Wednesday, 23 April 2025
เอเลี่ยนสปีชีส์

‘ประมงสมุทรสาคร’ ลุยกำจัด ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ ดีเดย์!! เริ่มกำจัด ‘ปลาหมอสีคางดำ’ 9 ก.ค. นี้

(7 ก.ค.67) นายนิรันดร์ พรหมครวญ ประมงอาวุโสจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้ “ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดหนักมาก ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำเสียไป ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครจึงจัดเตรียมลงแขกลงคลอง ดีเดย์วันที่ 9 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการปล่อยลูกปลากะพง และสัตว์น้ำ ลงสู่คลองต่อไป เพื่อสร้างระบบนิเวศทางน้ำให้สมดุลกลับสู่สภาพดังเดิม

จากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางสีดำ ซึ่งถูกขนานนามว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตอันตรายในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย โดยขณะนี้พบการแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำ ทางนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้จับมือร่วมกับพันธมิตร เตรียมจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ครั้งที่ 1” ในวันอังคารที่  9 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ คลองท่าแร้ง (บริเวณวัดยกกระบัตร) ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อร่วมกันกำจัดปลาหมอสีคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งยังเพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร 

ขณะที่นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลาก จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอสีคางดำระบาดขณะนี้ ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติหนัก หากไม่รีบกำจัดหรือทำให้ปริมาณลดลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติและบริเวณปากแม่น้ำ ที่จะต้องถูกกินไปจนหมด อีกทั้งปลาประเภทนี้เป็นปลาที่ทนต่อสภาพน้ำทุกประเภท และยังมีการแพร่พันธุ์ได้เร็ว ดังนั้นการเร่งกำจัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้ได้มากที่สุด จะช่วยลดการเกิดใหม่ของลูกปลาได้ ทำให้การแพร่ระบาดลดน้อยลง

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณมาอุดหนุนช่วยซื้อปลาหมอสีคางดำ 500,000 กิโลกรัม (กก.) ตอนนี้ยังคงเหลือเงินที่รับซื้อได้อีกราวๆ 30,000 กิโลกรัม โดยสนับสนุนให้แพปลา 3 แห่งในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอีก 2 แห่งในอำเภอบ้านแพ้ว เป็นผู้รับซื้อปลาหมอสีคางดำส่งให้กับโรงงานปลาป่น ซึ่งแพปลาจะรับซื้อไว้ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท และทางแพจะได้รับค่าดำเนินการเพิ่มอีก 2 บาท

นอกจากนี้ทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้เร่งทำเรื่องถึงอธิบดีกรมประมงเพื่อของบประมาณนำมาซื้อปลาหมอสีคางดำเพิ่มอีก เพื่อให้การกำจัดโดยวิธีการจับมาขายให้กับแพปลาส่งต่อโรงงานปลาป่นนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปได้อีก เพราะจังหวัดสมุทรสาครนับเป็นจังหวัดผู้นำในเรื่องกำจัดปลาหมอสีคางดำที่มากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อจะสามารถกำจัดปลาหมอสีคางดำได้อย่างแน่นอน

'อ.ธรณ์' ชี้!! 'ปลาหมอคางดำ' เข้าไปอยู่ในธรรมชาติแล้ว แนะ!! เร่งคุมระบาดสู่แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด

(16 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการกำจัดปลาหมอคางดำซึ่งเป็น Alien Species โดยระบุว่า เมื่อสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นเข้าไปอยู่ในธรรมชาติถึงระดับหนึ่งแล้ว การจัดการให้หมดเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างปลาซักเกอร์ที่ยังมีอยู่ในแหล่งน้ำของไทยหรือปลาช่อนในสหรัฐอเมริกา

