Wednesday, 23 April 2025
แจ้งอุต

‘เอกนัฏ’ คิกออฟ 'แจ้งอุต' แจ้งปัญหาอุตสาหกรรมง่ายๆ ผ่านไลน์ ดึงปชช. ร่วมปราบ โรงงานเถื่อน – สินค้าไร้มาตรฐาน - ฝุ่นพิษ

กระทรวงอุตสาหกรรม คิกออฟ 'แจ้งอุต' แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมผ่าน ทางไลน์ โดยเทคโนโลยี 'ทราฟฟี่ ฟองดูว์' ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ ทราบผลรวดเร็วทันใจ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

(31 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความเอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย (Ease of Doing Business) และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา 'ทราฟฟี่ฟองดูว์' (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ 'แจ้งอุต' ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีที่อำนวยให้ข้าราชการทำงานง่ายขึ้น อย่างเทคโนโลยีประมวลผลอัจฉริยะ (AI) ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาอัตโนมัติ เพื่อลดระยะเวลาทำงาน

“ช่วงที่ผ่านมา เราเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับการจัดระเบียบอุตสาหกรรมไทย กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สินค้าไม่ได้มาตรฐานมากมายยังแทรกซึมในตลาด ลำพังกำลังพลของข้าราชการอุตสาหกรรม เราทำได้ไม่เพียงพอเป็นแน่ ผมจึงอยากให้ 'แจ้งอุต' ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยรับฟังเสียงจากประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน ในการต่อสู้เพื่อพังวงจรอุตสาหกรรมสีเทา โรงงานเถื่อน เอาผิดผู้ประกอบการไร้ความรับผิดชอบ ลักลอบฝังขยะอันตราย ปิดตายสินค้าข้ามชาติราคาถูกที่ไร้มาตรฐาน ช่วยกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส ไม่ให้มีอะไรซุกใต้พรมอีกต่อไป แจ้งอุตมา เราสุดซอยให้แน่ครับ” นายเอกนัฏกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' นั้น สามารถเข้าใช้งานโดยผ่านระบบของทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และเลือกไปยัง แจ้งอุต รวมทั้งการสแกนผ่าน QR Code และ Link ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1. โรงงาน (ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม) 2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 4. มาตรฐานสินค้า 5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนการให้บริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และ 6. ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

ในระยะแรก กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับแจ้งจัดการเรื่องการร้องเรียนของทุกหน่วยงานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ส่วนระยะต่อไปจะพัฒนาการติดตามสถานะการขอรับบริการ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถานะการสมัครเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สถานะการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบใน Traffy Fondue ได้พัฒนาการแสดงผลภาพรวม (dashboard) และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียน และจำนวนที่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปวางแผนการจัดการปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ และในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเชื่อมโยงแจ้งอุตกับระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ของกรม เช่น I-Dee Pro และระบบอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ข้อมูลและการจัดการต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกัน 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดฝึกอบรมการใช้งาน 'แจ้งอุต' เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ทั้งที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ เพื่อนำแนวทางและเทคนิคของการจัดการเรื่องร้องเรียนมาฝึกปฏิบัติให้สามารถนำระบบ 'แจ้งอุต' ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและพร้อมให้บริการประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 500-550 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 11 อันดับ ได้แก่ 1. กลิ่นเหม็นและไอสารเคมี (ร้อยละ 29) 2. ฝุ่นละอองและเขม่าควัน (ร้อยละ 21) 3. เสียงดังและแรงสั่นสะเทือน (ร้อยละ 15) 4. น้ำเสีย (ร้อยละ 8) 5. อื่น ๆ (ร้อยละ 6) 6. ประกอบการในเวลากลางคืน (ร้อยละ 6) 7. กากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (ร้อยละ 5) 8. ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 5) 9. ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ (ร้อยละ 3) 10. คัดค้านการประกอบการ (ร้อยละ 2) 11. เหมืองแร่ (ร้อยละ 0.3) นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากเหตุภาวะฉุกเฉิน เฉลี่ยจำนวน 15 เรื่องต่อเดือน อาทิ เหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล การชุมนุมคัดค้าน อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเครื่องจักรกล เหตุระเบิด เป็นต้น 

การพัฒนาแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' เป็นการยกระดับการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน นำร่อง รับแจ้งเรื่อง 6 ประเภทเรื่องสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านคิวอาร์โค้ด หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

‘เอกนัฏ’ เอาจริง!! เดินหน้า ‘ถอนรากถอนโคน’ สั่งหยุดกิจการ พร้อมยึดใบอนุญาต โรงงานพลาสติกเถื่อนสมุทรสาคร ที่เกิดเพลิงไหม้ ผงะ!! พบของกลางกว่า 170 ล้าน

(1 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ขยายผลตรวจโรงงานรีไซเคิลพลาสติกเถื่อนสมุทรสาคร ที่เกิดเหตุไฟไหม้ ผงะพบเปลือกหุ้มสายไฟหลอมเป็นเม็ดพลาสติกมูลค่ากว่า 170 ล้านบาท สั่งหยุดกิจการ พร้อมยึดใบอนุญาต ฟันข้อหาตั้ง-ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล เมื่อวันที่ 29 ม.ค.68 พบข้อมูลทางทะเบียน ‘บริษัทมหาโชค มหาชัย เทรดดิ้ง’ จดทะเบียนบ้านที่ 111/11 ม. 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมีรายงานว่าบริษัทที่ปรากฏชื่ออยู่ในโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่อยู่ในละแวกเดียวกันทั้งหมด

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ชุดปฏิบัติการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่โกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ รวมไปถึงตรวจสอบกรณีการขออนุญาตประกอบกิจการไม่ถูกต้องด้วย 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากชุดปฏิบัติการสุดซอยว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับตำรวจ บก.ปทส. ได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และบริษัทใกล้เคียงที่พบว่ามีความเกี่ยวพันกันได้แก่ บริษัท เอ็ม ซี ที รอยัล วูด จำกัดและ บริษัท บีเค รีไซเคิล จำกัด ที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 100 เมตร จากการตรวจค้นทั้ง 2 บริษัท และโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ พบกองพลาสติกเปลือกหุ้มสายไฟจากต่างประเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการหลอมเป็นเม็ดพลาสติกรวมแล้วกว่า 6,900 ตัน ซึ่งสามารถนำไปหลอมเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ได้มูลค่ากว่า 170 ล้านบาท 

“ทีมสุดซอยเข้าตรวจค้นพบการเปลี่ยนแปลงจากบริษัท เอ็ม ซี ที รอยัล วูด จำกัดและ บริษัท บีเค รีไซเคิล จำกัด เป็น บริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด และ บริษัท ปวริศาแอสเสท จำกัด ภายในโรงงานพบการประกอบกิจการผิดประเภทมีการตั้งโรงงานบดย่อยหลอมพลาสติก เป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ทราบที่มาของวัตถุดิบ“ นายเอกนัฏ กล่าวระบุ 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้ออกคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนทันที และจะเพิกถอนใบอนุญาตของ บริษัท เอ็ม ซี ที รอยัลวูด จำกัด และ บริษัท บี.เค. รีไซเคิล จำกัด พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายกับทั้ง 2 บริษัท รวมทั้งเจ้าของที่ดินที่ตั้งโรงงาน ในข้อหาตั้ง และประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดเพิ่มก็จะดำเนินคดีร่วมกันกระทำผิดเพิ่มเติมจนถึงที่สุด ทั้งนี้หากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อทางกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงจัดการปัญหาหรือส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

‘เอกนัฏ’ สั่ง!! ‘ทีมตรวจสุดซอย’ ลุยต่อเนื่องตรวจ 2 โรงงาน เชื่อมโยง!! ไฟไหม้โรงงานพลาสติกเถื่อน จ.สมุทรสาคร

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งทีมตรวจสุดซอยลุยตรวจต่อเนื่อง นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ขยายผลเหตุเพลิงไหม้โกดังทลายเครือข่ายที่เคยพบเศษพลาสติกกว่า 6,900 ตัน พร้อมตรวจค้น 2 โรงงานที่มีความเชื่อมโยงกับโรงงานพลาสติกเถื่อน จ.สมุทรสาคร ที่ถูกสั่งปิด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 ที่ผ่านมา

