Tuesday, 22 April 2025
ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งระงับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 MW หลังบริษัทย่อยกลุ่ม EA ร้องคำสั่ง กกพ. ไม่โปร่งใส-ยุติธรรม

(16 ต.ค. 66) ศาลปกครองมีคำสั่งระงับรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในกลุ่มพลังงานลม ขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว หลังจากบริษัทย่อยของ EA ร้อง กกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม  

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เกี่ยวกับ การออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม ต่อศาลปกครองกลาง

โดยสาระสำคัญที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทางการปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลได้แถลงไว้ ดังนี้

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ได้แจ้งเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินหรือการกำหนดคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคด้านต่าง ๆ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2”

“ข้อเท็จจริงไม่มีการประกาศหรือกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคด้านต่าง ๆ ให้ผู้อื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบแต่อย่างใด อันทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการคัดเลือกโดยแท้ซึ่งจะทำให้ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“ผู้ฟ้องคดีเองได้ขอทราบคะแนนการประเมินของคณะอนุกรรมการก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือ แจ้งผลใด จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีปัญหาว่าการพิจารณาและการประเมินให้น้ำหนักคะแนนของคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการไม่ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ตามที่หลักเกณฑ์กำหนดกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“เมื่อคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์การให้น้ำหนักคะแนนความพร้อมทางเทคนิค แต่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงอาจมีการใช้ดุลพินิจ ตามอำเภอใจ โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้”

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคในแต่ละด้านและยังให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเสนอความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย อันมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางอีกด้วย”

จากกรณีดังกล่าว จึงทำให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อผู้ขอฟ้องคดีและทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลมจำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นอย่างอื่นเนื่องจากการดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ความชอบด้วยกฎหมาย

‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ทบทวนออกสัมปทานซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์

(28 ต.ค. 67) ‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ขอทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ชี้อาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

วันที่ 28 ต.ค.67 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เผยแพร่จดหมายถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุ
[จดหมายเปิดผนึกถึงคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี]

เรื่อง ขอให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธาน

ผมเห็นว่าการรับซื้อพลังงานครั้งนี้ รับซื้อด้วยราคาที่แพงเกินไป ไม่มีการเปิดประมูลเพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งหากดำเนินการต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น  

การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ใช้ราคาและหลักการเดียวกับการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกกะวัตต์ในปี 2565 สมัยที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดซื้อครั้งนั้น มีเอกชนเสนอขายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการซื้อถึง 3.3 เท่าตัว (ต้องการซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ เอกชนเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อสูงเกินกว่าราคาตลาด จึงมีเอกชนสนใจเสนอขายจำนวนมาก

ในฐานะที่คุณแพทองธารเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผมขอให้ท่านทบทวนนโยบายการจัดซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์นี้เสียใหม่ การประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และลงนามในสัญญาปีหน้า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความเป็นธรรม

ในการตอบกระทู้สดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตอบคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้ตั้งกระทู้ ว่าท่านเห็นด้วยว่าเงื่อนไขมีข้อบกพร่อง และรับปากกับสภาว่าจะทบทวนการซื้อพลังงานครั้งนี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า อำนาจในการหยุดยั้งแก้ไข ไม่ได้อยู่ที่ท่านรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

อย่าให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนร่ำรวยขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยนวัตกรรมใดๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

อย่าให้ประชาชนต้องรับภาระการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม

จากการประเมินเบื้องต้น หากการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน รัฐจะจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นหากเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมถึง 66,000 ล้านบาท (พิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน)

ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกคือ หากต้องการดำเนินนโยบายนี้ต่อ ผมขอให้มีการประมูล ให้เอกชนแข่งขันกัน ไม่ใช่กำหนดราคาตายตัว เช่นเงื่อนไขปัจจุบันหรือเงื่อนไขแบบ 5,200 เมกะวัตต์ของปี 2565 หรือใช้กลไก Direct PPA ที่มีอยู่ ที่เปิดให้ผู้ผลิตซื้อขายกับผู้ใช้ได้โดยตรง

ไปไกลกว่านั้น หากท่านต้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานอย่างจริงจัง ท่านมีทางเลือกคือการยุติการจัดซื้อครั้งนี้ ปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตและการขายพลังงาน ให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด  

ท่านนายกรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่าพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่ต้องการจะลดราคาพลังงาน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการพลังงานเช่นกัน การรับซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังทำอยู่นี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ค่าไฟแพงไม่ใช่ความบังเอิญ และไม่ใช่ผลจากการแข่งขัน แต่มาจากนโยบายรัฐ 20 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยให้นโยบายพลังงานสร้างกลุ่มทุนพลังงานที่รวยเป็นแสนล้านขึ้นในประเทศไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นมหาศาล รัฐออกนโยบายเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด ส่วนประชาชนต้องแบกรับผลกระทบในฐานะเป็นคนจ่ายค่าไฟ

วันนี้ ท่านมีอำนาจที่จะพิจารณาชะลอ หยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัตินี้ ผมหวังว่าท่านจะใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน

ขอแสดงความนับถือ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
28 ตุลาคม 2567“

นายกฯ โต้ ‘ธนาธร’ ปมรับซื้อไฟฟ้า ชี้ ‘พีระพันธ์’ ชี้แจงครบก่อนตั้งคำถาม

(29 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ เพราะมองว่าอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน ว่า 

รายละเอียดเรื่องนี้ทั้งหมด ตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อยู่ แต่เรื่องนี้ยังมาไม่ถึงคณะกรรมการ กพช. แต่ได้มีการสอบถามเรื่องนี้ไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้แล้ว 

ซึ่งก่อนที่นายธนาธร จะออกมาพูดเรื่องนี้ รองนายกฯ ได้ตอบกระทู้ในสภาฯ เรื่องนี้ไปแล้ว ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถหาข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างละเอียดเลย และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการ

เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทุกอย่างจะต้องโปร่งใสใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แน่นอนค่ะ เรื่องนี้จะต้องโปร่งใส

เมื่อถามต่อว่า ทุกคนอยากได้ยินคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีระบุว่า ยินดีค่ะ ถ้าอยากได้ได้ยินจากนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการ และต้องโปร่งใส ให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ และเข้าใจได้แน่นอน เพราะนั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top