Tuesday, 22 April 2025
ไลน์

‘LINE’ ยอมรับ!! ทำข้อมูลผู้ใช้ ‘รั่วไหล’ กว่า 3 แสนรายการ พร้อมดำเนินการปิดกั้นเรียบร้อย หลังถูกมือที่สามเจาะระบบ

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย. 66) รายงานข่าวจาก LY Corporation บริษัทแม่ในญี่ปุ่นของ ‘ไลน์’ (LINE) เปิดเผยว่า บริษัทพบการเข้าถึงระบบภายในจากบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้มีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้, พันธมิตรธุรกิจ, พนักงานและบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งบริษัทได้ทำการบล็อกการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์จากภายนอกโดยระบบบริษัทในเครือ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางที่เซิร์ฟเวอร์ถูกเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับความเสียหายในระยะที่สอง รวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้ใช้และพันธมิตรทางธุรกิจในทางที่ผิด แต่บริษัทจะดำเนินการสอบสวนต่อไปและดำเนินการทันทีหากจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เคร่งครัด

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องหนึ่งของพนักงานในบริษัทรับช่วงสัญญาในเครือของ NAVER Cloud Corporation ในเกาหลีใต้ และ LY Corporation ได้รับมัลแวร์ เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีการแลกเปลี่ยนระบบภายในองค์กรเพื่อจัดการข้อมูลของพนักงานและข้อมูลของบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งจัดการโดยใช้ระบบการยืนยันตัวตนร่วมกัน ส่งผลให้มีการเข้าถึงเครือข่ายภายในของบริษัท LINE เดิมและบุคคลที่สามก็สามารถเข้าถึงระบบของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่าน NAVER Cloud Corporation ในวันที่ 9 ต.ค. 2566

นอกจากนี้ บริษัทยังพบการเข้าถึงต้องสงสัยภายในระบบ ณ วันที่ 17 ต.ค. 2566 เช่นเดียวกัน และหลังจากได้วิเคราะห์เหตุการณ์แล้ว จึงได้ผลสรุปว่า ในวันที่ 27 ต.ค. 2566 มีความเป็นไปได้สูงที่มีการเข้าถึงระบบจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบริษัทกำลังใช้มาตรการเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด และป้องกันไม่ให้ข้อมูลแพร่กระจาย อีกทั้งบริษัทได้รายงานไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

>> รายละเอียดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ได้รับการยืนยันแล้วเป็นดังนี้

1. ข้อมูลผู้ใช้

- ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับผู้ใช้ จำนวน 302,569 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 129,894 รายการ)
- ข้อมูลผู้ใช้ประมาณ 49,751 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 15,454 รายการ) ได้แก่ ประวัติการใช้บริการที่เชื่อมโยงกับตัวระบุตัวตนภายในของผู้ใช้ LINE
- ในจำนวนทั้งหมดนี้ 22,239 รายการ เป็นข้อมูลความเป็นส่วนตัวด้านการสื่อสาร (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 8,981 รายการ)
- รวมประมาณการ 3,573 รายการ (เป็นของผู้ใช้ญี่ปุ่น 31 รายการ)
- หมายเหตุ: ข้อมูลข้างต้นไม่รวมข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือข้อความแชตในแอป LINE

2. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพันธมิตรธุรกิจ

- ข้อมูลพันธมิตรธุรกิจ 86,105 รายการ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของพันธมิตรธุรกิจและผู้อื่น เช่น ที่อยู่อีเมลของพันธมิตรธุรกิจ เป็นต้น
- ที่อยู่อีเมลของพันธมิตรธุรกิจ 86,071 รายการ
- รายชื่อของพนักงาน LINE และพันธมิตรธุรกิจ รวมถึงชื่อของบริษัทและแผนกต่าง ๆ, ที่อยู่, อีเมล 34 รายการ

3. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพนักงานและบุคลากรอื่น ๆ

- ข้อมูลบุคลากรและพนักงาน เช่น ชื่อ, รหัสประจำตัวพนักงาน, ที่อยู่อีเมล 51,353 รายการ
- ข้อมูลบุคลากรและพนักงาน และข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการเอกสารที่มีการรั่วไหลทั้งหมด 6 รายการ
- ข้อมูลบุคลากรและพนักงานที่อยู่ในระบบการยืนยันตัวตนทั้งหมด 51,347 รายการ แบ่งเป็น LY Corporation 30,409 รายการ และ NAVER 20,938 รายการ

>> ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

- 9 ต.ค. 2566 : มีการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของ LY Corporation โดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทในเครือ
- 17 ต.ค. 2566 : ทีมงานรักษาความปลอดภัยของ LY Corporation ได้ตรวจพบการเข้าถึงในระบบที่ต้องสงสัยและทีมงานเริ่มทำงานตรวจสอบ
- 27 ต.ค. 2566 : มีการระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเข้าถึงจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการรีเซ็ตรหัสผ่านของพนักงานที่อาจถูกใช้เพื่อเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตและตัดการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ในระบบของบริษัทในเครือ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นทางที่สามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ภายในบริษัท
- 28 ต.ค. 2566 : บังคับให้พนักงานเข้าสู่ระบบภายในของบริษัทอีกครั้ง
- 27 พ.ย. 2566 : ส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ พนักงานและบุคคลอื่น ๆ

