Tuesday, 22 April 2025
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อคนไทยทุกคน

บขส. เปิดให้บริการรถทัวร์ ‘อุดรธานี-วังเวียง’ เริ่ม 1 พ.ย. 67 ลดระยะเวลาเดินทางเหลือ 5 ชม.

(17 ต.ค. 67) นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป บขส. จะกลับมาเปิดให้บริการเดินรถระหว่างประเทศไทย - ลาว เส้นทางที่ 9 อุดรธานี - ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี - หนองคาย - วังเวียง เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินและรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว - จีน ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและไร้รอยต่อ 

สำหรับเส้นทางดังกล่าว มีระยะทาง 240 กิโลเมตร การกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้จะเดินรถโดยใช้เส้นทางด่วน เวียงจันทน์ - วังเวียง ใช้ระยะเวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง 30 นาที จากเดิมใช้เส้นทางเดินรถทางราบปกติ ใช้ระยะเวลา 8 ชั่วโมง ดังนั้น หากใช้เส้นทางด่วนจะช่วยประหยัดเวลาเดินทางได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ใช้รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 40 ที่นั่ง ให้บริการวันละ 2 เที่ยววิ่งต่อวัน (ไป - กลับ) แบ่งเป็น เที่ยวไป ต้นทางรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุดรธานี แห่งที่ 1 เวลา 08.30 น. - ท่าอากาศยานอุดรธานี เวลา 09.00 น. - สถานีขนส่งหนองคาย เวลา 10.20 น. ส่วนเที่ยวกลับรถออกจากวังเวียง เวลา 09.00 น. ค่าโดยสาร 500 บาท 

ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ทุกช่องทางของ บขส. อาทิ ช่องทางออนไลน์ Facebook Page : บขส. Line : @บขส.99 เว็บไซต์ บขส. Application E-ticket และช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร บขส. ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2936 3660 ในวันและเวลาราชการ หรือสถานีเดินรถอุดรธานี โทร. 0 4222 1489 หรือจุดบริการท่าอากาศยานอุดรธานี โทร. 09 8437 2488

เปิด 6 เส้นทาง เตรียมเก็บค่ารถติด กลางเมืองกรุงฯ สานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท-แก้ปัญหา PM2.5

(22 ต.ค. 67) จากที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งการซื้อคืนนี้ เพื่อทำให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายนั้นโดย เบื้องต้นกองทุนฯ จะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เป็นต้น อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion charge) เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุน เพื่อเดินหน้านโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย และการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้น กรณีการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง หรือพื้นที่รถติด (Congestion charge) โดยสนข.ความร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  ซึ่งมีสำรวจ ถนนอยู่ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น คาดว่าจะมีการจัดเก็บ Congestion charge พบว่า มีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน ดังนั้นยกตัวอย่าง หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯคันละ 50  บาท ประเมินเบื้องต้น จะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือ 12,000 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถสนับสนุนกองทุนฯซื้อคืนสัมปทานได้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากที่สนข.ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีเป้าหมายเรื่องภาคขนส่งเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีการศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่

1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน 

2.ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน 

4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน

6.ทางแยกประตูน้ำ  (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน) 

ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion charge คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ 

นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ สนข.เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีความร่วมมือกับ UKPact  กองทุนจากประเทศอังกฤษ โดยจะเริ่มการศึกษา ในเดือนธ.ค.2567  โดยสนข.จะหารือเพื่อให้เร่งสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Congestion charge ภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ทันกับนโยบายขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

‘สุริยะ’ เผย 23 ต.ค. นี้ ฟรี!! ค่าทางด่วน 61 ด่าน ลดค่าครองชีพ-อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

(22 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในการเดินทางและเพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้พี่น้องประชาชน 

ตนได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช จำนวน 1 วัน 3 สายทาง รวม 61 ด่าน ดังนี้ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) 10 ด่าน

สำหรับยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุดและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ กทพ. ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ลงทะเบียนเข้าระบบสะสมแต้ม EXAT Reward ผ่านทาง EXAT Portal Application หรือ www.thaieasypass.com เพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย รวมถึงแลกเงินคืนเข้าบัตร Easy Pass และลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองผ่านทางแอปฯ และเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อยกระดับบัตร Easy Pass เป็น Easy Pass Plus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง

ครบรอบ 5 ปี เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมกะโปรเจกต์เชื่อมโยงอีกหลายโครงการ ที่ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

(25 ต.ค. 67) จังหวะเวลาช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ช่วงนี้กำลังมีข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ วันที่มีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ระหว่างเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แบบพอดิบพอดี 

สำหรับปฏิกิริยาล่าสุดจากทางสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟท. โดยตรงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(22 ต.ค. 67) ว่า

การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด​- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องพิจารณาใหม่

แม้จะตอบได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังเกิดข้อครหาตามติดมาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ 

สำหรับในประเด็นนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบออกมาว่า ร่างสัญญาจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง 

สำหรับประเด็นร้อนประเด็นนี้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านตา ‘ทีมคมนาคม’ ที่นำโดยสุริยะ ที่แม้ท่าทีจะเงียบ ๆ แต่ผลักดันแทบทุกโครงการจนสัมฤทธิ์ผล 

นอกจากนี้พ่อบ้านของกระทรวงคมนาคมอย่าง ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เติบโตจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำให้สามารถมองเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างเป็นภาพรวม 

และมีเสียงลือจากกระทรวงคมนาคมว่า ปลัดคนนี้นี่เองที่เคยทำงานอยู่ในทีมสมัยแรกที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั่งเจ้ากระทรวง

ด้วยสรรพกำลังภายในกระทรวงที่เพียบพร้อมเช่นนี้ ข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์เอกชนคงจะจางหายไปบ้าง

อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าแรก ว่าโครงการนี้ค้างคามาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว โอกาสของประเทศที่สูญเสียไปไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเท่าไหร่กันแน่ 

และนอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับอีก 2 โครงการโดยตรง!!

สำหรับโครงการแรก คือ เมืองการบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์สนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ 

ขยายศักยภาพสนามบินหลักเดิม 2 แห่งที่ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินจำนวนมหาศาลจนทำให้การจราจรทางอากาศติดขัดเป็นบางช่วงเวลา 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดหมายปลายทางหลักคงไม่ใช่อู่ตะเภาเท่านั้นเพราะ ‘กรุงเทพ’ เมืองฟ้ายังเป็นจุดหมายปลายทางหลัก

ดังนั้นการทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกันโดยง่ายจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ คือคำตอบเดียว 

หากไฮสปีดสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก คงทำให้อีกโครงการล่าช้าต่อเนื่องไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับโครงการที่ 2 จะออกนอกพื้นที่ EEC คือโครงการที่มีชื่อว่า ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา’

สำหรับเหตุผลว่าเรื่องนี้ทำไมล่าช้า เพราะในช่วงทับซ้อนของโครงการดังกล่าวคือช่วงบางซื่อ-สนามบินดอนเมือง ทั้งสองโครงการจะใช้ระบบรางเดียวกัน โดยผู้ที่ดำเนินการก่อสร้างคือเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ดังนั้น หากยังไม่สามารถปลดล็อกการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปได้ นอกจากการก่อสร้างบางช่วงที่ติดปัญหาของรถไฟไทย-จีน แล้ว จะมาติดล็อกของโครงการรถไฟ 3 สนามบินอีกด้วย 

และยังไม่รวมถึงโครงการหลักอย่าง EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เสน่ห์เย้ายวนจะหายไปเพียงใด หากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสะดุด 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจนักหากรัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขสัญญา เพราะในบางครั้งต้องมีการยอมกลืนเลือดไปเสียบาง เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวม 

และดูเหมือนว่าครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าเต็มกำลัง เพราะหลังจากกลับมารับตำแหน่งใน ครม. ชุดแพทองธาร ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็จัดการยึดอำนาจกำกับ รฟท. มาไว้ที่ตนเอง พร้อมกับที่ชื่อ ‘วีริศ อัมระปาล’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย 

ทั้งหมดย่อมหนีไม่พ้นการแสดงออกว่าราชรถ 1 อย่างสุริยะ ‘เอาจริง’ กับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยอย่างแน่นอน

‘สุริยะ’ ยันโครงการ ‘รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน’ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เตรียมชงแก้สัญญาเข้า ครม.

