Friday, 17 May 2024
ไททานิค

เรือดำน้ำ Titan สูญหายระหว่างชมซาก ‘ไททานิค’ จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

ปฏิบัติการค้นหา ‘เรือดำน้ำ Titan’ หลังสูญหายระหว่างเที่ยวชมซาก ‘ไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

(20 มิ.ย. 66) ทีมค้นหาของสหรัฐฯ และแคนาดากำลังแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาเรือดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่หายไประหว่างการดำลงไปที่ ‘ซากเรือไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก BBC รายงานว่า ปฏิบัติการกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปในคืนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่จนถึงตอนนี้ (13.00 น.) ตามเวลาไทย ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

เรือลำที่สูญหาย คือ ‘เรือดำน้ำ Titan’ ของบริษัทเอกชน OceanGate Expeditions ข้อมูลเฉพาะระบุว่า สามารถดำได้ลึกลงไปถึง 4,000 เมตร มีการออกแบบให้มีอุปกรณ์ยังชีพ (life support) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสำหรับ 5 คน นาน 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน เจ้าหน้าที่คาดว่า มีออกซิเจนฉุกเฉินสำหรับคนบนเรืออยู่ที่ 70-96 ชั่วโมง

บริษัททัวร์ OceanGate กล่าวว่ากำลังสำรวจทางเลือกทั้งหมดเพื่อให้ลูกเรือกลับมาอย่างปลอดภัย และหน่วยงานรัฐบาลได้เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ นี่คือสิ่งที่เรารู้จนถึงตอนนี้ 

>> ความพยายามล่าสุดในการกู้ภัย

ผู้นำปฏิบัติการค้นหาระบุในทวิตเตอร์ว่า ลูกเรือ 5 คน จมอยู่ใต้น้ำในเช้าวันอาทิตย์ และลูกเรือขาดการติดต่อประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที หลังการดำลงของเรือ โดยคาดว่า เรือดำน้ำไททันอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กม.) ในขณะนั้น

พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การดำเนินการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ถือเป็นความท้าทาย

หน่วยยามฝั่งได้ส่งเครื่องบิน C-130 Hercules จำนวน 2 ลำเพื่อค้นหา โดยมีเครื่องบิน C-130 ของแคนาดาและเครื่องบิน P8 ที่ติดตั้งระบบโซนาร์ใต้น้ำเข้าร่วมด้วย

ขณะที่พลเรือตรีเมาเกอร์กล่าวว่า ต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเรือ หากพบเรือจมอยู่ใต้น้ำ และกำลังยื่นมือขอความช่วยเหลือ รวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐฯ

>> มีใครอยู่บนเรือ?
.
ตามรายงานระบุว่า ใน 5 คนที่อยู่บนเรือดำน้ำไททัน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยืนยัน คือ ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 59 ปี

นายฮาร์ดิงประกาศครั้งแรกว่าเข้าร่วมทีมเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และกล่าวว่า ลูกเรือประกอบด้วย นักสำรวจสองสามคน ซึ่งบางคนเคยดำน้ำในเรือ RMS Titanic มาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980

เขาเป็นประธานของ Action Aviation ซึ่งเป็นบริษัทระหว่างประเทศ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมการบินเชิงธุรกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

>> ลูกเรือชม Titanic ต้องจ่ายเท่าไร?

บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ คิดค่าใช้จ่ายเพื่อชมซากเรือไททานิค ซึ่งอยู่ใต้พื้นผิว 3,800 เมตร (12,500 ฟุต) ที่ด้านล่างของมหาสมุทรแอตแลนติก ทริป 8 วัน คนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8.7 ล้านบาท

มีรายงานว่าการดำลงไปที่ซากเรือทั้งหมดรวมถึงการลงและขึ้นนั้นใช้เวลา 8 ชั่วโมง การเดินทางแต่ละครั้งกินเวลา 8 วัน ตามข้อมูลของ โอเชียนเกต และการดำน้ำแต่ละครั้งมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการศึกษาการสลายตัวของซากเรือด้วย ซึ่งการดำน้ำครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2564 ตามเว็บไซต์ของบริษัท 

>> เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรือดำน้ำไททันบ้าง?

