ย้อนภารกิจปิดทองหลังพระ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ วีรบุรุษผู้ปิดฉากมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ตัวจริง
(6 มิ.ย. 67) ‘โฮปเวลล์’ เป็นโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2533 สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และ มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โครงการนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ’ โดยรูปแบบโครงการเป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศประกอบด้วย โครงสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ (Grade Crossing) เพื่อลดปัญหาการใช้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟที่มีอยู่ ในระยะทางรวม 60.1 ก.ม.
‘โฮปเวลล์’ มาจากชื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงของ ‘กอร์ดอนวู’ ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอสัมปทานเพียงรายเดียว รัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญากับโฮปเวลล์เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคู่สัญญา สิ่งที่โฮปเวลล์ได้รับคือสัมปทานเดินรถและเก็บค่าผ่านทางพร้อมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองข้างทางเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ระยะยาว 30 ปี โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐบาล 53,810 ล้านบาท
โครงการ ‘โฮปเวลล์’ ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์คือออกแบบไปและก่อสร้างไปด้วยพร้อมกัน โดยการรถไฟฯ สนับสนุนด้านการประสานกับหน่วยงานรัฐจัดหาพื้นที่ก่อสร้างและพัฒนา ส่วนโฮปเวลล์จะออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง จัดหาเงินทุนโครงการ 6,000 ล้านบาท วางแผนการเงินจ่ายค่าตอบแทนรายปีและผลกำไรให้การรถไฟฯ ตลอดแนวเส้นทาง 60.1 ก.ม. ถูกตัดแบ่งการก่อสร้าง 5 ระยะ ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง 18.8 ก.ม. ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และมักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา 18.5 ก.ม. ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต 7 ก.ม. ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และยมราช-บางกอกน้อย 6.7 ก.ม. และช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธิ์นิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย 9.1 ก.ม.
แต่การก่อสร้างตามโครงการฯ เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ กอปรกับเศรษฐกิจของไทยในระยะนั้นไม่เติบโตเหมือนในช่วงแรกของรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง ปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล ซ้ำร้าย พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้บริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี และมีความคืบหน้าเพียง 13.77 % ขณะที่ตามแผนงานกำหนดไว้ว่าควรจะมีความคืบหน้า 89.75% กระทรวงคมนาคมจึงได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ (ชวน 2) เป็นนายกรัฐมนตรี และ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี ‘สราวุธ ธรรมศิริ’ เป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ
อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ เมื่อ ‘โฮปเวลล์’ ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เพื่อฟ้องกลับและเรียกร้องค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วย นายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด ในฐานะตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนจากโฮปเวลล์ฯ และนายถวิล อินทรักษา อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัทฯ
ต่อมา เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาล ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ซึ่งมี ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มีคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการให้คมนาคมจ่ายค่าชดเชยให้โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญายังไม่จบ มีการนำคดีขึ้นศาลปกครองกลางเพื่อให้ศาลชี้ขาด ต่อมา 13 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2 ฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาด ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ ขณะที่ ‘โฮปเวลล์’ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดจนมามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2566 ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยให้โฮปเวลล์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
แต่กลางปี พ.ศ. 2562 ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มอบหมายให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ได้เข้าไปทำการ สะสาง ตรวจสอบ ตรวจทาน และเรียบเรียงเอกสารต่างๆ ที่หมักหมมมานานกว่าสามสิบปี เปลี่ยนมาหลายรัฐบาล จนขึ้นใจทุกขั้นตอน ซึ่งเรื่องนี้เอาจริงๆ แล้ว ต้องมีคนรับผิดอีกหลายคน ด้วยความร่วมมือของ ‘สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ (ยิ้ม) เจ้าหน้าที่อนาบาล (นิติกร) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ที่อุทิศตน เสียสละ และทุ่มเท ในการรวบรวม อ่าน และเตรียมการข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าไว้หมดเมื่อนานมาแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ และทีมงานซึ่งทำภารกิจนี้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่
จนสามารถสรุปข้อเท็จจริงแล้วนำเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดได้ว่า เนื่องจาก ‘โฮปเวลล์’ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ‘โฮปเวลล์’ ถึงได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะฟ้องร้องคดีจนถึงศาลปกครองในเวลาต่อมา ตามกฎหมายแล้วการจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตฯ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำภายใน ‘5 ปี’ นับแต่วันที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา แต่ ‘โฮปเวลล์’ กลับยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้นำคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ไว้พิจารณา และที่สุดเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดใช้คดีโฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้พิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการปิดฉากมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ที่ยาวนานกว่า 33 ปีได้สำเร็จในที่สุด
