Tuesday, 22 April 2025
โรงพยาบาลรามาธิบดี

‘มูลนิธิรามาธิบดี’ ระดมทุนสร้างอาคาร ‘โรงพยาบาลรามาธิบดี-ย่านนวัตกรรมโยธี’ เพิ่มศักยภาพ การให้บริการมาตรฐานสูง รองรับสถานการณ์โรคภัยในอนาคต

(20 ก.ค.67) มูลนิธิรามาธิบดี ขอเชิญร่วมเช่าบูชา (ลดหย่อนภาษี 2 เท่า) พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เพื่อระดมทุนสร้างอาคารโรงพยาบาลใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เปิดให้บริการทางการแพทย์และเป็นสถานบ่มเพาะบุคลากรด้านการแพทย์ในฐานะโรงเรียนแพทย์เป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 50 ปี แต่เนื่องด้วยอาคารเดิมของคณะฯ ที่เปิดให้บริการมานาน จึงมีสภาพทรุดโทรมและแออัด โครงสร้างเดิมของอาคารและระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพและมีข้อจำกัดด้านการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริการทางการแพทย์ต่อผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการทุกอาคาร ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 2.4 ล้านคน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ริเริ่ม 'โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี' โดยวางเป้าหมายเน้นการเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้มีมาตรฐานทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคในปัจจุบัน และในอนาคต โดยฉพาะอย่างยิ่งการเป็นต้นแบบของการรักษาโรคที่ซับซ้อน อาคารแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพของอาคารเดิม แต่มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งให้ความสำคัญกับแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการสหสาขาวิชาชีพของทุกภาควิชา และการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด 'เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน' เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้เข้าสู่ระดับสากล แข่งขันได้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ด้วยแนวคิดพัฒนาการบริการและนวัตกรรมทางการแพทย์สู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร “ย่านนวัตกรรมโยธี (Yothi Medical Innovation District) หรือ YMID” เชื่อมโยงสถาบันทางการแพทย์เป็นเครือข่ายเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ สูง 25 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม ขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า* การออกแบบและก่อสร้างให้ความสำคัญอย่างมากกับการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด 'เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน' เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด มีหัวใจหลักในการให้บริการ 3 ส่วน ได้แก่...

1. การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Public Service) สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยใน 55,000 รายต่อปี ประกอบด้วย แผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกกระดูกและข้อ แผนกกุมารเวชศาสตร์ แผนกหูคอจมูก แผนกสูตินารีเวช แผนกรังสีวิทยา ศูนย์มะเร็งวิทยาครบวงจร หน่วยเวชระเบียน แผนกพยาธิวิทยา แผนกผ่าตัด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤต รวมประมาณ 1,000 เตียง (เตียงในห้องรวม ห้องเดี่ยว ห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ห้องความดันลบ และห้องผู้ป่วยวิกฤต) ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์สามัญเหมือนอาคารเดิม แต่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ศักยภาพและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้านการบริการทางการแพทย์ อาทิ...

- ห้องพักผู้ป่วยใน จำนวน 826 เตียง แบ่งเป็น ห้องเดี่ยวสามัญ 185 เตียง ห้องรวม 621 เตียง โดยมีจำนวนเตียงสูงสุดเพียง 4 เตียง ไม่มีห้องรวมสิบหรือยี่สิบเตียง ทำให้ผู้ป่วย มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่แออัด มีหน้าต่างขนาดใหญ่ทำให้ได้รับแสงจากภายนอกได้อย่างเพียงพอ ทำให้ไม่หดหู่ และสามารถควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดีขึ้น และมีห้องพักเดี่ยวพิเศษ 20 เตียง

- ห้อง ICU เดิมมีประมาณ 100 เตียง ได้ปรับเป็น ICU ห้องเดี่ยวทั้งหมดจำนวนประมาณ 240 เตียง สืบเนื่องจากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานขึ้น โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถมองเห็นด้านนอก ตามคอนเซ็ปต์ Healing Environment ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจช่วยกระตุ้นให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

- ห้องผ่าตัด (OR) เดิมมี 44 ห้อง ได้เพิ่มเป็นประมาณ 50 ห้อง ด้วยพื้นที่มาตรฐานเน้นการบูรณาการผ่าตัดรองรับโรคซับซ้อน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่รามาธิบดีมีความเชี่ยวชาญ เน้นการผ่าตัดที่ทุกภาควิชาใช้เครื่องมือร่วมกัน (Shared Facility) เช่น...

