Sunday, 20 April 2025
ไฟไหม้โรงงาน

กนอ.สั่งระงับกิจการ-ใช้อาคารส่วนที่เสียหายในนิคมฯ บางปู พร้อมกำชับเร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานโดยเร็ว

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเหตุการณ์ได้ภายใน 1.15 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไร้สารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายกับชุมชน พร้อมสั่งการให้โรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท มินเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณ 23.15 น. ของวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและประกอบหมวกกันกระแทก และหมวกนิรภัยสำหรับใช้เล่นกีฬา มีพื้นที่กว่า 5 ไร่ เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณด้านข้างโรงงาน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้ประสานไปยังสถานีดับเพลิง และนักผจญเพลิงในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน จนสามารถควบคุมเพลิงและระงับเหตุได้ในเวลา 00.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ 

'ก้าวไกล' จวก 'เศรษฐา' เก่งแต่ต่อว่าคนอื่น แต่ทำงานไม่ได้เรื่อง หลังปมเพลิงไหม้โรงงาน 'อยุธยา-ระยอง' หาจุดจบไม่ได้เสียที

(2 พ.ค. 67) นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง และนายทวิวงศ์ โตทวิววงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงความคืบหน้ากรณีไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส รวมถึงเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.

โดยนายชุติพงศ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรงงานวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมี ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจ้าของกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านี้ที่อยุธยาเคยเกิดเหตุเพลิงโรงงานสารเคมี และมีการสั่งย้ายสารเคมีภายในโรงงานออกทั้งหมด จากนั้นมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่ระยอง และล่าสุดคือเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังในพระนครศรีอยุธยา ระดับผู้สั่งการทำได้แค่สั่งแต่ไม่มีแผนเผชิญเหตุ จึงฝากไปถึงรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก และนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ เห็นผลกระทบจากกลิ่นสารเคมี ต้องถามว่าทำงานกันเป็นหรือไม่ เพราะในการลงพื้นที่ไฮไลต์เดียวคือการไปต่อว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนเมื่อวาน (1 พ.ค.) ต้องประกาศลาออกในที่ประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร

“ถ้าท่านอยากทำหน้าที่ใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ท่านเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ท่านไม่ต้องเป็นรัฐบาลหรอก อำนาจสั่งการอยู่ที่ท่าน ท่านก็สั่งเลยว่าให้ตำรวจทำอะไร ให้แต่ละที่ทำอะไร และต้องฟ้องชดเชยเยียวยาอะไร เพราะอำนาจอยู่ในมือท่าน จึงต้องฝากนายกฯ เพราะท่านไปเห็นหน้างานมาแล้วว่าเหม็นขนาดไหน ถ้าหากท่านจะใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ และขอฝากถามไปถึงนายกฯ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะจบสักที เพราะดูเหมือนว่าท่านสั่งอะไร ก็ไม่ได้ผลสักอย่าง เพราะแม้ตอนนี้จะยังไม่ทราบชัดเจนว่าสารเคมีในโรงงานมีอะไรบ้าง แต่เบื้องต้นพบว่าเป็นสารประเภทเดียวกันทั้ง 2 ที่” นายชุติพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีความเชื่อมโยงว่ามีการเคลื่อนย้ายสารเคมีจาก จ.ระยอง มายังอ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาหรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า รัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับโรงงานเหล่านี้ ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่าเอาสารเคมีอะไรเข้าไปเก็บบ้าง และมาจากที่ใด เพราะไม่มีใครรู้ หากเกิดสารเคมียังหลงเหลืออยู่แต่ไม่มีที่เก็บแล้ว จากนี้จะไปโผล่บ้านใครก็ไม่ทราบ รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน ว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการพบข้อพิรุธหลายอย่างในเรื่องนี้

ต่อข้อถามว่าหากคดีมีความชัดเจนว่าเป็นการลอบวางเพลิง เอื้อประโยชน์นายทุน ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง นายชุติพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ต้องติดตามว่า คดีเหล่านั้นดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และการขนย้ายใช้งบประมาณของกรมโรงงานฯ หรือเอกชนเจ้าของโรงงาน ซึ่งฝ่ายค้านก็จะติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าการทำแบบนี้จะต้องรับโทษอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มองว่ามีความจำเป็นที่โรงงานต้องเกิดเหตุไฟไหม้ในตอนนี้หรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ค่าขนย้ายสารเคมีไปกำจัดมีราคาแพง

ด้านนายทวิวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทีมผจญเพลิงรับมือ ได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ เนื่องจากพบกรดกัดกร่อนรุนแรงที่พื้นโรงงาน หลังจากไฟไหม้ตลอดทั้งคืน จึงต้องปรับแผนไปดับเพลิงบนหลังคา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือ ชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน และมาตรการดูแลเจ้าหน้าที่ ทั้งการตรวจสุขภาพ และการรักษาในระยะยาว ทั้งนี้ทราบบว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบรอยตัดรั้วลวดหนาม หลังถูกดำเนินคดีที่ใช้กันพื้นที่โรงงานหลังถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง จึงต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด

อย่างไรก็ตามนายชุติพงศ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในการประชุม กมธ.อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เข้าร่วมประชุมกมธ. ด้วยในฐานะ สส.จ.ระยอง พื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งตนได้ถามอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ งบประมาณในการขนย้ายสารเคมี ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ที่นั่งอยู่ข้างตนก็ได้ตอบว่า "อ่อผมลาออกแล้วครับ" ตอนนั้นรู้สึกช็อกมาก

เมื่อถามว่าอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้แจ้งเหตุผลของการลาออกหรือไม่ นายชุติพงษ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ น่าจะเป็นเพราะถูกนายกฯ ต่อว่า และทราบว่ากำลังถูกสั่งย้าย ท่านจึงลาออก ซึ่งเรื่องนี้น่าสงสัย เพราะท่านเป็นคนเสนอให้ใช้เงินประกันที่ศาลมาดำเนินการขนย้ายสารเคมี ซึ่งก็ต้องรอผลในวันที่ 7 พ.ค.นี้ จึงต้องติดตามต่อไป เพราะประชาชนเริ่มสงสัยว่าเป็นการวางเพลิงต่อเนื่องหรือไม่

'รมว.ปุ้ย' ผนึกทุกภาคส่วน จับตาโรงงานเสี่ยงทั่วประเทศ เร่งเดินหน้ากวาดล้าง 'ขยะอุตสาหกรรม' ลงดาบผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์รั่วไหล และเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กำชับให้เร่งแก้ปัญหา และเห็นด้วยกับแนวทางที่ได้เสนอให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก 

“ภายหลังได้เสนอกับนายกรัฐมนตรี วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบทันที เพื่อให้การบริหารจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ทุกฝ่ายให้การยอมรับ สามารถขยายข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึง รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกากอุตสาหกรรม จากหน่วยราชการ ภาคการอุดมศึกษา ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ” 

รมว.อุตสาหกรรม ย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ เสนอแนวทางการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และตรวจสอบ กระบวนการที่เกี่ยวกับการลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายอีกด้วย 

สำหรับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกากตะกอนแคดเมียม ที่ได้มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมานั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่าวานนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 3 ชุด เร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ผู้แทนจากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

“และสำคัญวันนี้ต้องขอบคุณ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ได้กำชับ สั่งการและมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตราย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในทุกจังหวัดอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top