รับลูกรัฐบาล หนุน 'ไฮโดรเจน-พลังงานสะอาด' ช่วยไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(14 มิ.ย. 67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. พร้อมรับนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติตาม เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นไปตาม ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP 2024’ ฉบับใหม่ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้นในสัดส่วน 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

โดย ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ดังนั้นจึงจะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และ ผลักดันโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) (โดยในร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า) เนื่องจากไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 และ CCS ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตด้วย

สำหรับปัจจุบัน ปตท. ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งไฮโดรเจนในต่างประเทศเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี เช่น ในแหล่งตะวันออกกลาง หากเริ่มมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ปตท. ก็พร้อมขยายการลงทุนเพิ่ม ประกอบกับถ้ารัฐบาลไทยเริ่มส่งเสริมให้นำไฮโดรเจนมาผสมรวมในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทาง ปตท. ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเช่นกัน รวมถึงจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปสู่ธุรกิจโมบิลลิตี้ (Mobility) ด้วย  

นอกจากนี้ในส่วนของราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนนั้น ทาง ปตท. ได้ช่วยเหลือประชาชนด้วยการพยายามควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ปตท. ได้นำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผสมในดีเซล เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ และพยายามให้ผลประโยชน์ไปถึงเกษตรกรโดยตรงมากที่สุด

ส่วนกรณีที่ภาครัฐเดินหน้าผลักดันความร่วมมือในการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ปตท.ยืนยันจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐแน่นอน เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ  

อย่างไรก็ตาม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะนำนโยบายรัฐบาลมาดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจ ปตท. โดยคำนึงถึงประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงาน กำไรที่เหมาะสม และการคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม

สำหรับในด้านธุรกิจนั้น ปตท.เตรียมทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจตามแผนการลงทุน 5  ปีใหม่ (2568-2572) ภายในเดือน ส.ค. 2567 นี้ โดยจะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท. (บอร์ด ปตท.) อนุมัติต่อไป คาดว่า จะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. 2567 นี้ ทั้งวงเงินลงทุน ธุรกิจที่จะเร่งเดินหน้าต่อ และธุรกิจที่อาจจะปรับลดขนาด หรือถอยการลงทุนลง เป็นต้น ซึ่ง ปตท.จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง และเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังเห็นแผนการลงทุนที่ชัดเจนออกมาในอนาคต

'ดร.คงกระพัน' เปิดแผน!! เขย่า ปตท.ครั้งใหญ่ พลังงานรูปแบบใหม่ รายได้ใหม่ โอกาสระยะยาว

แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทาง ปตท.จะแถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี โดยมีกำไรสุทธิรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 พร้อมๆ กับการเปิดเผยภาษีนำส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท และส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

แต่สิ่งที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอสใหญ่คนใหม่ ดูจะย้ำในงานแถลงครั้งนี้บ่อยครั้ง กลับไม่ใช่การเน้นในเรื่องของความสำเร็จจากผลการดำเนินงานจากกลุ่ม ปตท.เท่าไรนัก 

เหตุผลหนึ่ง เพราะ ดร.คงกระพัน รู้ดีว่ากลุ่มธุรกิจเดิมของ ปตท.ที่มีอยู่ เริ่มส่งสัญญาบางอย่าง เช่น การเติบโตขึ้นบ้าง ทรงๆ บ้าง และบางกลุ่มอาจจะเหนื่อยในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพลังงานรูปแบบเดิม ซึ่งในอนาคต เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของ 'สภาพภูมิอากาศ' ในโลกที่บีบให้มนุษย์ต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น 

ขณะเดียวกันแนวโน้มพลังงานฟอสซิลพลังงานเดิมที่ใช้อยู่ ก็จะค่อยๆ ลดลงในอนาคต ภายใต้การคาดการณ์ว่า ถ่านหินจะลดลงเร็วกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ถัดมาคือน้ำมันก็จะลดลงต่อไป ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงช้า ปตท.ยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ LNG และมุ่งมองหาพลังงานหมุนเวียนอื่นมาพลังงานทดแทน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมไปถึงไฮโดรเจน

ดังนั้น สิ่งที่ ดร.คงกระพัน ได้ประกาศในเชิงของเป้าหมายจากนี้ จึงชัดเจนไปที่ การมุ่งสร้างธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้เมืองไทย ที่อยู่บนพื้นฐานความถนัดของ ปตท. และต้องทำกำไรได้ในระยะยาว ซึ่งก็คงไม่พ้นการปรับทิศหันหาพลังงานสะอาดที่เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 

"การทำให้ ปตท.เติบโตยั่งยืนอย่างสมดุลจากนี้ จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่จะสร้างความ "แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD...