เรือไททันเป็นเรือดำน้ำขนาด 5 คน มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 13,100 ฟุต และมีอากาศสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นาน 96 ชั่วโมง

นอกจากการพาไปยังซากเรือไททานิคแล้ว ยังใช้สำหรับการสำรวจและตรวจสอบสถานที่ การวิจัยและการรวบรวมข้อมูล การผลิตภาพยนตร์และสื่อ และการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในทะเลลึก

จุดที่ดำลงไปอยู่ใต้ทะเลลึก 3,800 เมตร ใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ราว 600 กิโลเมตร เป็นจุดที่เรือไททานิคจมสู่ใต้ทะเล
 

‘เจมส์ คาเมรอน’ เฉลยปริศนา ที่คนทั้งโลกสงสัยมา 25 ปี ภายใต้การทดลอง ที่ทำให้ 'แจ็ค' ต้องตายแบบไม่คาใจ

ผ่านมาถึง 25 ปีแล้ว สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘ไททานิค’ สุดยอดผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่คนทั้งโลกไม่เคยลืม จาก เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับชื่อดัง 

เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้ดูหรือได้ย้อนกลับไปดูคงจะขัดใจไม่น้อยกับฉากเหตุการณ์ท้ายเรื่องที่ พระเอก แจ็ค ดอว์สัน (ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ) กับนางเอก โรส เดวิท บูเคเตอร์ (เคต วินสเล็ต) ลอยคออยู่ในทะเล แล้วก็เจอประตูไม้บานหนึ่ง โดย แจ็ค ดัน โรส ขึ้นไปก่อน เมื่อ โรส นอนบนประตูสำเร็จ แจ็ค ก็พยายามปีนตามขึ้นไป แต่ประตูเริ่มเอนเอียงและกระดกจน โรส เกือบตก แจ็ค เลยยอมอยู่ในน้ำ แต่ก็พยายามเกาะให้ตัวเหนือน้ำมากที่สุด แต่น่าเสียดายที่ไม่นานเขาก็แข็งตายต่อหน้าคนรัก

ฉากนี้ นำมาสูประเด็นถกเถียงจากแฟนภาพยนตร์ทั่วโลกที่ตั้งข้อสังเกตกันว่า หากช่วยกันให้ขึ้นไปอยู่บนบานประตูพร้อมกันทั้งสองคน ทั้ง แจ็ค และ โรส  อาจจะมีชีวิตรอดด้วยกันทั้งคู่ก็ได้

เชื่อว่า 'เจมส์ คาเมรอน' ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘ไททานิค’ ก็คงจะรับรู้ถึงสิ่งที่แฟนภาพยนตร์คาใจ

เพราะในที่สุดเขาและทีมงานก็ได้โพสต์คลิปจำลองเหตุการณ์ของหนังออกมาเป็นวิดีโอตัวอย่างสั้น ๆ ความยาว 58 วินาที เพื่ออธิบายถึงโอกาสในการรอดชีวิตของ แจ็ค ที่ถูกหลายคนตั้งคำถาม ซึ่งโดยสรุปก็คือ เจมส์ คาเมรอน พยายามอธิบายว่า ยังไง แจ็ค ดอว์สัน ก็ไม่มีทางรอดชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ (ตามบท)

โดยในห้องส่งของช่อง National Geographic ที่ถ่ายทำถ่ายทอดเหตุการณ์จำลองโดยให้นักแสดงชายหญิงสองคนแต่งตัวคล้ายกับ แจ็ค – โรส พวกเขานั้นมีส่วนสูงและน้ำหนักใกล้เคียงตัวละคร นักแสดงสองคนถูกจับแช่ในสระน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นเฉียบเท่าๆ กับทะเลในภาพยนตร์เรื่องไททานิค ซึ่งสิ่งที่เห็นคือ นักแสดงชายหญิงสองคนมีอาการหนาวสั่น และแทบไม่มีเรี่ยวแรง

เจมส์ คาเมรอน กล่าวอีกด้วยว่า ก่อนที่จะลงในมหาสมุทร แจ็ค เหนื่อยกับทั้งการวิ่งและการต่อสู้บนเรือมาประมาณหนึ่งแล้ว การลงไปในน้ำทะเลที่มีความหนาวระดับติดลบ แล้วต้องว่ายน้ำที่รอบข้างเต็มไปด้วยนํ้าแข็ง ถือเป็นเรื่องเสี่ยงตายมาก ส่วน โรส มีโอกาสรอดมากกว่าเพราะเธอมีเสื้อชูชีพ ไม่ต้องเปลืองแรงว่ายนํ้า

