Tuesday, 22 April 2025
เศรษฐศาสตร์

‘บก.ลายจุด’ โชว์กึ๋นเศรษฐศาสตร์ ชำแหละ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้!! หากแหล่งที่มาคือการสร้างหนี้ จะเกิดเงินเฟ้อ-ข้าวของแพงขึ้น

(27 ส.ค. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ระบุว่า…

เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลลวอลเล็ต

- GDP ไทย 2022 อยู่ที่ 19.8 ล้านล้านบาท

- ดิจิทัลวอลเล็ต 540,000 ล้านบาท

- เพื่อไทยบอกว่าที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณ ตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อมาทำโครงการ ในข้อเท็จจริง การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อ GDP การชักเอาเงินออกจากการใช้จ่ายภาครัฐมาเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงยังสงสัยว่า กำลังซื้อภาครัฐที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อ GDP อย่างไร และเมื่อเทียบกับการให้การใช้เงินอยู่ในมือประชาชนจะส่งผลดีกว่าการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่เท่าใด และเมื่อคำนวณ GDP ก็ต้องไปตัดลดส่วนของค่าใช้จ่ายภาครัฐลงแล้วบวกด้วยค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน

- การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้รับการอัดฉีดผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อถึงที่สุดแล้วจะส่งผลต่อปัจจัยการนำเข้ามากน้อยเพียงใด เมื่อห่วงโซ่การผลิตและสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญในการบริโภคในไทย ทั้งนี้รวมถึงการบริโภคพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตีฟู ที่ต้องกล่าวถึงปัจจัยการนำเข้าเพราะจะมีผลต่อการคำนวณ GDP

- การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนควรต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพและแข่งขันได้ คำถามคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใช้งบประมาณรัฐสูงขนาดนี้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร อันจะเป็นการชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง

- การแจกเงินหมื่นให้ประชาชน หากตกอยู่ในมือประชาชนผู้มีรายได้น้อยพวกเขาย่อมใช้จ่ายเงินนั้นอย่างเต็มที่ในการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างเห็นได้ชัด แต่หากตกอยู่ในมือผู้มีรายได้ระดับหนึ่งที่ไม่มีความเดือดร้อน โอกาสที่ประชาชนเหล่านั้นจะใช้เงินหมื่นนี้ในการลดค่าใช้จ่ายประจำของตนเอง โดยเก็บเงินในบัญชีตนเองไว้แล้วใช้เงินในวอลเล็ตแทน เม็ดเงินดังกล่าวก็จะไม่ก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและกลายเป็นเงินเก็บในบัญชีของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามอาจโต้แย้งได้ว่าจำนวนคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจอยู่แล้วมีไม่มากนักเมื่อเทียบคนจนในประเทศ

- สภาวะทางเศรษฐกิจช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินอยู่จะเป็นช่วงกระทิง ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันคึกคัก แต่หลังโครงการจบทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่้ภาวะใกล้เคียงก่อนหน้านั้น จมูกที่พ้นน้ำก็ต้องกลับมาอยู่ในระดับเดิม และอะไรคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะต่อจากนั้นเพราะนี่คือพลังบริโภคเทียม

- เราต้องไม่ลืมว่าไม่มีอะไรฟรี หากแหล่งที่มาของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้มาจากการสร้างหนี้ นี่คือการใช้เงินของคนไทยในอนาคต และการลงทุนนั้นมีหลักอยู่ว่าสิ่งที่ลงทุนไปควรได้รับประโยชน์กลับคืนมากกว่าหรือไม่น้อยกว่าที่ลงทุนไป ต่อให้ผู้ชำระเงินเป็นคนไทยในอนาคตก็ตามที และยังมีปัญหาเงินเฟ้อข้าวของแพงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงโดยง่ายหลังสินค้าขึ้นราคา

ปล.คุณสามารถตำหนิผมได้ โดยการอธิบายและโต้แย้งหักล้างสิ่งที่ผมอธิบาย

โอกาสมาแล้ว!! เรียนต่อด้าน บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ที่ เมืองเฉิงตู Southwestern University of Finance and Economics

(6 เม.ย.67) Southwestern University of Finance and Economics มหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสาขาวิชา บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจะศึกษาทางด้านศาสตร์วิชาดังกล่าว โดยได้เปิดรับสมัครแล้ว วันนี้!!
 

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 1)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากแบงก์ชาติ อธิบายถึงเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง เพราะเศรษฐศาสตร์คือเรื่องของการตัดสินใจท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัดและความต้องการที่ไม่สิ้นสุด การเข้าใจเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเงิน การลงทุน หรือการเลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

โดยได้อธิบายแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เราควรรู้ ได้แก่...

