Saturday, 26 April 2025
โครงสร้างค่าไฟฟ้า

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2) : ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รายละเอียดการเรียกเก็บและวิธีการคิดคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’

(28 ม.ค. 68) บทความที่แล้ว (รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1)) ได้เล่าถึงความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยที่มีภารกิจและความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน บทความนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ทั้งประเภทต่าง ๆ รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บ และวิธีการคิดคำนวณ โดยประเทศไทยมีการคิดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1. ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ค่าการใช้ไฟฟ้าจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งานได้แก่ [1] บ้านอยู่อาศัย [2] กิจการขนาดเล็ก [3] กิจการขนาดกลาง [4] กิจการขนาดใหญ่ [5] กิจการเฉพาะอย่าง [6] องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร [7] กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ [8] ไฟฟ้าชั่วคราว (โดยอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน) วิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าฐาน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน = จำนวนยูนิต x อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย 

2. ‘ค่าบริการ’ เป็นต้นทุนค่าบริการอ่านและจดหน่วยไฟฟ้า จัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระเงินและบริการลูกค้าของการไฟฟ้าฯ โดยมีความผันแปรไปตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้

3. ‘ค่า Ft’ (Float time) คือ คำที่เรียกสั้น ๆ ของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า สูตร Ft มีการปรับปรุงสูตรหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะนั้น ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการปรับปรุงสูตร Ft โดยให้คงเหลือเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น การปรับค่าไฟฟ้า Ft เดิมดำเนินการโดย กกพ. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ซึ่งต่อมา กพช. ได้ยกเลิกคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้า Ft ทั้งนี้ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ โดยค่า Ft มีการปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน

4. ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ นอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ค่าบริการ) x 7%

จะเห็นได้ว่า ‘ค่า Ft’ มีผลต่อราคาค่าไฟฟ้ามากที่สุด โดยค่า Ft มีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ค่าเชื้อเพลิงฐาน (Base Fuel Cost : BFC) คำนวณจากค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (2) ประมาณการค่าเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. (3) ประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของ กฟผ. (4) ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE) (5) Fuel Adjustment Cost : FAC คำนวณจาก ส่วนต่างระหว่าง “ประมาณการค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงฯ” (Estimated Fuel Cost : EFC) (6) ยอดสะสมยกมาจากงวดที่ผ่านมา (Accumulate Factor : AF) คือ ส่วนต่างระหว่าง “ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริง”กับ“ค่า Ft เรียกเก็บ”สะสมของงวดที่ผ่านมา (7) Ft ขายปลีก สำหรับงวดปัจจุบันคำนวณจากผลรวมของ “FAC งวดปัจจุบัน” และ (8) Ft ขายส่งประกอบด้วย Ft ขายส่ง กฟน. และ Ft ขายส่ง กฟภ. 

ค่า Ft จะถูกคำนวณด้วยโครงสร้างสูตรคำนวณค่า Ft โดย {1} จำแนกเป็น Ft ขายปลีก และ Ft ขายส่ง {2} Ft ขายปลีก เป็น Ft ที่ กฟน. และ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และกฟผ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าตรงของ กฟผ. และอื่น ๆ {3} Ft ขายส่ง เป็น Ft ที่ กฟผ. เรียกเก็บจาก กฟน. และ กฟภ. {4} Ft จะคำนวณเป็นค่าเฉลี่ย 4 เดือนและปรับเปลี่ยนทุก ๆ 4 เดือน โดยเรียกเก็บในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า และแสดงในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าเป็นประจำทุกเดือนเป็นรายการพิเศษ และ {5} Ft เป็นอัตราต่อหน่วยการใช้พลังงานไฟฟ้า และเป็นค่าที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้ข้อมูลในการคำนวณจากองค์ประกอบตามข้อ (1) ถึง (8) 

สำหรับหลักการคำนวณค่า Ft จะใช้ <1> ค่า Ft ขายปลีก คำนวณจากค่าใช้จ่ายในด้านค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในงวด 4 เดือนข้างหน้า (งวดปัจจุบัน) เทียบกับ ค่าใช้จ่ายที่ใช้คำนวณในค่าไฟฟ้าฐานรวมกับ ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงต่างจากที่เรียกเก็บ สะสมในงวด 4 เดือนที่ผ่านมา (AF) หารด้วยประมาณการหน่วยขายปลีกในงวดปัจจุบัน และ <2> ค่า Ft ขายส่งให้ กฟน. และ กฟภ. Ft ขายส่งให้ กฟน. คำนวณจากค่า Ft ขายปลีกคูณประมาณการหน่วยขายปลีกที่ กฟน. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดปัจจุบัน หักด้วยส่วนต่างของประมาณการกับค่าฐานของค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐของ กฟน. หารด้วยประมาณการหน่วยขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟน. สำหรับ Ft ขายส่งให้ โดย กฟภ. ก็ใช้วิธีการคำนวณค่า Ft เช่นเดียวกันกับ กฟน. ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ได้กำหนดค่า Ft ที่หน่วยละ 0.3672 บาท (36.72 สตางค์) ทั้งนี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้า จะมีวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติในเว็บไซต์ทั้งของ กฟน. และ กฟภ.

ในตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ต้นทุน’ ใน ‘ค่าไฟฟ้า’ ว่าประกอบด้วยอะไร และ ‘ผู้ใช้ไฟฟ้า’ ต้องจ่ายเป็นค่าอะไรบ้างใน ‘ค่าไฟฟ้า’ แต่ละหน่วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top