นอกจากนี้ยังมีการจำลองว่า ถ้า แจ็ค กับ โรส ขึ้นไปอยู่บนบานประตูพร้อมกันจะเป็นอย่างไร ซึ่งผลก็คือประตูรับนํ้าหนักไม่ไหว และค่อยๆ จมลง ข้อถกเถียงเรื่อง ประตูใหญ่พอสำหรับสองคน จึงถูกปัดตกไปทันที เพราะถึงแม้ประตูจะกว้างก็จริง แต่รับน้ำหนักมากไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การสลับกันขึ้นไปอยู่บนบานประตู ก็เสี่ยงที่จะทำให้ประตูพลิก หรือทั้งคู่อาจจะหมดแรงในการปีนขึ้นบานประตูไป เนื่องจากในคลิปดังกล่าว แค่นักแสดงชายช่วยนักแสดงหญิงให้ขึ้นไปอยู่บนบานประตูก็ยากเย็นและมีความทุลักทุเลพอสมควร อีกทั้งการอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นแล้วสลับไปอยู่ในน้ำที่เย็นเฉียบ (-2.2 องศาเซลเซียส) อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนช็อกได้

ดังนั้นเมื่อ โรส ขึ้นไปนอนบนบานประตูได้ และแจ็คเกาะประตูไว้ คือวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการรักษาชีวิต มันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองคนได้ใช้พลังงานไปหมดแล้ว แทบจะไม่สามารถขยับตัวได้อีก ท่ามกลางสภาพอากาศเย็นเฉียบ ซึ่งอันที่จริงแล้ว การรอดชีวิตของ โรส ก็นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์อย่างมากด้วย

แน่นอนว่าเมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็มีกระแสตอบรับที่ดีมาก ตัววิดีโอมียอดการรับชมมากกว่า 10 ล้านวิว และมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก 

แฟนๆ THE STATES TIMES มีความคิดเห็นกันอย่างไรกันบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหากตัดประเด็นฉากจบทิ้งไป พวกคุณชอบฉากไหนในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษ หรือประโยคเด็ดในเรื่องที่คุณยังประทับใจไม่ลืม สามารถเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นข้างล่างนี้

แต่ส่วนตัวแล้ว ชื่นชอบช่วงนี้ “I figure life’s giff and I don’t intend on wasting it.”

“ชีวิตก็คือ ของขวัญ ผมไม่ต้องการเสียมันไปเปล่า ๆ”

(แจ็คกล่าวกับบรรดาผู้สูงศักดิ์ ในงานเลี้ยงที่ชั้นหนึ่งของเรือไททานิค)

‘เรือดำน้ำไททัน’ ระเบิด โศกนาฏกรรมใต้พื้นมหาสมุทรที่โลกต้องจดจำ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งโลก ภายหลังจาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) หรือ เรือดำน้ำนำเที่ยวขนาดเล็ก เพื่อพาลูกเรือทัวร์ชมซากของ ‘เรือไททานิก’ ขาดการติดต่อและสูญหายไป หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้ไม่นาน จนนำไปสู่ปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ และไม่กี่วันต่อมา หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า พบซากชิ้นส่วนของเรือไททัน โดยคาดว่าเกิดการระเบิด เนื่องจากแรงดันน้ำมหาศาลใต้มหาสมุทร

สำหรับ ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการทัวร์ชมซาก ‘เรือไททานิก’ ของ บริษัท โอเชียนเกต (Oceangate) โครงสร้างมีลักษณะคล้ายท่อเหล็กขนาดใหญ่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว Innerspace 1002 Electric Thrusters รองรับภารกิจต่อเนื่อง 96 ชั่วโมง พร้อมดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร

ซึ่งราคาค่าตั๋วเดินทางของลูกค้าที่ต้องการทัวร์ชมซากเรือไททานิก อยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท โดยใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ทั้งหมด 8 วัน โดย ‘เรือวิจัยโพลาร์พรินซ์’ (Polar Prince) จะขนเรือดำน้ำไททันไปยังกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มต้นจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟาวด์แลนด์ แคนาดา เดินทางระยะทาง 700 กิโลเมตรไปยังซากเรือไททานิก โดยออกเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2023 พร้อมผู้โดยสาร 5 คน (รวมพลขับ) ได้แก่

-ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 58 ปี
-ชาห์ซาดา ดาวู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี
-สุเลมาน ดาวู้ด ลูกชายของชาห์ซาดา วัย 19 ปี
-พอล-อองรี นาร์โจเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี ฉายา ‘Mr.Titanic’
-สต็อกตัน รัช ผู้บริหารของโอเชียนเกต วัย 61 ปี