>> OR Hybrid มี 2 ห้อง Vascular (หลอดเลือด) และ Neuro (เส้นประสาท)
>> Robotic Surgery (การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด) ดูแลการผ่าตัดศัลยกรรม สูตินรีเวช และหูคอจมูก (ENT)
>> Day Procedure Center ศูนย์การผ่าตัดแบบไม่นอนโรงพยาบาล รองรับแนวโน้มการบริการทางด้านสุขภาพในอนาคตที่เน้น Home Therapy เพิ่มมากขึ้น เช่น แผนกตา กระดูก สูติ หูคอจมูก

- ห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) มีห้องผ่าตัดเฉพาะทาง และห้อง CCU สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ

- หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) มี 4 ชั้น จำนวนห้องตรวจรวมประมาณ 325 ห้อง ด้วยคอนเซ็ปต์ที่นึกถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงพัฒนาจุดบริการ One Day Service สำหรับผู้ป่วยก่อนผ่าตัด จัดโซนพื้นที่ให้บริการรูปแบบใหม่

>> Imaging Center รวมเครื่อง X-ray, , Ultrasound, CT scan, MRI ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจ
>> Patient Operation Center รวมศูนย์การให้บริการผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดที่ต้องพบกับแพทย์หลายด้าน เช่น วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ แพทย์เฉพาะทาง เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดการเคลื่อนที่ของผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลา
>> Intervention Center ศูนย์การให้บริการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การสวนขยายหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดส่วนอื่นๆ การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นต้น

อีกหนึ่งจุดเด่นคือ มีจุดรับส่งผู้ป่วยที่ยาวมากถึง 140 เมตร ตอบโจทย์การคิดถึงใจผู้ป่วยที่อยากถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด มีทางเชื่อม Skywalk เข้าอาคารชั้นสอง เชื่อมต่อกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์และสะพานลอย ซึ่งในอนาคตมีแผนเชื่อมกับรถไฟฟ้าที่จะมาถึงด้วย

2. การเรียนการสอนบุคลากรการแพทย์ (Education) ทุกตารางนิ้วของโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนขนาดใหญ่ที่บ่มเพาะผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผลิตนักศึกษา จำนวน 950 คนต่อปี ให้พร้อมด้วยความรู้ และความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยต่อไปในอนาคต โดยมีการจัดพื้นที่ให้มีการศึกษา พูดคุยระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนอย่างเหมาะสมกลมกลืนกับการปฏิบัติงาน และยังเตรียมพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องตรากตรำทำงานจนเกือบต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคารแห่งนี้ เช่น จัดพื้นที่ห้องทำงานแบบ Co-Working Space ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหารและห้องพักสำหรับผู้อยู่เวรอย่างเหมาะสมเพียงพอ

3. การวิจัย (Research) โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยทุกระดับชั้น ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้และเชี่ยวชาญระดับสูงให้มีศักยภาพสูงเพื่อดูแลสุขภาพของประชากรไทย ตลอดจนการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) เพื่อนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ ชีวการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว จึงได้จัดสรรพื้นที่แห่งการวิจัย ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER), Co- Working Space, Clinical Research Center เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าโครงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมก่อสร้าง โดยทางภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังขาดงบในส่วนค่าก่อสร้างอาคารอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่าสูงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้การบริการในการรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ซึ่งขาดงบประมาณอีกกว่า 3,000 ล้านบาท 

ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมผ่านการให้บริการทางการแพทย์ในคลินิกต่าง ๆ และการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

***หมายเหตุ: อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ อาคารสูง 9 ชั้น เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน พื้นที่ใช้สอย 94,584 ตารางเมตร โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์  อาคารสูง 7 ชั้น เนื้อที่ 319 ไร่ 1 งาน พื้นที่ใช้สอย 218,825 ตารางเมตร

ติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.ramafoundation.or.th/ramagoldenbuddha?ldtag_cl=hrpQO6xyR8W56ZUd0uGpOAAA_oa

รพ. รามาฯ แจง ไม่พบรังสีรั่วไหลจากเหตุเพลิงไหม้ อพยพผู้ป่วยครบ 191 ราย พร้อมงดให้บริการในอาคารหลัก 48 ชม.