การจัดการด้านพื้นที่คือ คุมการระบาดให้มากที่สุด โดยแบ่งพื้นที่เป็นเขต 3 เขตได้แก่ เขตหลักคือ อ่าวไทย ตัวก. เขตรองซึ่งพบการระบาดเป็นพื้นที่ กระจายออกไปทั้งในแผ่นดินและในทะเล และเขตที่ปลายากไปถึงเช่น เกาะต่าง ๆ แหล่งน้ำที่ไม่เชื่อมต่อกับแหล่งอื่น

สำหรับเขตหลักต้องเน้นการลดจำนวนปลาหมอ เขตรองต้องคุมไม่ให้ขยายออกไปข้าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนเขตไม่มีปลาไปถึงตามธรรมชาติต้องคุมไว้ให้ได้

เมื่อการกำจัดการปลาหมอคางดำให้หมดเป็นไปได้ยากนั้น จึงต้องพยายามลดผลกระทบให้มากสุดทั้งต่อระบบนิเวศ รวมถึงการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทำประมงเนื่องจากปลาหมอคางดำที่เข้าไปในระบบนิเวศจะกินสัตว์น้ำอื่นส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง เมื่อเข้าไปแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะไปกินสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง หากเข้าไปในแหล่งประมง ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจหายไป ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แต่ปลาหมอราคาต่ำโดยในการลดจำนวนปลาหมอคางดำคือ จับเท่าที่ทำได้แล้วนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เป็นอาหารคน อาหารสัตว์ โดยคณะประมงคิดค้นเมนูกู้แหล่งน้ำทั้งปรุงสดและผลิตภัณฑ์ โดยต้องหาแนวทางนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ อีก

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการส่งผู้ล่าลงไปจัดการ โดยผู้ล่าต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการได้แก่ เป็นปลาท้องถิ่น มีประโยชน์ และหาได้ในจำนวนมาก ทั้งนี้จะไม่ส่งสัตว์น้ำต่างถิ่นไปกินสัตว์น้ำต่างถิ่นเพราะอาจเกิดปัญหารุนแรงขึ้น ประเด็นมีประโยชน์หมายถึง ต่อให้ไม่กินปลาหมอคางดำหรือกินได้ไม่เยอะ คนก็ยังจับมากินมาขายได้ ส่วนเรื่องหาได้เยอะหมายถึง ต้องรวบรวมพันธุ์ปลาได้มากพอซึ่งอาจเป็นที่มาของปล่อยปลากะพงกินปลาหมอคางดำเพราะปลากะพงขาวมีคุณสมบัติครบ

สำหรับเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเช่น จะกินปลาอื่นไหม กินปลาหมอคางดำได้แค่ไหน ปลาผู้ล่าต้องไหนถึงเหมาะ จำนวนปลาหมอคางดำหนาแน่นแค่ไหนจึงสมควรปล่อยปลาผู้ล่า การปล่อยปลาจึงต้องระมัดระวังผลกระทบข้างเคียงและศึกษาพื้นที่ให้แน่ชัดว่า จะควบคุมได้ซึ่ง ถึงขั้นนี้ต้องยอมรับว่า ต้องหาทางอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำต่อไป และพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุด

'ซีพีเอฟ' ยัน!! ทำลายปลาหมอคางดำหมดเกลี้ยงตั้งแต่ 14 ปีก่อน ส่วนปัญหาระบาดช่วงนี้ บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนภาครัฐแก้ปัญหา

(16 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)

นายเปรมศักดิ์ กล่าวว่า “บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วย…

1.ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น…

2.ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ…

3.สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา…

4.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา…

และ 5.สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ”

สำหรับหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้ ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว

นักวิชาการประมง ชี้!! 'หมอคางดำ' หนังม้วนเดิมแบบ 'หมอบัตเตอร์' แนะ!! ถอดบทเรียน ช่วยหยุดแพร่กระจายสัตว์น้ำต่างถิ่นในอนาคต

(17 ก.ค. 67) จากเพจ 'Theerawat Sampawamana' ซึ่งเป็นนักวิชาการประมง ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ว่า...