แต่หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้เพียง 90 นาที โดยใช้ความเร็ว 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลงสู่ความลึก 3,800 เมตร ไททันได้ขาดการติดต่อกับเรือแม่ ทั้งที่โดยปกติแล้วไททันจะต้องติดต่อกับเรือแม่ซึ่งเป็นสถานีควบคุมบนผิวน้ำทุก 15 นาที และไททันก็ไม่ได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำตามเวลาที่กำหนดไว้คือ 16.30 น. และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ ‘เรือดำน้ำสาบสูญใต้ทะเล’ โดยหน่วยเรือยามฝั่งของสหรัฐฯ ได้รับแจ้งเหตุ ก่อนที่ปฏิบัติการค้นหากู้ภัยจะเริ่มต้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บัดนั้น

แต่สุดท้ายปฏิบัติการค้นหากู้ภัยเรือดำน้ำไททันประสบความล้มเหลว โดยมีรายงานว่า เรือค้นหาได้ยินเสียงระเบิดจากใต้น้ำ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่เรือไททันถูกบีบอัดด้วยแรงกดของน้ำทะเล เนื่องจากเรือลงไปยังความลึกที่เกินกว่าความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือจะทนทานได้ ต่อมา ได้มีการส่งยานสำรวจไร้คนขับลงไปตรวจสอบ สิ่งที่พบก็คือ ‘เศษซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน’ อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ลูกเรือทั้ง 5 คนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ของเรือดำน้ำไททันก็ถูกเปิดโปงออกมาเป็นระยะ ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือหรือเปลือกเรือ ซึ่งมีความสำคัญที่สุด เพราะจะต้องรับแรงกดของน้ำเมื่อลงสู่ความลึก เป็นวัสดุที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบอย่างจริงจัง

ข้อบกพร่องของเรือดำน้ำไททันที่เคยถูกตรวจพบและได้รับการทักท้วง แต่ไม่ถูกแก้ไขใด ๆ ได้กลายเป็นตราบาปของโศกนาฏกรรม ตอกย้ำให้เห็นถึงความดื้อดึงของผู้มีอำนาจ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าที่จะยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ จนนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีอะไรสามารถย้อนคืนกลับมาได้อีก

แม้เศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันจะถูกกู้ขึ้นมาได้แล้วบางส่วน แต่จิตวิญญาณของเรือไททัน และลูกเรือทั้ง 5 คน ได้ดำดิ่งลงสู่ห้วงมหาสมุทรแอตแลนติก และคงจะอยู่เคียงข้างซากเรือไททานิกตลอดไป

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘ไททานิค’ เรือที่ไม่มีวันจม ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ ก่อนชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งจนอับปางในอีก 5 วันต่อมา

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ ‘ผู้หญิงและเด็กก่อน’ ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา

15 เมษายน พ.ศ. 2455 โศกนาฏกรรมสุดเศร้า ‘ไททานิค’ จมดิ่งสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต-สูญหายจำนวนมาก

เรือที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ในเวลานั้น เดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร มุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะจมดิ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) เป็นเรือโดยสารเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การจมของไททานิค เป็น 1 ใน 3 เรือโดยสารชั้นโอลิมปิก ซึ่งดำเนินการโดยไวต์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2452-2454 เป็นเรือที่ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายและความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคารชั้นสูงและห้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สายทรงพลังซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร 

ก่อนที่ไททานิคจะออกเดินทาง ได้เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณส่วนเก็บถ่านหินที่ บล็อก 5 และ 6 และไฟยังไหม้ต่อเนื่องตลอดการเดินทาง ส่งผลให้ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ก่อนถึงห้องเครื่อง และ ส่วนที่เก็บถ่านหินนั้นร้อนมากจนผนังกั้นนํ้าร้อนจนแดง และตัวเหล็กของผนังกั้นนํ้าบิด งอ ลดการทนทานนํ้าลง

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2455 เมื่อเดินทางห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค เกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แผ่นลำเรือเกิดความเสียหาย จนนํ้าทะลักเข้าไปในเรือ และเนื่องจากผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ส่งผลให้นํ้าทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ จนกระทั่งเรือจมลงสู่ก้นมหาสมุทรในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่สูญเสียเป็นอย่างมาก สมาชิกลูกเรือและผู้โดยสารมากมายต้องเสียชีวิตและสูญหาย นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลที่มีผู้เสียชีวิตมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top