Tuesday, 22 April 2025
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

‘จุรินทร์’ ชี้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เหมือนย้อนกลับไปที่เดิม หลังรัฐบาล ยื้อ ย้ำ!! ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่คุ้มค่า แค่พรรคการเมือง

(27 เม.ย. 67) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 อย่างรัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้คนหนึ่งอย่างใกล้ชิด ตนคิดว่าสถานการณ์ ณ วันนี้ มันย้อนกลับไปที่เดิม คือย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนที่ประกาศว่าจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น เที่ยวนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยังคลุมเครือ แม้ว่าจะมีมติครม.ออกมาก็ตาม แต่มติครม.ดังกล่าวเป็นมติที่เห็นชอบในหลักการ ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เพราะการแถลงนโยบายรัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว ดังนั้นครม.ก็ต้องเห็นชอบตามนโยบาย แต่รายละเอียดที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ ซึ่งจนถึงขณะนี้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงก็ยังทำไม่เสร็จ ยังจะมีการนัดประชุมในรายละเอียดอีกว่าแหล่งเงิน วิธีการ และรายละเอียดอื่น ๆ จะทำอย่างไร ซึ่งแค่หลักการครม.ที่อยู่ด้วยกัน ให้เกียรติกันก็ต้องเห็นชอบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ในเรื่องของรายละเอียดจะต้องติดตาม

“ผมเรียนว่ายังคลุมเครือ เพราะผู้ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญตัวจริงทางด้านการเงิน การคลัง และด้านกฎหมายของประเทศมีไม่น้อยที่เดียวที่ออกมาให้ความเห็นว่ามีหมิ่นเหม่ในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ถ้ารัฐบาลจะทำให้เกิดความชัดเจนกว่านี้ก็ทำได้ โดยส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วินิจฉัยก็จบไป แต่ผมไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องยื้อเวลาในการที่จะส่งกฤษฎีกาไปอีก ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเหมือนกับเดินไปบนเส้นด้าย เพราะความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายยังถกเถียงกันอยู่และคนที่มาเถียงกฎหมายก็ไม่ใช่ว่าคนไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งการเงิน การคลัง และกฎหมายที่ออกมาท้วงติง ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องรับฟังและทำความจริงให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะคลุมเครืออยู่อย่างนี้ ประชาชนก็รอความหวัง ด้วยความหวังในลักษณะที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะจริงหรือไม่จริง เพราะไม่ได้แปลว่าเมื่อครม.มีมติแล้วจะเป็นไปตามนั้น” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ตนพูดต้องการให้รัฐบาลทำ แต่ตนไม่วิเคราะห์ว่าดีหรือเสียอย่างไร แต่เป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อหาเสียงและได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบจากเสียงที่ได้มา ต้องทำ แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่คุ้มค่าแค่พรรคการเมือง

‘อุ๊งอิ๊ง’ ยัน!! เดินหน้าทำ ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ ย้ำ!! ทำตามกฎหมาย วินัยการคลัง รับฟังความคิดเห็น

(18 ส.ค.67) หลังเข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวโดยระบุว่า วันนี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำเพื่อประเทศชาติตลอด 1 ปีที่ผ่านมาแม้ตนเองจะไม่ ๆ ได้วางแผนในการเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน แต่ขอให้มั่นใจว่า พร้อม เต็มใจ

ที่จะรับใช้พี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ พาประเทศชาติผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหาต่าง ๆ และแน่นอนประเทศไทยของเรามีปัญหาปากท้องที่รอการแก้ไข และตั้งใจว่าการได้รับตำแหน่งนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ปากท้องของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวอีกว่า ตั้งใจผลักดันนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปัญหายาเสพติด ระบบสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาได้ทุกที่ และไทยแลนด์ ซอฟต์พาวเวอร์ อย่างต่อเนื่องที่ทำมาตั้งแต่ต้น และมีความตั้งใจที่จะร่วมงานกับทุกภาคส่วนที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ให้สำเร็จ โดยจะแถลงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเดือน ก.ย.นี้ 

ขอบคุณพลังประชาชนทั้งที่เลือกและไม่ได้เลือก สัญญาว่าจะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ โดยที่ไม่มีความแบ่งแยกในความแตกต่างทุกเพศ ทุกวัย และความหลากหลายทั้งในฐานะ นายกรัฐมนตรี แม่ ลูก เพื่อน มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ประเทศไทยทุกตารางนิ้วเป็นของโอกาสที่คนไทยทุกคนกล้ามีความฝัน ความคิดที่สร้างสรรค์และกล้ากำหนดอนาคตของตัวเอง 

นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามสื่อมวลชน ได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย ยืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้สั่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งการทำนโยบายอะไรต้องปรึกษาพรรคร่วมด้วย และขอให้แยกบทบาทเพราะเข้าใจดีว่า นายทักษิณ ก็คงไม่สามารถลบภาพทางการเมืองออกได้ เพราะก็ยังเป็นคนที่หลายคนเคารพนับถือ และหลายคนคงขอคำปรึกษาตามประสบการณ์ที่ท่านมี 

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีความตั้งใจทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งปีที่แล้วที่หาเสียงเรื่องนี้ เป็นการศึกษาและสังเคราะห์มาอย่างดีแล้ว แต่ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม แน่นอนต้องอยู่ในระเบียบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังด้วย และในเนื้อหารายละเอียดต้องชัดเจนและฟังความเห็นต่อเนื่อง เป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นความตั้งใจนี้จะยังอยู่แน่นอน

ต่อข้อซักถามผู้สื่อข่าวที่ระบุว่า นายทักษิณจะครอบงำทางการเมือง นางสาวแพทองธาร ยืนยันว่า ไม่ใช่การครอบงำแน่นอน ทุกคนในครอบครัวมีความคิดเป็นของตัวเอง เราปรึกษากันและให้เกียรติกันทางความคิด แต่สุดท้ายเมื่อใครอยู่บทบาทไหน ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าความคิดของครอบครัวหรือคนที่เคารพนับถือ ย่อมมีส่วนสำคัญ และยังเร็วไปมากในเรื่องคณะรัฐมนตรี ยังไม่ได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนคำถามที่ว่า จะซ้ำรอยพ่อ รอยอา นางสาวแพทองธาร ระบุว่า ปัญหาประเทศต้องได้รับการแก้ไขก่อน และจะทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมเข้าหาทุกภาคส่วน เข้าหาทุกคน ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่านพรรคร่วม และเชื่อว่าไม่มีงานใหญ่ขนาดนี้ที่คนหนึ่งคนจะทำสำเร็จได้ แต่มีความตั้งใจ เคารพ และเชื่อในความสามารถของทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถสร้างประสบการณ์ได้โดยการดีดนิ้วทีเดียว และขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ทั้งหมด

ไม่มีใครอยากโดนอย่างคุณพ่อ คุณอา วันนี้คุณพ่อ คุณอาก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น มีความตั้งใจที่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องที่สุด ต้องมองไปที่เป้าหมาย ถ้ามานั่งกังวลทุกอย่าง ก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพื่อไม่ให้มีคดี นางสาวแพทองธาร กล่าวทิ้งท้าย

'ครม.ไฟเขียว!! 'คลัง' แจกหมื่นกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน เริ่ม 25 ก.ย.นี้ พร้อมยืนยัน!! เดินหน้า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 10,000 บาท เฟส 2 แน่นอน

(17 ก.ย. 67) ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. 2567 มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยรัฐจะจ่ายเงินสดจำนวน 10,000 บาทต่อคน ให้กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 14.55 ล้านราย ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า มั่นใจว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าการมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.35% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ

“เชื่อว่าโครงการนี้ จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ให้ขยายตัวได้ อาจไม่ถึง 3% แต่ก็ใกล้เคียง”

โดยรัฐจะจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ประมาณ 12.40 ล้านราย ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป)

ส่วนกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ประมาณ 2.15 ล้านราย  รัฐจะจ่ายเงินสด 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 

1.ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา 
2.บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภท

สำหรับการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่ กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน กลุ่มคนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0 จะได้รับเงินวันที่ 25 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3 จะได้รับเงินวันที่ 26 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7 จะได้รับเงินวันที่ 27 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9 จะได้รับเงินวันที่ 30 ก.ย. 2567

ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ต.ค.2567 / ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พ.ย.2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธ.ค.2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

อย่างไรก็ตาม ขอให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการและคนพิการตามเป้าหมายของโครงการดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหาก มีบัญชีธนาคารเดิมอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้เข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นจะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ส่วนการลงทะเบียนสำหรับผู้มีสิทธิรับเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท แต่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือและกำหนดรายละเอียดให้มีความชัดเจนหลังจากการจ่ายเงินกลุ่มเปราะบางเสร็จเรียบร้อยแล้วอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 ยืนยันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top