Monday, 28 April 2025
ไบโอดีเซล

‘นักเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ’ คว้ารางวัล ‘Dow Innovation Award’ จากผลงาน ‘ผลิตไบโอดีเซลจากขยะการเกษตร ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์’

(13 ก.ย. 67) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานความสามารถของเด็กไทย ในการผลิตไบโอดีเซลจากขยะทางการเกษตร ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต้านโลกร้อน และคว้ารางวัล Dow Innovation Award ได้สำเร็จ ระบุข้อความว่า…

“โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คว้ารางวัล Dow Innovation Award จากผลงานเรื่อง ‘การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการผลิตไบโอดีเซลจากการย่อยสลายและการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรโดยหนอนแมลงวันลาย’ รับทุนการศึกษา 30,000 บาท จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งสนับสนุนเด็กไทยในระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์…

“โดยได้คัดเลือกโครงงานที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อขจัดปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของสังคม ภายใต้การประกวด ‘Prime Minister’s Science Award 2024’ ซึ่งจัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัลให้กับนายภูดล ศรีรัตนา และนายปพนพัชร์ วิรุฬห์ไววุฒิ นักเรียนเจ้าของโครงการฯ พร้อมกับนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม ครูที่ปรึกษาโครงการฯ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี”

‘พีระพันธุ์ - เอกนัฏ - อรรถวิชช์’ ประสานมือช่วยเกษตรกร ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

(18 พ.ย. 67) ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569  พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา  และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน  โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันเบนซินมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100   เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินหลายเท่า 

แต่ปัจจุบัน  ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร  ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด  และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ  

ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ  1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3  นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20% 

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป

อินโดนีเซียเปิดตัวใช้ 'ไบโอดีเซล B40' สะท้อนชาติเบอร์หนึ่งผลิตปาล์มน้ำมัน

(20 ธ.ค.67) ยูลิออต ตันจุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียเริ่มผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล บี40 (B40) ที่ประกอบด้วยน้ำมันปาล์ม 40% และน้ำมันดีเซล 60% ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากกว่าปัจจุบันที่ใช้น้ำมันปาล์มเพียง 35% โดยไบโอดีเซล บี40 จะเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2025

ตันจุงกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซล บี40 ไว้ที่ 15.62 ล้านกิโลลิตรภายในปี 2025 และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 โดยหลังจากนั้นจะมีการพัฒนาไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มถึง 50% ต่อไปในอนาคต

ด้านเอเนีย ลิสเตียนี เดวี อธิบดีฝ่ายการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ ยืนยันว่า การผลิตไบโอดีเซล บี40 ได้เริ่มต้นแล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานทั้งในยานยนต์และการใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยานยนต์

แผนการเพิ่มการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานสะอาดได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากการผลิตน้ำมันปาล์มในปริมาณมากของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับน้ำมัน B40 ประกอบด้วยไบโอดีเซล 40% และดีเซล 60%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top