‘ตรีรัตน์’ สวน ‘สส. พรรคส้ม’ ปมเบรกซื้อไฟฟ้าสีเขียว ชี้ ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง
‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส’ สวนพรรคประชาชน ชี้กรณีเบรกการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,200 mw และ 3,600 mw ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟถูกลง มีแต่ทำให้ค่าไฟแพง พร้อมแนะควรไปรื้อสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบเก่าที่มีค่า Adder ออกจากระบบดีกว่า
นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งปัจจุบันลาออกมาเป็นนักธุรกิจพลังงานสะอาด ได้โพสต์เฟซบุ๊ก และ X สวนนายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงประเด็นการเบรกการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff รอบ 5,200 เมกะวัตต์ และรอบเพิ่มเติม 3,600 เมกะวัตต์ ดังนี้
ผมได้เห็นข่าวที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าวขอให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรมว.พลังงาน เบรกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 mw ไม่งั้นคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี
ซึ่งด้วยความเคารพ ผมต้องขอเห็นต่าง และคิดว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่อาจคลาดต่อความเป็นจริงครับ
ซึ่งก่อนที่ผมชี้แจง 2 เรื่อง
1.) ผมขอเน้นย้ำก่อนว่าผมยืนในหลักการเดิมเสมอ คือการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีค่าไฟที่ถูกลง สมัยที่ผมทำงานการเมืองเคยต่อสู้เรื่องนี้อย่างไร ทุกวันนี้แม้ออกมาแล้ว ก็ยังต่อสู้เรื่องนี้อยู่เช่นเดิมครับ
2.) ผมต้องขอออกตัวว่าผม หรือบริษัทผม ไม่ได้เข้าร่วมประมูลขายไฟให้ภาครัฐ และไม่เคยร่วมประมูลการขายไฟให้ภาครัฐ และก็ไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งให้ผู้ชนะประมูลด้วย เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลของผม ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์ใด ๆ ของผมแน่นอนครับ มีแต่เพียงความหวังดี
ซึ่งในประเด็นไหนที่ผมเห็นว่าความเข้าใจของผู้แถลงอาจผิดพลาดจากความเป็นจริง ผมในฐานะคนประกอบอาชีพด้านพลังงานสะอาดอย่างสุจริต ก็อยากจะนำเสนอความจริงอีกด้านให้สังคมได้รับรู้ โดยมีจุดหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับ สส.พรรคประชาชน คือการหาทางออกให้ค่าไฟของประเทศไทยเราถูกลง
ผมขอเริ่มจากการฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน และต้นทุนขายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทดังนี้ :
1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.40 บาท/หน่วย
2. โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ (แม่เมาะ)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.32 บาท/หน่วย
3. โรงไฟฟ้าถ่านหิน (นำเข้า)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 2.01 บาท/หน่วย
4. โรงไฟฟ้าก๊าซ-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 3.24-4.06 บาท/หน่วย (รวมค่า AP)
5. โรงไฟฟ้าลม (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 8 บาท/หน่วย
6. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบมี adder)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 10-12 บาท/หน่วย
7. โรงไฟฟ้าโซลาร์ & ลม (หลัง adder หมด)-ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 4.5 บาท/หน่วย รวม FT
8. โรงไฟฟ้าโซลาร์ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ Nonfirm) -2.16 บาท/หน่วย
9. โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ แบบ Firm)-2.8 บาท/หน่วย
10. โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่น ๆ (ชีวมวล ขยะ)- 4-6 บาท/หน่วย
โดยราคาด้านบนเป็นราคาขายไฟหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมค่าสายส่ง 0.24 บาท/หน่วย และค่าสายจำหน่ายและการให้บริการของการไฟฟ้าส่วนจำหน่าย ซึ่งก็คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่ 0.51 บาท/หน่วย
กลับมาที่ประเด็นร้อน-การที่ กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบราคารับซื้อคงที่) 2.16 บาท/หน่วย และโรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ที่ 2.8 บาท/หน่วย เป็นการทำให้ค่าไฟประเทศไทยแพงไปอีก 25 ปีหรือไม่ ?
หากท่านได้ดูโครงสร้างที่ผมเขียน จะเห็นเลยว่าไม่จริงครับ เพราะวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้นอยู่ที่เกือบ 3.3 บาท/หน่วย โดยคละกันทั้งไฟฟ้าถูกและไฟฟ้าแพง
การที่เรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 2 บาทกว่า/หน่วย จะเป็นการทำให้ต้นทุนไฟฟ้าค่าเฉลี่ยของประเทศถูกลงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แพงขึ้นอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิด
ประเด็นที่ 2.) (ที่ไม่มีใครเคยกล่าวถึงเลย) คือในปี 2568-2577 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าพลังงานสะอาดอย่างมาก กำลังจะถูกปลดระวางออกจากระบบอีก 14,573 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าเอกชน 10,396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า กฟผ. 4,177 เมกะวัตต์
ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ จึงเป็นการเอาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหม่กว่าและถูกกว่าเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมันที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟถูกลงอีกเกือบ 1 บาท/หน่วย
ประเด็นที่ 3.) ราคารับซื้อไฟที่ 2.16 บาท/หน่วย มันเป็นราคาที่แพงหรือไม่ และราคาแผงโซลาร์มันมีแต่ลงจริงหรือไม่ ?
