20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรกที่ได้ก้าวเหยียบผิวดวงจันทร์ ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ผู้คน 530 ล้าน ร่วมเป็นสักขีพยาน
วันนี้เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อ ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Alden Armstrong) นักบินอวกาศชาวสหรัฐอเมริกาก้าวลงเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทำให้เขาได้รับการบันทึกว่า…เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ มีผู้คนราว 530 ล้านคนทั่วโลก ที่เฝ้ารับชมการถ่ายทอดสด
‘อะพอลโล 11’ เป็นยานอวกาศลำแรกขององค์การนาซา ที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จ โดย ‘อะพอลโล 11’ ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด ‘แซเทิร์น 5’ ที่ฐานยิงจรวด 39A แหลมเคเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมพ.ศ. 2512 ก่อนแยกยานลงดวงจันทร์ไปลงจอดบริเวณ ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ (Mare Tranquilitatis) ได้สำเร็จ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512
สำหรับลูกเรือในยานอวกาศนั้นประกอบด้วย ‘นีล อาร์มสตรอง’ ผู้บังคับการ, ‘บัซ อัลดริน’ นักบินยานลงดวงจันทร์ และ ‘ไมเคิล คอลลินส์’ เป็นนักบินยานบังคับการ โดยมี ‘นีล อาร์มสตรอง’ เป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมาประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ก่อนจะตามมาด้วยสองนักบินอวกาศที่โดยสารมาด้วยกัน โดยภารกิจของทั้งสามนักบินในครั้งนั้นคือการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว, กระจกสะท้อนเลเซอร์, เครื่องวัดลมสุริยะ, และเก็บตัวอย่างหินและดิน 21.6 กิโลกรัม นำกลับมายังโลก
ซึ่งใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์รวม 21 ชั่วโมง 36 นาที ใช้เวลานับตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับถึงโลก 195 ชั่วโมง 18 นาที 35 วินาที โดยเดินทางกลับมาลงจอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ยานอวกาศอะพอลโล 11 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอะพอลโล ซึ่งเกิดจากความปรารถนาของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ต้องการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้สำเร็จ และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันวิวัฒนาการของโลกก้าวล้ำไปอย่างมาก มีการวางแผนสร้างสถานีอวกาศ เพื่อเดินทางออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของระบบสุริยะอีกมากมาย
ทำให้นึกถึงประโยค ‘อมตะ’ ของ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ที่ได้เอ่ยขึ้นในช่วงเวลาที่สัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกว่า.. “That's one small step for man, one giant leap for mankind.” มีความหมายว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
ซึ่งตอกย้ำว่า ‘ก้าวแรก’ ของการเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนั้น ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับมนุษยชาติอยู่เสมอ