"ขณะนี้เรากำลังทบทวนตัวเอง (Revisit) เพื่อเดินหน้าแผนกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่ ปตท. ก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตในกลุ่ม Oil Major ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมองเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ส่งผลให้ทุกรายกระโดดเข้าไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากเรื่องน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีทั้งธุรกิจที่ถนัดบ้างไม่ถนัดบ้าง มีการลองผิดลองถูก แต่ในส่วนของเราจากนี้ คงต้องเลือกทำแบบโฟกัส เพราะเงินเราไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด"

ดร.คงกระพัน เผยต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจของ ปตท.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจ Hydrocarbon & Power ที่ครอบคลุม การสำรวจและผลิต ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ค้าปลีกน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรามีความถนัด ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนกำไร 99% ของกำไรรวมของ ปตท. แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องปรับตัว ทำให้ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น การหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน

อีกกลุ่มคือ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ (Mega Trend) อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่ม ปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย

อย่างไรกับก็ตาม การจะ Revisit ตัวเองนั้น ดร.คงกระพัน มองว่าจะต้องวิเคราะห์ 2 มุมมองให้ออก คือ...

1) ธุรกิจที่ทำใน Value Chain นั้นยังเป็นธุรกิจที่ดีอยู่หรือไม่ เพราะ 3-4 ปีที่แล้วกับวันนี้คนละเรื่องกัน

และ 2) ปตท. มี Right to play หรือจุดแข็งในการจะเข้าไปทำธุรกิจกลุ่มนี้หรือไม่

"ถ้ามีทั้ง 2 อย่าง แปลว่าธุรกิจยังน่าสนใจอยู่ เราสู้ ทำต่อ หรือบางธุรกิจอาจจะต้องเร่งเครื่องด้วย บางธุรกิจอาจจะต้องออก เช่น กรณีที่ธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ ปตท. ก็มีทางออกหลายวิธี เช่น อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะต้องดูความสามารถในการแข่งขันว่าเหมาะสมกับเราไหม สามารถเข้าหรือออกได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกอดสินทรัพย์ (Asset) ไว้เยอะเกินไป เราจึงควรต้องทำให้ตัวเบา" ดร.คงกระพัน กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการทบทวนตัวเองของ ปตท. ก็มีการพูดถึง 'CCS – ไฮโดรเจน' เข้ามาเป็นสมการสำคัญอยู่อย่างชัดเจนขึ้นด้วย

"อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้เราทำ Strategy Plan เสร็จแล้ว ซึ่งก็จะเริ่มบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจไหนจะเร่งเครื่อง? ธุรกิจไหนจะถอย? อย่างไฮโดรคาร์บอนจะทำไฮโดรเจน คู่กันกับ CCS ช่วงปลายปีก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ต้องกู้เท่าไร ต้องปันผลอย่างไร จะมีความสามารถที่จะลงทุนแค่ไหน ก็เอามาเทียบกับโครงการที่จะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าอยู่ในแผนการ...

"นั่นก็เพราะ 'ไฮโดรเจน' (Hydrogen) จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอน สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หากปรับเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากเราสามารถใช้ไฮโดรเจนทดแทนไฮโดรคาร์บอนได้ 5% ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5% เช่นกัน"

(***แนวโน้มราคาต้นทุนผลิตไฮโดรเจนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ ปตท.อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผน)

ดร.คงกระพัน เสริมอีกว่า "ก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งท่านก็คุยเรื่องไฮโดรเจนเหมือนกัน ทาง ปตท. ก็ได้มีคุยกับท่านแล้ว ทางซาอุดีอาระเบียก็อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะตลาดนี้มีศักยภาพใหญ่กว่า Mobility เป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว"

"ส่วนการลงทุนเรื่อง CCS (การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) จะอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปีแน่นอน และไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ ปตท.สผ. ทำก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการของ ปตท.สผ. นั้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเบื้องต้น แต่โครงการนี้กลุ่ม ปตท. เราวางแผนกลยุทธ์การกักเก็บคาร์บอนร่วมกัน หรือก็คือใครปล่อยก็เก็บ เช่น IRPC, GC, GPSC, TOP จะต้องดักจับคาร์บอนมาจากโรงงานตัวเอง การเก็บไม่ได้แปลว่า ต้องปล่อยแล้วก็เก็บ บางทีอาจจะเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อยเลยก็ได้ โดยมี ปตท. เป็นคนลงทุนเรื่อง Infrastructure และทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบ และให้ ปตท.สผ. ช่วยดูแลปลายทาง ในเรื่องการเก็บลงหลุมเช่น ใต้ทะเล"

อย่างไรก็ตาม ดร.คงกระพัน มองว่า ในส่วนของเทคโนโลยี CCS นั้น ในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการลงทุนทำกันมาเยอะในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งหากปตท.จะลงทุน ก็อาจจะลงทุนพัฒนาร่วมกับพันธมิตร หรืออาจจะไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเอาเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ ก็เป็นไปได้หมด