น.ส.ฐิติภัสร์กล่าวว่า ในที่เกิดเหตุเพลิงไหม้พบป้ายชื่อบริษัทที่ติดอยู่ คือ บริษัทเถิงฟา พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/6 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟู่ซิน หลัว เป็นหนึ่งในกรรมการจากการขยายผลพบอีก 2 บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกัน คือ 1) บริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/6 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟูควน ลัว และนายฟู่ซิน หลัว เป็นกรรมการ ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย 2) บริษัทเถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/12 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟูควน ลัว เป็นกรรมการ ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากการตรวจค้นทั้ง 2 บริษัท พบเศษพลาสติกสายไฟนำเข้าจากต่างประเทศ บางส่วนมีลักษณะคล้ายกับเศษพลาสติกสายไฟในโกดังที่เกิดเหตุไฟไหม้ โดยนายฟูควน ลัว กรรมการบริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด รับสารภาพเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ยังตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์และแผ่น PCB ถูกบดย่อยกองอยู่และในถุง big bags เป็นจำนวนมากในพื้นที่ ซึ่งมีบริษัท บี เค รีไซเคิล จำกัด เป็นเจ้าของ ส่วนการตรวจค้นบริษัท เถิงต๋า ที่ตั้งอยู่ติดกัน พบมีการลักลอบประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนกกฎหมายไม่ปฏิบัติตามประกาศเรื่องสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมและส่งตัวนายฟูควน ลัว กรรมการบริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทเถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด และบริษัทเถิงฟา พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ส่งตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปทส. พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้มีส่วนกระทำความผิดทั้งหมดอย่างถึงที่สุด

“หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เล็งขุดรากถอนโคนขนขยะอันตรายเข้าประเทศ เตรียมชงเคส รง.ไฟไหม้ สมุทรสาคร ให้ DSI รับช่วงจัดการต่อ

(25 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยตำรวจสอบสวนกลางและคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีการกระทำความผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบตั้งโรงงานในพื้นที่ขัดผังเมืองและมีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกสายไฟเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาทำการคัดแยกโลหะมีค่าและบดบ่อยเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และความผิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และได้ทำการยึดอายัดของกลางประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้าและเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 6,900 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ผลักดัน ‘สมุทรสาครโมเดล’ ยกระดับมาตรการการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาต โดยจะจัดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อร่วมกันให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยกหรือรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมกันเสริมกำลังให้กับชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังการประกอบการที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าดูแลและบริหารจัดการของกลางที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ ควบคู่ไปกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือ ‘แจ้งอุต’ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเผ้าระวังการประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้เตรียมหารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลเพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย และยังนำออกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที’ นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ฟันไม่เว้น!! แก๊งลอบทิ้ง กากอุตสาหกรรม เช็คบิล!! ต้นทางยันปลายทาง โดนคดีอ่วมยกแก๊ง

(15 มี.ค. 68) ‘เอกนัฏ’ สั่งขยายผลขบวนการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในไร่มันฯ พบขนไปส่ง บ.กำจัดของเสีย แต่ก็จัดการไม่ถูกต้อง-ดำเนินคดีทันที พร้อมสั่งดำเนินคดี 3 บริษัทต้นทางและต้องนำกากอุตฯในไร่มันฯ ไปกำจัดให้ถูกต้อง แย้มหากพบมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จจะโดนข้อหาหนักพ่วงท้าย ‘ขนส่ง-เจ้าของที่ โดนข้อหาหนักด้วย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเดินหน้ากวาดล้างขบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ชุดตรวจการณ์สุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรมว.อุตสาหกรรม, น.ส.นวพร สงวนหมู่ ผอ.กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, นายบวรวิทย์ อัครจันทโชติ ผอ.กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ติดตามขยายผลจาก บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ที่เป็นผู้รับจ้างขนย้ายกากอุตสาหกรรมจากบริษัทผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) คือ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ไปทิ้งตามไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี หลายจุด ซึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีก่อนหน้านี้ จนสืบทราบไปถึงบริษัทและโรงงานผู้รับกำจัดของเสียอีก 2 แห่ง คือ 1) โรงงานบริษัท เวสต์ แอ็บโซลูท จำกัด ในพื้นที่ ต.วัดสุวรรณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และ 2) โรงงานบริษัท เวสท์ โอเว่น เซอร์วิส จำกัด ในพื้นที่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ประกอบกิจการนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่เป็นอันตราย และอินทรีย์วัตถุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารปรับปรุงดิน

“ทั้ง 2 บริษัทเป็นปลายทางรับของเสียจาก บริษัท ซันโทรี่ เบเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นต้นทางของกากของเสียและถูกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขตามมาตรา 37 จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งถูกตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดี ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะจดทะเบียนทำธุรกิจกำจัดและบำบัดของเสียอุตสาหกรรม แต่จากการตรวจสอบพบว่า หากมีการดำเนินการที่ขัดต่อระเบียบและกฎหมายต้องแก้ไขปรับปรุงและดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด” นายเอกนัฏ ระบุ

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า จากการขยายผลและเข้าไปตรวจสอบพบว่า 1) บริษัท เวสต์ แอ็บโซลูท จำกัด ได้รับกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียจาก บริษัท ซันโทรี่ฯ เข้ามาฝังกลบ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.-4 มี.ค.68 จำนวน 10 เที่ยว น้ำหนักกว่า 92 ตัน ขณะที่ 2) บริษัท เวสท์ โอเว่น เซอร์วิส จำกัด ได้รับกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียจาก บริษัท ซันโทรี่ฯ เข้ามาทำสารปรับปรุงดิน ตั้งแต่วันที่ 15-21 ก.พ.68 จำนวน 19 เที่ยว น้ำหนักกว่า 152 ตัน ทั้งนี้ หากตรวจสอบข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว พบว่า ทั้ง 2 บริษัทดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายโรงงานหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรับของเสียเข้ามาจัดการโดยของเสียยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกโรงงานของผู้ก่อกำเนิด จะมีความผิดและฝ่าฝืนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 ซึ่งจะตรวจสอบต่อไปด้วยว่า มีการแจ้งข้อมูลเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งหากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกด้วย

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า ส่วน บริษัท ซันโทรี่ เบเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จะถูกดำเนินคดีในข้อหานำกากอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต และหากพบว่ามีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบจะถูกดำเนินคดีเพิ่มเติม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งให้ บริษัท ซันโทรี่ฯ ต้องนำกากอุตสาหกรรมที่ขนไปทิ้งในไร่มันสำปะหลังก่อนหน้านี้ไปกำจัดให้ถูกต้องต่อไปด้วย เช่นเดียวกับ บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด จ.ชลบุรี ที่เป็นผู้รับจ้างขนส่ง จะถูกดำเนินคดีใช้รถผิดจากที่ได้รับอนุญาต ส่วนความคืบหน้าจุดที่มีการลักลอบทิ้งอีก 1 จุด ที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง. จ.ชลบุรี ซึ่งปรากฎเป็นภาพข่าวที่พบรถของบริษัท ฮิ้วฯ นำของเสียไปปล่อยทิ้ง นั้น ผลตรวจสอบดินและน้ำเสียในพื้นที่พบค่าโลหะหนักที่เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 บริษัท ฮิ้วฯ อาจจะถูกดำเนินคดีร่วมเป็นตัวการในการครอบครองวัตถุอันตรายดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและดำเนินคดีในทุกข้อหาการกระทำผิด ส่วนเจ้าของที่ดิน ต.หนองอิรุณ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีแจ้งความดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายแล้ว

“ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เร่งตรวจสอบและขยายผลขบวนการที่เกี่ยวข้องกระจายไปทั่วประเทศจนจบและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันจะดำเนินการเชิงรุกอย่างจริงจังต่อไป เพื่อป้องกันการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้ง และจัดการไม่ถูกต้อง ลดปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประชาชนในทุกพื้นที่ หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top