โหนกระแส 'หมอคางดำ'

โลกโซเชียลมีเดียหลายวันมานี้ มีแต่ข่าว สัตว์น้ำต่างถิ่น 'หมอคางดำ' ระบาดไปทั่ว สังคมแตกตื่น ทุกฝ่ายตระหนก!!!

หลายปีก่อนผมเคยเขียนเรื่อง 'ปลาหมอบัตเตอร์' สัตว์น้ำต่างถิ่นอีกตัวที่แพร่ระบาดเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ เมืองกาญจน์ จนปลาพื้นเมืองหลายชนิดลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ

หนังม้วนเดิมครับ 'หมอบัตเตอร์กับหมอคางดำ' พล็อตเรื่องเดียวกันเดี๊ยะ ปฐมบทเหตุแห่งปัญหา ที่มา....ที่ไป!!!

จริง ๆ แล้ว สมัยยังเป็นนักวิชาการประมง ผมไม่มีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ คืนนี้ขอนอนดึกเสิร์ชหาข้อมูลตามความตั้งใจ เผื่อจะได้ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์บ้าง

ข้อมูลสำคัญที่ค้นคว้าหาได้ สรุปไว้ประมาณนี้ครับ...

หมอคางดำ เป็นปลาน้ำกร่อย พบทั่วไปตามพื้นที่ป่าชายเลน ถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก อยู่ได้ทั้งในสภาวะความเค็มสูงและความจืดสนิท โตเต็มที่รายงานพบขนาดความยาวเกือบๆ หนึ่งฟุต!!!

สืบพันธุ์วางไข่ได้รอบเร็ว โดยธรรมชาติวางไข่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้น (ไม่มีรายงานชัดเจนว่าสามารถสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดที่ไม่มีเขตติดต่อทะเลได้หรือไม่)

ในสภาวะปกติตัวผู้จะดูแลอนุบาลไข่หลังผสมพันธุ์ในปากในช่วงระยะวัยอ่อน ลูกดก ตายยาก อึด ทน!!!

ประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบปัญหาการรุกล้ำของสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้ มีรายงานพบการแพร่ระบาดหลายภูมิภาคของโลก ทั้งแถบทวีปอเมริกาเหนือ หมู่เกาะฮาวาย ประเทศฟิลิปปินส์ ฯลฯ ส่วนใหญ่หลุดรอดจากการเลี้ยง!!!

งานวิจัยบางส่วนกล่าวถึงผลกระทบเชิงลบ มีรายงานว่าการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุของความแออัดและส่งผลให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่

มักก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจหากหลุดรอดไปยังบ่อเลี้ยงปลา เช่น กรณีฟาร์มเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในฟิลิปปินส์

ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ ทำให้ผมเข้าใจว่าหมอคางดำกินปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สัตว์น้ำอื่นๆ หมดสิ้นไปจากแหล่งน้ำนั้นๆ

จริงๆ แล้วไม่น่าจะใช่ งานวิจัยที่อ้างอิงได้ ระบุว่าหมอคางดำ ส่วนใหญ่กินซากพืชซากสัตว์ หอยสองฝาขนาดเล็ก ๆ แพลงค์ตอนสัตว์ รวมถึงแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณพืชน้ำหรือรากไม้ ชอบหากินกลางคืนมากกว่ากลางวัน

เพราะมีจุดแข็งหลายข้อ ตามที่กล่าวข้างต้น สัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้จึงยึดครองแย่งเจ้าถิ่นเดิมพันธุ์พื้นเมืองตลอดแนวชายฝั่งหลายพื้นที่ได้แบบเบ็ดเสร็จ

เมื่อปราบไม่หมด การสนับสนุนบริโภคคือหนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐส่งเสริม

เจ็บแล้วต้องจำครับ การถอดบทเรียนกรณีหมอบัตเตอร์ หมอคางดำ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการการแพร่กระจายสัตว์น้ำต่างถิ่น…ในอนาคต!!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top