สุดท้าย ซีอีโอ ปตท. ให้บทสรุปว่า ไม่ว่าจะมีความท้าทายในด้านพลังงานอย่างไร ปตท.ต้องมีทิศทางชัดเจน ดังวิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' ซึ่งต้องสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ภายใต้การเติบโตทางธุรกิจที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงยึดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

เงื่อนปมที่ถูกคลาย!! 'ผลงานประเทศไทย' ที่เริ่มเป็นรูปธรรมจากคนทำงาน ความจริงเหนือเปลือก ‘ประชาธิปไตย-เสรีภาพ’ ที่เป็นได้แค่ ‘ทุพพลภาพ’

(25 ส.ค. 67) จากผู้ใช้ TikTok ชื่อบัญชี ‘เทพกบ’ หรือ ‘Kitty.3951’ ได้โพสต์คลิปเนื้อหาผลงานที่ ‘ลุงตู่’ ได้เตรียมแผนการต่างๆ ไว้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทยในระยะยาว เพื่อให้หลายคนที่ไม่เข้าใจ มองไม่เห็น คิดตามไม่ทัน และยังสนใจ-ชื่นชอบ 'ใครสักคน' จากผลโพลแบบไม่ลืมหูลืมตาได้เปิดตาและเปิดใจเสียใหม่ ระบุว่า ...

>> เคยรู้ไหมครับว่า ‘ระยอง’ จะเป็น ‘Smart City’ ?
>> รู้ไหมครับว่า Smart City มันมีอะไรบ้าง ?
>> รู้ไหมครับว่าสิ่งที่ประเทศไทยกําลังจะเกิดขึ้นคือ EEC ? 
>> รู้ไหมครับว่าพลังงานสะอาด มันเป็นเทรนด์ของโลก ?
>> แล้วรู้ไหมครับว่านโยบายต่างๆ ที่เขามอบหมายให้ ปตท. ช่วงระหว่างปี 2561 – 2562 ให้ไปจับมือกับฟ็อกซ์คอน จนก่อให้เกิดการตั้งบริษัท Horizon / บริษัทอรุณพลัส และต่างๆ นานา เพื่อมาวิจัยในเรื่องของแบตฯ EV Car รวมถึงเรื่องไฮโดรเจน เพราะว่ารถ EV Car มีข้อเสียคือ ชาร์จไฟนาน วิธีการแก้ชาร์จไฟนาน ก็คือ การเติมไฮโดรเจน ?

นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลลุงตู่ พยายามแก้ไขปัญหาพลังงานในระยะยาว หลังจากที่จะเริ่มมูฟออกจากน้ำมัน โดยการที่เขาจะมูฟออกจากน้ำมัน นั่นคือ เพราะพยายามที่จะผลักดันให้คนหันไปใช้ EV Car จึงต้องวางรากฐาน EV Car ไว้ 

สังเกตจากประเทศจีนที่ใช้ EV Car กว่า 90% เพราะฉะนั้นเขาเลยไม่มีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน และนึ่ก็เป็นอีกสิ่งที่เขาจะพยายามทำ คือ ช่วยลดราคาน้ำมัน ผ่านการ ลดความต้องการ หรือก็คือ ให้คนเลิกใช้น้ำมัน เดี๋ยวน้ำมันก็ถูกลงเอง 

รัฐบาลลุงตู่ จึงวางรากฐาน EV Car โดยการปูนโยบายให้ ปตท. ซึ่งในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าปตท. เป็นของรัฐเรียบร้อยแล้วในทางพฤตินัย และต่อให้ นิตินัย ผู้ถือหุ้น ก็ยังเป็นกระทรวงการคลังถึง 50%

และหากสังเกตให้ดี นโยบายของประธานกรรมการ ปตท. ก็ประกาศออกมาแล้วว่า จะเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงส่งผลให้เกิดการวิจัยต่างๆ นวัตกรรมต่างๆ เยอะแยะมากมาย และมันจะเกิดสายงานใหม่ๆ และงานใหม่ๆ 

ทีนี้ ก็อยู่ที่ เด็กรุ่นใหม่ จะมองเห็นรึเปล่า หรือมองเห็นแค่ว่า ‘ประชาธิปไตย-เสรีภาพ-ภราดรภาพ’ สุดท้ายกลายเป็น ‘ทุพพลภาพ’

>> เคยรู้เรื่องการเงินไหม ?
>> เคยรู้เรื่องงาน World Economic Forum ไหม ?
>> รู้จัก Metaverse / 3D Printing / Blockchain ดีพอหรือยัง ?
>> แล้วรู้จักบริษัท ‘BlackRock’ หรือไม่ รู้ไหมว่า BlackRock เป็นบริษัทของตระกูลใด BlackRock เป็นผู้ที่วางรากฐานพร้อมเพย์ และรู้ไหมว่า เขาเลือกประเทศไทยเป็นฐานในศูนย์กลางทางการเงินในอาเซียน 

