Tuesday, 2 July 2024
โรงงานพลุ

‘รมว.ปุ้ย’ เสียใจ เหตุระเบิดโรงงานพลุ จ.สุพรรณบุรี ลั่น!! แม้ไม่ใช่โรงงาน แต่ก็สั่งดูแลความปลอดภัยรอบด้าน

(18 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ระเบิดสถานประกอบการผลิตพลุ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

และได้สั่งกำชับหน่วยงานในสังกัด อก. ในการป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยและอัคคีภัยจากสถานประกอบการและเหมืองแร่ อก. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบกิจการรายนี้มีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง ซึ่งเป็นการออกให้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยสถานประกอบการดังกล่าวมีเป็นการผลิต ประกอบประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุ โดยวัตถุดิบที่ใช้ประกอบ ได้แก่ ถ่านดินปืน ซึ่งบด ผสม มาจากที่อื่น และมีโพแทสเซียมคลอเรต (POTASSIUM CHLORATE) ที่เป็นสารประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในการควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มีคนงานในการประกอบกิจการทั้งหมด ประมาณ 30 คน ไม่มีเครื่องจักรในการประกอบกิจการ จึงไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการเป็นโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

“แม้การประกอบกิจการดังกล่าว จะไม่เป็นโรงงานตามกฎหมายโรงงาน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานบูรณาการกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม และไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้อีก โดยกระทรวงฯ จะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเหมาะสมต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อก. แจ้งเตือนและกำชับทุกสถานประกอบกิจการและเหมืองแร่ให้ระมัดระวังการประกอบกิจการในทุกขั้นตอน รวมถึงบริเวณที่มีการผลิต การจัดเก็บวัตถุดิบ สารเคมีและผลิตภัณฑ์ ต้องไม่มีแหล่งกำเนิดประกายไฟ หรืออยู่ใกล้กับเชื้อเพลิงและสารไวไฟทุกชนิด รวมถึงกำชับพนักงานให้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานอย่างปลอดภัยและเคร่งครัด ก่อให้เกิดประกายไฟขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการ ตลอดจนประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และ อก. ได้จัดทำข้อปฏิบัติฯ และคู่มือความปลอดภัยด้านต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) http://www.diw.go.th 

'กมธ.อุตฯ' เรียกสอบหน่วยงาน แก้ไขกฎขออนุญาตตั้งโรงงาน หลัง 'โรงงานพลุ-คลังเก็บดอกไม้ไฟ' ระเบิดถี่ขึ้นในช่วงหลัง

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดใน จ.สุพรรณบุรีว่า ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี ประเทศไทยเรามีเหตุการณ์จากโรงงานพลุระเบิดและโรงงานเก็บดอกไม้ไฟระเบิดมาหลายครั้งมากและเกิดถี่ขึ้นในช่วงหลัง ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตพลุดอกไม้ไฟทั่วประเทศเสียใหม่

ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เดิมที พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ว่า เครื่องจักรที่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือมีคนงานน้อยกว่า 50 คนไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงแม้จะเรียกว่าโรงงาน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจากอยู่นอกเหนือกฎหมาย แต่หลังจากเกิดเหตุโรงงานพลุดอกไม้ไฟระเบิดอยู่บ่อยครั้งได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสังคายนากฎระเบียบนี้เสียใหม่

นายอัครเดช กล่าวว่า จากนี้ไปจะต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ออกใบอนุญาตมาประชุมหารือว่าถึงเวลาจะต้องแก้ไขระเบียบใหม่หรือยังเพื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามตรวจสอบโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้แรงงานในโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ รวมถึงบ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ

ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ และสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งกมธ.อุตสาหกรรมจะรับเรื่องนี้มาพิจารณาเพื่อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป เราจะปล่อยให้เกิดเหตการณ์ระเบิดในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้

‘นายกฯ’ เตรียมหารือ ‘รมว.อุตฯ’ แก้กฎหมาย เพิ่มความเข้มงวด โรงงานพลุขนาดใหญ่

(19 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี ว่า เรื่องการเยียวยาอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ระหว่างนี้ต้องไปดูเรื่องผู้เสียชีวิตที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เพื่อคืนศพให้ญาติพี่น้อง ได้รับรายงานว่าสามารถพิสูจน์ได้แล้ว 15 ราย และทยอยคืนศพแล้ง เรื่องระยะสั้นคงเป็นเรื่องนี้ก่อน 

ส่วนเรื่องที่ต้องแก้ไขข้อกฎหมาย ต้องดูแลให้ดี เพราะมีโรงงานเหล่านี้อยู่จำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปจัดการให้ดี ส่วนมาตรฐานของโรงงาน หวังว่าจะกำกับดูแลที่ดีและถูกต้อง เข้าใจว่าโรงงานพลุแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งต้องดูว่ากฎหมายอะไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจเรื่อง Public Safety

เมื่อถามว่าควรให้โรงงานผลิตพลุอยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่? นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มันมีกฎที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ที่ถามมาว่าทำไมถึงไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม เพราะโรงงานนี้มีขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องพูดคุยกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะขยายหรือไม่ เพราะโรงงานที่อันตรายต้องถูกควบคุมให้ใกล้ชิดมากขึ้น อาจจะต้องจำกัดประเภทธุรกิจและสินค้า แม้ว่าขนาดไม่ใหญ่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ความหายนะสูงก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลให้มากขึ้น” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top