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้บล็อกการเข้าถึงจากภายนอก และแจ้งเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว รวมถึงในอนาคต LY Corporation วางแผนที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการการเข้าถึงของเครือข่ายในระบบและทำการแยกระบบยืนยันตัวตนข้อมูลพนักงานออกจาก NAVER Cloud Corporation ซึ่งได้ซิงโครไนซ์ภายใต้ระบบภายในของบริษัท LINE เดิม

‘LINE’ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ‘Combination Sticker’ ส่งสติกเกอร์รวมกันได้สูงสุด 6 ตัว ภายในคราวเดียว

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) ที่ผ่านมา LINE STICKERS จัดเป็นหนึ่งในฟีเจอร์เด็ดมัดใจผู้ใช้งานแชต ด้วยการสร้างสีสันให้บทสนทนามากกว่าการส่งข้อความตัวหนังสือ และยังช่วยสื่ออารมณ์หรือความรู้สึก จึงทำให้มีการใช้สติกเกอร์ในการสนทนากันอย่างแพร่หลาย จนวันนี้มีสติกเกอร์อยู่ในระบบเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้เลือกใช้กว่า 20 ล้านชุด

ล่าสุด ฟีเจอร์คอมบิเนชันสติกเกอร์ (Combination Sticker / Sticker Arranging*) ได้ถูกเปิดตัวขึ้นเพื่อตอบโจทย์ใหม่ ๆ ของผู้ใช้งานให้ทุกการแชต สนุก มีสีสัน และสื่อสารได้มากขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกผสมผสานสติกเกอร์ประเภทต่าง ๆ ได้สูงสุด 6 ตัวต่อการส่งหนึ่งครั้ง ทั้งจากเซตเดียวกันหรือต่างเซต พร้อมเลือกจัดวาง หมุน หรือปรับขนาดได้ตามใจ

โดยฟีเจอร์นี้จะทยอยครอบคลุมสติกเกอร์ที่ใช้งานได้ โดยเริ่มจากสติกเกอร์ทางการ (Official Stickers) ก่อนขยายสู่สติกเกอร์ครีเอเตอร์ (Creators’ Stickers) ในการใช้งานเวอร์ชันเต็มรูปแบบในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้

สำหรับการใช้งานฟีเจอร์คอมบิเนชัน สติกเกอร์ จะเข้ามาช่วยให้ ‘ขยาย’ สติกเกอร์ให้ใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ ‘เพิ่มจำนวน’ สติกเกอร์ในรูปเดียวแบบซ้ำ ๆ ได้ตามใจ และ ‘รวม’ สติกเกอร์หลายตัวเข้าด้วยกัน

เริ่มต้นด้วยการกดค้างตัวสติกเกอร์ที่อยากนำมาทำคอมบิเนชันสติกเกอร์ จากนั้นจะมีแถบพื้นที่สีขาวใหญ่ปรากฏขึ้น ให้ลากสติกเกอร์ที่ต้องการเข้ามาวางในแถบขาวนั้น โดยสามารถหมุน เพิ่มขนาด และเพิ่มจำนวนได้อย่างอิสระ

เมื่อได้คอมบิเนชันสติกเกอร์ที่ต้องการ ผู้ใช้งานสามารถกดส่งสติกเกอร์ที่ครีเอตใหม่นั้นได้เลยทันที และเพื่อการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้นในครั้งต่อไป LINE ยังช่วยเก็บคอมบิเนชันสติกเกอร์ที่ผู้ใช้งานสร้างและเคยใช้แล้วไว้ใน History Tab

LINE ประกาศ!! เวอร์ชั่นมือถือรุ่นต่ำกว่าที่กำหนด จะใช้งานไม่ได้ หากไม่อัปเดต!! เป็นเวลานาน อาจไม่สามารถเรียกคืนข้อมูล

(3 พ.ย. 67) ไลน์ (LINE) ประเทศไทย ประกาศแจ้งเตือน ผู้ใช้งานมือถือระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 13.7.0 และ Android เวอร์ชัน 6.0.1 หรือ เวอร์ชันก่อนหน้า จะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน LINE ได้ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2567 เป็นต้นไป

LINE ระบุว่า การรองรับแอปพลิเคชันดังกล่าว บนสมาร์ทโฟนเวอร์ชั่นก่อนหน้า 12.18.0 จะสิ้นสุดลง ในช่วงเดือนพ.ย.2567 ซึ่งหมายความว่า หากผู้ใช้ยังคงใช้ LINE เวอร์ชันเก่าอยู่ จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้งาน LINE ต่อไป จำเป็นต้องอัปเดตระบบปฏิบัติการมือถือ เป็น iOS เวอร์ชัน 14.0 และ Android เวอร์ชัน 7.0.0 ขึ้นไป จึงจะสามารถอัปเดตแอปพลิเคชัน LINE เป็นเวอร์ชัน 12.18.0 หรือสูงกว่าได้

นอกจากนี้ หากไม่อัปเดตแอปพลิเคชัน LINE เป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถเรียกคืนข้อมูลต่าง ๆ เช่น ประวัติการแชทได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top