Tuesday, 22 April 2025
โรคหัวใจ

29 กันยายน ตรงกับ ‘วันหัวใจโลก’ หวังให้คนตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ

วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันหัวใจโลก’ จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ

วันหัวใจโลก (World Heart Day) ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ เนื่องจากสถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรโลก จึงควรรณรงค์ให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกัน 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จึงร่วมรณรงค์ให้ทุกคนดูแลหัวใจตนเองให้แข็งแรง

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะสำคัญ ที่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจละเลยไป คือการดูแลรักษามัน ขณะเดียวกันมีกิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันที่เป็นการทำร้ายหัวใจโดยที่ไม่ได้คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารแบบผิด ๆ การไม่ออกกำลังกาย หรือการคิดมากจนทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น

สลด!! นักศึกษาแพทย์สาวจีนเป็นโรคหัวใจ ถูกบังคับให้ออกกำลังกาย สุดท้ายหัวใจวายตาย เพราะอาจารย์ไม่เชื่อเอกสารรับรองอาการ

เรื่องราวน่าเศร้าเกิดขึ้น เมื่อครอบครัวและญาตินักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยการแพทย์ไป๋เฉิง ในมณฑลจี๋หลิน เปิดเผยว่า หลานสาวของพวกเขาเสียชีวิต หลังถูกอาจารย์ที่ปรึกษาบังคับให้ออกกำลังกาย แม้รู้ว่ามีโรคประจำตัว

โดยนักศึกษาสาวแซ่จ้าว ป่วยเป็น ‘โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด’ (Congenital Heart Disease) ซึ่งเธอได้ส่งเอกสารทางการแพทย์ ยืนยันว่าเธอป่วยจริง ๆ ให้ทางวิทยาลัยตั้งแต่เข้าเรียน และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมเล่นกีฬา และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องออกแรง

ทว่าอาจารย์ที่ปรึกษาแซ่ซ่ง กลับไม่เชื่อว่า จ้าวป่วยจริง เขาบังคับให้จ้าวไปวิ่ง จนจ้าวล้มและมีอาการชักเกร็ง หมดสติ ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา

ป้าของจ้าวเชื่อว่า อาจารย์ซ่งตั้งใจที่จะกลั่นแกล้งหลานสาวของเธอ โดยผู้เป็นป้าเล่าว่า อาจารย์น่าจะไม่พอใจ เนื่องจากในช่วงเทศกาลเช็งเม้งที่ผ่านมา เขาได้สั่งให้จ้าวซื้อปลาเป็น ๆ ส่งเป็นของขวัญให้ภรรยาของเขา

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาทางการขนส่ง พอปลาที่จ้าวสั่งไปส่งถึงมืออาจารย์ พวกมันก็ตายหมดแล้ว

"อาจารย์โกรธและทำให้เด็กน้อยของเราตกอยู่ในที่นั่งลำบาก" ป้าของจ้าวกล่าว พร้อมเสริมว่า "เขาบอกว่าเอกสารรับรองการเป็นโรคหัวใจของหลานสาวฉันเป็นของปลอม และสั่งให้จ้าววิ่งทุกวัน"

นอกจากนี้ อาจารย์คนนี้ยังสั่งปลดจ้าวออกจากตำแหน่งหัวหน้าห้องอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ อาจารย์ซ่งยังห้ามนักศึกษาคนอื่นไม่ให้เข้าไปใกล้จ้าว แถมยังไม่ยอมโทร.เรียกรถฉุกเฉิน แต่เลือกที่จะติดต่อฝ่ายบริหารของทางวิทยาลัยแทน

“ถ้าเราพยายามช่วยเธอได้ทันเวลา มันก็คงจะได้ผล แต่อาจารย์ไม่ยอมให้เราเข้าใกล้เธอเลย” เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารของวิทยาลัยได้แถลงว่า จ้าวเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ แต่ไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้น โดยทางวิทยาลัยจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง

‘หมอรุ่งเรือง’ เผยข้อมูลทางวิทย์ ‘แกงไตปลา’ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ย้ำ!! นี่คือเมนูเพื่อสุขภาพ ‘ป้องกันโรคหัวใจ-รักษาแผลในกระเพาะ-สร้างภูมิคุ้มกัน’

(11 พ.ค.67) จากกรณีเว็บไซต์ต่างประเทศที่ให้ข้อมูลอาหารจากทั่วโลก ออกมาเผยการจัดอันดับ 100 เมนูยอดแย่ของโลก ซึ่งปรากฏว่าเมนู ‘แกงไตปลา’ ของประเทศไทย ได้อันดับ 1 เมนูยอดแย่ของโลก นั้น

ล่าสุด นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยระบุว่า แกงไตปลา เป็นอาหารที่เป็นภูมิปัญญาชาวปักษ์ใต้ กระบวนการทำแกงไตปลาอาศัยการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมในด้านอาหารของชาวใต้ จากข้อมูลศูนย์วิทยาศาสตร์ วศ.อว. ยืนนยันว่า เมนูแกงไตปลานิยมใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในชุมชนและท้องถิ่น มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ พริกแกง (นิยมใช้กระเทียม พริกขี้หนู พริกไทย ตะไคร้ ขมิ้นชัน หอมแดง) ปลาย่าง (นิยมใช้ปลาโอ) ไตปลา (นิยมใช้เครื่องในปลากะพงขาว) กะปิ และเครื่องปรุงรส มีกระบวนการผลิตโดยนำไตปลาสดหรือไตปลาหมัก ใส่น้ำสะอาด ต้มให้เดือด กรอง ใส่เครื่องแกงและเครื่องปรุงรส ซึ่งแกงไตปลาเป็นอาหารที่มีรสจัด จึงนิยมรับประทานร่วมกับผักชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ใบมะม่วงอ่อน สะตอ ลูกเนียงหรือลูกพะเนียง

ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า แกงไตปลาเป็นเมนูสำหรับผู้รักสุขภาพอย่างแท้จริง แกงไตปลามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เนื่องจากมีส่วนประกอบของสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น กระเทียมช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ขมิ้นชันรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ตะไคร้ช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษ ขมิ้นชันรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หอมแดงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก พริกขี้หนูช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันเลว เป็นต้น อีกทั้งแกงไตปลายังมีโปรตีนสูงจากปลาย่างและให้พลังงานต่ำ เป็นผลดีต่อสุขภาพ

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับอาหารไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ในด้านรสชาติอันเผ็ดร้อนถึงใจ มีกลิ่นไตปลาและสมุนไพร อาจเป็นสาเหตุทำให้ไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ได้ลิ้มลองรสชาติแกงไตปลา

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้ปรับรสชาติของแกงไตปลาให้มีความนุ่มนวลมากขึ้น มีความเผ็ดน้อยลง เหมาะกับผู้บริโภคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารรสจัดมากได้ แต่ยังคงคุณประโยชน์ของแกงไตปลา ซึ่งในท้องตลาดนอกจากจะมีแกงไตปลาสดจำหน่ายแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อแกงไตปลาสำเร็จรูป เช่น แกงไตปลาบรรจุกระป๋อง แกงไตปลาคั่วแห้งบรรจุกระป๋องหรือบรรจุถุง ที่สะดวกต่อการบริโภค เก็บรักษาได้นาน โดยในการซื้อผลิตภัณฑ์แกงไตปลาสำเร็จรูป ควรสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมาย อย. (มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หรือ มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top