รพ.รามาฯ ออกประกาศฉบับที่ 2 หลังเหตุเพลิงไหม้และกลุ่มควัน บริเวณอาคารหลัก (อาคาร 1) ย้ำไม่พบการรั่วไหลของรังสี อพยพย้ายผู้ป่วยไปยังจุดปลอดภัย ครบถ้วน 191 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดเขม่าควัน 1 ราย

จากกรณีที่มีกลุ่มควันและเพลิงไหม้เกิดขึ้นที่ อาคารหลัก (อาคาร 1) ของโรงพยาบาครามาธิบดี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 และทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจง ออกประกาศฉบับที่ 1 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ (12 มี.ค. 68) ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการอพยพย้ายผู้ป่วยไปยังจุดปลอดภัย จำนวนครบถ้วน 191 ราย โดยเป็นการอพยพย้ายภายในโรงพยาบาล

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสุดเขม่าควันจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นบุคลากรที่เข้าไปช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวได้รับการดูแลอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

ผลกระทบดังกล่าว ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับผลกระทบในการให้บริการด้านรังสีวิทยาและพยาธิวิทยา ฝั่งอาคารหลัก (อาคาร 1) โดยเบื้องต้นการให้บริการด้านรังสีวิทยาและพยาธิวิทยาบางส่วนต้องข้ายไปให้บริการที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ จากข้อกังวลเรื่องรังสีรั่วไหล ทางทีมวิศวกรรมได้ตรวจสอบแล้วไม่พบการรั่วไหลซองรังสี

สำหรับด้านการให้บริการทางพยาธิวิทยา ได้แก่ การบริจาคโลหิต ในขณะนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลขอขอบคุณผู้ที่ประสงค์จะบริจาคแต่เนื่องจากหน่วยคลังเลือดมีพื้นที่ในการรับบริจาคโลหิตอย่างจำกัด อาจจะไม่ได้รับความสะดวก

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการหน่วยต่าง ๆ ภายในอาคารหลัก (อาคาร 1) ชั้น 1 - 9 ฝั่งใต้ ยังคงปิดให้บริการเพื่อทำการระบายกลิ่นและกลุ่มกวันออกจากอาการอย่างต่อเนื่องทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการลดจำนวนผู้ป่วยการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ในเร่งด่วนออกไป ภายใน 1 2 วัน โดยหากสามารถดำเนินการได้ปกติจะมีการประกาศต่อไปต้องขอขอบคุณความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบรรเทาสาธารณภัยกำลังจากตำรวจทหารที่เข้ามาช่วยเหลือรวมทั้งสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงที่พร้อมจะรับผู้ป่วยไปดูแลต่อและต้องขอบคุณบุคลากรของคณะฯทุกท่านที่ได้เซ้ามาช่วยเหลือกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยทุกคนบุคลากรทุกท่านทำงานอย่างมืออาชีพตามแผนที่ได้ซ้อมไว้และยังช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนสามารถกลับมาดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกประกาศฉบับที่ 1 แจงเหตุกลุ่มควันและเพลิงไหม้ที่อาคาร 1 เมื่อคืน (วันที่ 11 มีนาคม 2568) จนต้องเร่งอพยพผู้ป่วย เผยปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยของโรงพยาบาลได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ งดให้บริการภายในอาคาร 1 ทั้งหมด เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

ขณะที่ประกาศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 1 พบเหตุกลุ่มควันและเพลิงไหม้ที่อาคารหลัก (อาคาร 1) โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยระบุว่า เนื่องด้วยในวันที่ 11 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 19.20 น. พบเหตุกลุ่มควันและเพลิงไหม้ที่อาคารหลัก (อาคาร 1) โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้แจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อเข้ามาระงับเหตุ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยและประชาชนที่รับการรักษาอยู่ภายในอาคารหลักออกนอกพื้นที่ในทันทีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยเข้าระงับเหตุ

โดยปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วเบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

ในระยะแรก โรงพยาบาลรามาธิบดีจะของดให้บริการภายในอาคารหลัก (อาคาร 1) ทั้งหมด ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก รวมทั้งงดการผ่าตัด เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายในอาคารและของดให้บริการผู้ป่วยใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน สำหรับงานเวชระเบียน การบริจาคโลหิตและจุดเจาะเลือดขอให้ใช้บริการที่อาคาร สมเด็จพระเทพรัตน์แทน ส่วนอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เบื้องต้นเปิดให้บริการตามปกติ หากมีความคืบหน้าทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจะแจ้งให้ทราบต่อไป หรือหากท่านมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถสอบถามข้อมูลการให้บริการในระหว่างนี้ได้ที่Call Center 0-2201-1000 IIล: 0-2200-3000


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top