(29 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป 

แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ 

หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร  กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป

”โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100%  เพราะการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว 

คาดผู้โดยสารปี 67 แตะ 120 ล้าน AOT ยกระดับการให้บริการ นำระบบไบโอเมตริกมาใช้ทดแทนการเช็กอินใน 6 สนามบิน

(30 ต.ค. 67) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทอท. สร้างประสบการณ์การให้บริการท่าอากาศยานที่ทันสมัย นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร 

โดยพัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ 

1) เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ 

2) เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ Biometric จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้โดยสารตั้งแต่การเช็กอินจนถึงการขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารสามารถลงทะเบียนใบหน้าผ่านเครื่องเช็กอินและจุดบริการต่าง ๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตและบัตรโดยสารในแต่ละจุดอีกต่อไป เนื่องจากระบบ Biometric สามารถรองรับและเชื่อมต่อกับระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่ ทอท. ได้ติดตั้งและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ 

1) เครื่อง CUTE หรือเครื่องตรวจบัตรโดยสารซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน 

2) เครื่อง CUSS หรือ เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 

3) เครื่อง CUBD หรือเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 

4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร 

5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์

นายกีรติ ได้กล่าวถึงปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% และมีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73% โดยเฉพาะที่ ทสภ. มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ทดม. มีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47% ทชม. มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% ทชร. มีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ทภก. มีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ทหญ. มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 (W2024/2025) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024 ) 22.1% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5% มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) ทอท. คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02% โดยเฉพาะที่ ทสภ. คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ทดม. มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%

ทอท. มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยานให้ทันสมัยทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ทอท. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก

ทำความรู้จักแลนด์บริดจ์โครงการเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไทย ใช้ประโยชน์จากทำเล ลุ้น!! สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ภาคใต้

(31 ต.ค. 67) จากข่าววานนี้ที่ทาง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง วิจารณ์การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น

ในวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนมารู้จักโครงการแลนด์บริดจ์(Land Bridge)กัน สำหรับโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 
1.ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่าเรือ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันอย่างละหนึ่งท่าเรือ เพื่อรับส่งของจากเรือต่าง ๆ
2.ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือทั้งสองดำเนินการได้โดยง่ายไร้รอยต่อ หรือ Seamless 

โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือชิงส่วนแบ่งการตลาดจากท่าเรือแถว ๆ ช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณเรือเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาจำนวนหนึ่งในการเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกา 

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ กฎหมาย SEC ที่ใช้โมเดลเดียวกับ EEC เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมหลังอ่าว 

ด้วยอาวุธชิ้นนี้ผู้ที่ดำเนินการโครงการจึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เอกชนผู้ที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นบริษัทเรือเดินทะเล 

ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ลูกค้าที่จะมาจะมาจากบริษัทผู้ร่วมทุนนั้นเอง 

ทุก ๆ ครั้งที่พูดถึงโครงการนี้ จะนึกถึงตัวอย่างหนึ่งตลอดมา คือ เราเป็นคนจนคนหนึ่งแต่โชคดีมีที่ดินติดรถไฟฟ้า บางคนอาจจะอยากขายที่ดินหาเงินใช้ บางคนอาจจะปล่อยเช่า หรือบางคนอาจจะร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจใช้ที่ดินทำประโยชน์ 

โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่ต่างกันมากนัก คือ การใช้ประโยชน์จากทำเลเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์บริเวณปลายด้ามขวานแห่งนี้เคยทรงอิทธิพลในภูมิภาคด้วยความที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก

และครั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะนำสถานะนั้นกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top