ถ้าใครได้ชมซีรี่ส์เรื่อง 'แม่หยัว' ในตอนแรก จะปรากฏฉากการประหารยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการประหารยุวกษัตริย์ที่เราได้เห็นนั้นไม่ใช่แค่พระองค์เดียว แต่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นรวม 5 ครั้ง ตลอด 200 กว่าปีแห่งความเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา มีพระองค์ใดบ้าง ? และเหตุแห่งการประหารเกิดขึ้นเพราะอะไร ? ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันดังนี้ครับ
ยุวกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์คือ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' หรือ 'สมเด็จพระเจ้าทองลัน'พระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' กษัตริย์พระองค์แรกจากวงศ์สุพรรณภูมิและพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระมาตุลาของ 'สมเด็จพระราเมศวร' พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาอยู่ราว 1 ปี 'ขุนหลวงพะงั่ว' จึงเสด็จ ฯ มาถึงกรุงศรี ฯ (น่าจะยกกองทัพมาด้วยเพื่อทวงราชบัลลังก์) ด้วยความเกรงในพระราชอำนาจ 'สมเด็จพระราเมศวร' จึงถวายพระราชบัลลังก์ให้กับพระมาตุลาของพระองค์ส่วนพระองค์ก็เสด็จฯ กลับลพบุรี โดย 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' ครองบัลลังก์อยู่ 18 ปี ก็สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อในปี พ.ศ 1931 แต่ผ่านไปเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น 'สมเด็จพระราเมศวร' ก็ทรงยกกองกำลังมาจากลพบุรี แล้วเข้ายึดอำนาจอย่างเสร็จสรรพ ตามสิทธิธรรมที่พระราชบัลลังก์นี้ เป็นของพระองค์มาก่อน โดยพระองค์รับสั่งให้กุมตัว 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' ยุวกษัตริย์วัย 15 พรรษา ไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จฯ ลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”
ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่ทรงตกเป็นเหยื่อแห่งการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็คือ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ผู้มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร' ซึ่งทรงครองราชย์อยู่เพียง 4 ปี ก็สวรรคตด้วยไข้ทรพิษในปี พ.ศ. 2076 และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางได้สนับสนุนให้ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ขึ้นครองราชย์ ซึ่งในเหล่าขุนนางทั้งหลายนั้น เชื่อกันว่ามีโต้โผใหญ่ที่อาจจะมีศักดิ์เป็น 'ตา' ของ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' เป็นผู้ผลักดัน เพียงเพราะอยากได้อำนาจผ่านหลาน โดยมองข้าม 'พระไชยราชา' พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอันเกิดจากพระสนม ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเรื่องราวก็เป็นไปตามคาดเวลาผ่านไปเพียงไม่เกิน 5 เดือน 'พระไชยราชา' ก็ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับกุมตัว 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นฉากที่เราได้เห็นในซีรี่ย์เรื่อง 'แม่หยัว' นั่นเอง จากนั้นพระไชยราชาก็ปราบดาภิเษกเป็น 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช'
แต่ทว่าเหมือนกรรมจะตาม 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' ทัน เพราะยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจนั้นก็คือ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' หรือ 'สมเด็จพระแก้วฟ้า' พระราชโอรสของ 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' กับ แม่อยู่หัว (แม่หยัว) ศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง โดย 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ในปี พ.ศ. 2089 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ซึ่งอำนาจที่แท้จริงนั้นไม่น่าจะเป็นของพระองค์เพราะในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า
"นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทราย ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า.....”
นั่นก็คืออำนาจทั้งหมดอยู่ที่ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ซึ่งพระองค์มีเรื่องลับลมคมนัยอยู่กับ 'ขุนวรวงศา' และเรื่องกำลังแดงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปฏิปักษ์บางกลุ่มก็กำจัดได้ บางกลุ่มก็ยังคงเป็นเสี้ยนหนาม และถ้า 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงเติบใหญ่จนคุมไม่ได้การณ์ข้างหน้าก็จะเป็นภัย ทำให้ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ออกอุบายดำเนินการรุกฆาตด้วยการเอา 'ขุนวรวงศา' ขึ้นเป็นกษัตริย์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า
“....จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแต่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นเป็นประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีรู้พระอัชฌาสัยก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ก็ควรอยู่....”