เพราะคุณไม่รู้ คุณไม่เข้าใจ แล้วคุณก็ไปบ้าอยู่กับ ‘ผลโพล’

‘Toyota’ เปิดตัวไอเดียตลับไฮโดรเจนพกพา เปลี่ยนแล้วไปต่อ แก้จุดอ่อน ชาร์จพลังงานนาน

(21 ต.ค. 67) Toyota จัดแสดงการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายชุดในงาน ‘Japan Mobility Bizweek’ โดยเฉพาะแนวคิด ตลับไฮโดรเจนพกพาแห่งอนาคต (portable hydrogen cartridge future) ซึ่งดูเหมือนว่าจะสามารถให้พลังงานแบบ “สับเปลี่ยน” ได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นต่อไป (FCEV)

เดิมที โปรเจกต์นี้เป็นของ Woven ซึ่งเป็นบริษัทลูกด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ของ Toyota (เดิมชื่อ Woven Planet) โดยทีมงานได้ผลิตต้นแบบตลับไฮโดรเจนที่ใช้งานได้จริงในปี 2022 แต่ตั้งแต่นั้นมาก็ได้พัฒนาแนวคิดดังกล่าวต่อไป… และดูเหมือนว่าจะดำเนินการตามนั้น ตลับหมึกรุ่นล่าสุดมีน้ำหนักเบากว่าและพกพาสะดวกกว่า โดยโตโยต้าอ้างว่าตลับหมึกรุ่นปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์ที่บริษัทได้รับจากการลดขนาดและน้ำหนักของถังไฮโดรเจนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง

แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับตลับหมึกไฮโดรเจนที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาพอที่จะถือด้วยมือ โดยนายแบบคนหนึ่งสวมสิ่งที่ดูเหมือนแบตเตอรี่ AA ขนาดใหญ่ในกระเป๋าเป้ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ตลับนี้จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงสามารถเปลี่ยนแหล่งพลังงานได้เมื่อระดับไฮโดรเจนต่ำ แทนที่จะต้องเติมที่สถานีเหมือนอย่างที่คุณมักจะทำกับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยโตโยต้ายังรู้สึกว่าตลับหมึกที่เติมซ้ำได้และหมุนเวียนได้เหล่านี้สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น เพื่อสร้างไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟให้บ้านหรือแม้แต่ให้ไฮโดรเจนสำหรับเผาไหม้เพื่อทำอาหาร

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลับไฮโดรเจนสามารถถอดออกจากรถได้ และนำไปใช้จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ไฟดับ เป็นต้น

แม้ว่าตอนนี้จะยังเป็นเพียงแนวคิด แต่โตโยต้ารู้สึกว่าตลับไฮโดรเจนแบบพกพาที่มีน้ำหนักเบาเหล่านี้สามารถสร้างวิธีการที่ประหยัดกว่าและสะดวกสบายกว่าในการส่งไฮโดรเจนไปยังที่ที่ผู้คนอาศัยและทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องวางท่อส่งขนาดใหญ่

วิสัยทัศน์ของโตโยต้าเกี่ยวกับตลับไฮโดรเจนแบบพกพามีศักยภาพในการจ่ายไฟให้กับยานพาหนะและสิ่งของในชีวิตประจำวันมากมาย ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ที่มีความจุขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์และแม้แต่เครื่องใช้ในบ้าน

แนวคิดของบริษัทคือการจัดส่งตลับไฮโดรเจนสดควบคู่ไปกับอาหารและสิ่งของอื่นๆ โดยนำตลับไฮโดรเจนที่ใช้แล้วไปเติมใหม่ ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าจึงกล่าวว่าขณะนี้กำลังมองหาการจับคู่กับเทคโนโลยีและแนวคิดจากบริษัทและสตาร์ทอัพในสาขาต่างๆ รวมถึงทั้งการให้บริการและการพัฒนาและการขายอุปกรณ์โดยใช้ตลับหมึก

แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากในพื้นที่ยานยนต์ แต่ไฮโดรเจนก็เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความยืดหยุ่น โดยมีความสามารถในการสร้างไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้

ไฮโดรเจนไม่ปล่อย CO2 ออกมาเลยเมื่อใช้งาน (น้ำเป็นผลพลอยได้เพียงอย่างเดียว) และสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ได้หากผลิตขึ้นโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์

ด้วยความต้องการ EV ทั่วโลกที่ลดลง ดูเหมือนว่าไฮโดรเจนจะกลับมาอยู่ในวาระการประชุมอีกครั้ง โดยบริษัทต่างๆ เช่น Hyundai, BMW และ Honda ต่างก็สำรวจวิธีการทำให้เทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมในเชิงพาณิชย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top