ผมต้องนำเรียนทั้งคุณศุภโชติ และนายพีระพันธุ์ ที่เบรกการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ ว่ามันไม่แพงเลยครับ
ผมในฐานะที่ทำธุรกิจรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ และขายไฟ (ให้เอกชน) บอกได้เลยว่าราคานี้ไม่ได้เป็นราคาที่แพงเลย เพราะผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทั้งที่ดิน ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินมากถึง 6 ไร่ และไหนจะเรื่องการดูแลระบบ การล้างแผงโซลาร์ การกำจัดหนู แมลงไม่ให้ไปกัดสายไฟ และการเดินระบบสายส่ง+ปักเสาไฟฟ้าไปจุดเชื่อมต่อของการไฟฟ้า ล้วนแต่มีต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ แผงโซลาร์ยังมีอัตราการเสื่อมของแผงอยู่ที่ 0.5% ต่อปีอีกด้วย เพราะฉะนั้น Factor เหล่านี้ มันต้องถูกนำไปคำนวณด้วยครับ
ค่าแผง Solar นั้นคิดเป็นเพียง 15% ของต้นทุนโครงการ Solar Farm เท่านั้น และยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ค่า O&M ค่าสายส่ง ค่าที่ดิน หรือค่าเช่าที่ดิน ที่เป็นราคาแปรผัน จึงไม่สามารถนำแค่ค่าแผงมาคิดเป็นต้นทุนได้
ราคาแผงโซลาร์เองก็ไม่ได้มีแต่ลงอย่างเดียว โปรดอย่าเข้าใจผิดว่ามันมีแต่ถูกลง อย่างช่วงไตรมาสนี้ ราคาแผงโซลาร์มีการปรับขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่สุดของโลกมีการเพิ่มภาษีส่งออก 5% ตั้งแต่ ธ.ค. 2567 ไม่รวมกับเรื่องของราคาที่แปรผันของ Wafer ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของแผงโซลาร์อีกด้วย
เพราะฉะนั้นแล้วผู้ที่จะเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดลอตใหม่ต้องเอาปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้มาคำนวณความเสี่ยง เพราะต้องยืนราคาขายไฟยาว 25 ปี ยังไม่นับการเปลี่ยนระบบอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ที่มีอายุใช้งานสั้นกว่าแผงโซลาร์อย่างมาก เพราะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 10 ปีครับ
ประเด็นที่ 4.) โอกาสของประเทศไทย
วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Data Center ที่มีความประสงค์อยากมาลงทุนในภูมิภาคเรา
ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องการมาลงทุนในประเทศที่สามารถส่งพลังงานสะอาดให้กับเขาได้เท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ได้เซ็นพันธสัญญาสู่ Net Zero Carbon เอาไว้ (ยกตัวอย่าง Amazon Web Service)
อนาคตของประเทศไทยจึงจำเป็นที่ต้องสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกให้เกิดขึ้นในอนาคต
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง คือการกำจัดโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง และโรงไฟฟ้าเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพออกจากระบบ
ผมอยากฝากเพื่อน สส.พรรคประชาชน รวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าเราจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าสะอาด (แบบเก่า) ที่มีค่า Adder และก็ได้คืนทุนไปนานโขแล้ว ปลดระวางออกจากระบบ
ซึ่งหากท่านจำได้ ผมเองเคยเอาสัญญามาเปิดให้พวกท่านดูแล้ว ว่าโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ นอกจากจะได้ค่าไฟสูงถึง 8-12 บาท/หน่วย ในช่วงมี Adder แล้ว หลังหมด Adder ก็ยังสามารถขายไฟฟ้าต่อไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีวันหมดอายุ ในราคาขายที่ 4.5 บาท/หน่วย ซึ่งแพงกว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ที่ 2.16 บาทกว่าเท่าตัว !
นี่เป็นเคราะห์กรรมหนักที่ประชาชนคนไทยต้องรับไว้ และรอคอยความหวังให้นักการเมืองที่มีความตั้งใจเข้ามาปลดสัญญาทาสเหล่านี้ ไม่ใช่การไปเบรกซื้อพลังงานสะอาดราคาถูกที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้า Fossil แบบเดิมครับ