ซึ่งแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ก็รวบรัดตัดตอนตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจากนั้นก็ดำเนินการสำเร็จโทษ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' โดยมีบันทึกไว้ว่า
“ครั้นศักราช 891 ปีฉลู เอกศก (พ.ศ.2072) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับสองเดือน”
ต่อมาอีกราวเกือบ 100 ปี ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 4 ที่ต้องมีชะตากรรมถูกสำเร็จโทษก็คือ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาที่ 2' พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน 'สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม' ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษาเศษ โดยพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนจาก “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ขุนนางสำคัญตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าท่านออกญาฯ คือโอรสลับของ 'สมเด็จพระเอกาทศรถ' ซึ่งในกาลต่อมาท่านออกญาฯ ก็ยึดอำนาจขึ้นครองราชย์เป็น 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง'
จุดหักเหของ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ผ่านไปแล้ว 4 เดือน มารดาของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ได้ถึงแก่กรรม จึงมีขุนนางน้อยใหญ่ไปช่วยงานกันมาก ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เสด็จ ฯ ขึ้นว่าราชการจึงทำให้มีขุนนางเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนน้อย ด้วยความเยาว์หรืออย่างไรก็ไม่ทราบเมื่อมีขุนนางเพ็ดทูลว่า “ออกญากลาโหมคิดกบฏเป็นแน่แท้” พระองค์ก็ทรงเชื่อตามนั้น ก็เลยทรงรับสั่งให้ทหารขึ้นประจำป้อมล้อมวัง พร้อมรับสั่งให้ขุนมหามนตรีไปลวงออกญากลาโหม ว่าพระองค์รับสั่งให้เฝ้า ฯ แต่ฝั่งออกญา ฯ ได้ทราบแผนเสียก่อน จนออกปากว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราจะทำตามรับสั่ง" ว่าแล้วจึงยกกองกำลัง 3,000 นาย เข้ายึดวังหลวงพร้อมกับไล่ตามจับกุมตัว “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ซึ่งเสด็จฯ หนีไปได้ที่ป่าโมกน้อย ก่อนกุมตัวพระองค์ไปสำเร็จโทษ โดย “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงครองราชย์อยู่ราว 1 ปีเศษ
ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพระองค์สุดท้ายคือ “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสใน “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” เป็นพระราชอนุชาของ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมเชษฐาด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ในปี พ.ศ. 2172 ด้วยพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่ทรงเล่นสนุกไปตามประสา จนผ่านไปราว 30 กว่าวัน เหล่าขุนนางทั้งหลายต่างอดรนทนไม่ได้ จึงรวมตัวกันพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปขอร้อง “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ให้ขึ้นครองราชย์ เพื่อเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย (ตรงนี้อยากให้อ่านเพลิน ๆ โดยผมแนะนำว่าควรหาเอกสารอื่นประกอบ เนื่องจากมีบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นแผนการทางการเมืองของออกญาฯ มีชื่อท่านนั้น) เมื่อเป็นดังนี้ท่านออกญาฯ จึงไม่สามารถปฏิเสธการร้องขอได้ จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” แล้วทรงถอด “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ออกจากกษัตริย์ แต่ยังคงให้ทรงประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงกับพระนมพี่เลี้ยงก่อนที่ต่อมาจะถูกไล่ออกจากวัง ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ข้างวัดท่าทราย มีคนรับใช้ตักน้ำหุงข้าวให้ 2 คน เท่านั้น ถึงตรงนี้เดาได้เลยว่า “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” คงทำตัวไม่ถูก และคงจะทรงอึดอัดขัดข้องพระทัยมิใช่น้อย จนถึงปี พ.ศ. 2172 เมื่อ พระองค์เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา จึงทรงเกิดทิฐิมานะขึ้น โดยพระองค์ทรงรวบรวมขุนนางที่ถูกออกจากราชการได้ราว 200 คน เป็นกองกำลังยกเข้าไปในวังเพื่อหมายจะยึดอำนาจคืน แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดนทหารของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” หรือในขณะนั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” จับกุมได้จึงถูกนำตัวไปสำเร็จโทษเฉกเช่นเดียวกับพระบรมเชษฐาของพระองค์
มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าบรรดายุวกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจของผู้มากบารมีที่เข้มแข็งที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายุวกษัตริย์ทั้งหลายแม่จะครองราชย์ตามโบราณราชประเพณี แต่กระนั้นก็คงไม่มีพลังใด ๆ พอที่จะปกป้องตนเอง จึงทำให้ต้องถูกสำเร็จโทษตกไปตามกัน ซึ่งการแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ที่เป็นปัจจัยให้ราชธานีแห่งนี้ ค่อย ๆ เสื่อมถอย อ่อนแอ จนถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2310