>>การตัดสินใจเลือก (Trade-offs) ทุกครั้งที่เราทำการตัดสินใจ เราต้องเลือกสิ่งหนึ่งและเสียอีกสิ่งเสมอ เช่น การเลือกทำงานพิเศษแทนการพักผ่อน

>>ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เมื่อเลือกทำบางอย่าง เราเสียโอกาสจากการทำสิ่งอื่น เช่น ถ้าเลือกลงทุนในหุ้นก็เสียโอกาสจากการฝากเงินธนาคาร และค่าเสียโอกาสก็คือเราอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่เราควรจะได้รับนั่นเอง

>>ทรัพยากรมีจำกัด (Scarcity) โลกนี้มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเวลา เราจึงต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร 

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 2)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย...

>>ผลิตอะไร (What to produce?) ผู้ผลิตต้องเลือกว่าควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปผลิตสินค้าหรือบริการใดที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากที่สุด

>>ผลิตอย่างไร (How to produce?) ในการผลิตเราต้องคำนึงถึงต้นทุน วิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

>>ผลิตเพื่อใคร (For whom to produce?) ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อใคร เช่น ผลิตอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้สูง

และตัวแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ หรือ ตัวจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ คือ 

>>กลไกราคา (Market mechanisms) โดยราคาสินค้าจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ตลาดปรับตัวตามอุปสงค์และอุปทาน เช่น เมื่อราคาสูง ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลง

>>อุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) เมื่อความต้องการสินค้า (อุปสงค์) พบกับปริมาณสินค้าที่มีในตลาด (อุปทาน) จะเกิดราคาที่เหมาะสมสำหรับสินค้านั้น เราจะเรียกจุดนั้นว่า ราคาดุลยภาพ และปริมาณดุลยภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงราคาและปริมาณดุลยภาพก็เกิดได้จากอีกหลายปัจจัย เช่น อุปสงค์ที่มากขึ้น หรืออุปทานที่น้อยลง

>>>ความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทาน (Elasticity) หมายถึงความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า เช่น ถ้าสินค้าไหนที่ราคาขึ้น เราอาจจะลดการบริโภคสินค้านั้นลงเลย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่จำเป็นจะมีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ อย่างเช่น ยารักษาโรค ที่ต่อให้ราคาเพิ่งสูงขึ้น เราก็ยังคงบริโภคอยู่ดี

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 3)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายถึงหลักศรษฐศาสตร์ที่ยังแบ่งออกมาได้เป็น 2 แขนง คือ 

>>เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษาปัจจัยเศรษฐกิจระดับประเทศ เช่น การเจริญเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน และนโยบายทางการเงิน

>>เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) จะเน้นศึกษาการตัดสินใจของบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กในตลาด เช่น การตั้งราคาสินค้าของร้านค้า

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 4)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้อธิบายเรื่องการวัดว่าเศรษฐกิจของเราเติบโตได้ขนาดไหน โดยเราจะวัดจาก...

>>GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) คือมูลค่าของสินค้าหรือบริการทั้งหมดที่ประเทศหนึ่งผลิตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย รายจ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชน รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน รายจ่ายของรัฐบาล มูลค่าการส่งออกสุทธิ 
เงินเฟ้อ

>>อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เงินเฟ้อคือสิ่งที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นและกำลังซื้อของประชาชนลดลงโดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะทำไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจโดยรวมที่ตั้งไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย 

>>นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) รัฐบาลของแต่ละประเทศจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้จ่ายเงินกับโครงการสาธารณะ หรือเก็บภาษีเพื่อลดเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งนโยบายต่างๆมักจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงซบเซา

>>นโยบายการเงิน (Monetary policy) ธนาคารกลางใช้การปรับอัตราดอกเบี้ยหรือปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบผ่อนคลายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา และตึงตัวในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป และยังมีเรื่องเพิ่มเติมที่น่าสนใจ เช่น

>>การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ประเทศต่าง ๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น หรือการผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ การที่แต่ละประเทศมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนและเทคโนโลยีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง 

>>การออมและการลงทุนในเศรษฐกิจ (Savings and Investment in the Economy) การออมเงินและการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต การออมสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว และยังช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับอนาคต โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยที่การออมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเตรียมตัวรับมือกับการเกษียณ 

>>เสถียรภาพของระบบการเงิน (Financial Stability) ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การควบคุมหนี้สินและอัตราเงินเฟ้อจะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

>>บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ (The Role of Government in the Economy) เมื่อเกิดความล้มเหลวของตลาด รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยจัดการทรัพยากรและควบคุมราคาสินค้าบริการที่จำเป็น เช่น การผลิตสินค้าและบริการสาธารณะ เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรม

>>การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resource Management) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การใช้น้ำและพลังงานอย่างประหยัด เป็นการรักษาทรัพยากรเพื่อคนรุ่นหลัง การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดแคลนในอนาคตและส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ 

เพราะเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขและการคำนวณ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน การเข้าใจหลักการเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านค่ะ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top