Tuesday, 22 April 2025
เศรษฐพุฒิ_สุทธิวาทนฤพุฒิ

‘นายกฯ เศรษฐา’ ร่วมอัปเดตเศรษฐกิจ ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ยัน!! ไม่มีความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างรับฟังกันด้วยเหตุผล

(2 ต.ค. 66) ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาเข้ากระทรวงการคลัง หลังจากก่อนหน้านี้ ได้หารือ กับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเนียบ เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเข้ากระทรวงการคลังนั้น นายเศรษฐา ได้มีคำสั่งเรียกหน่วยในกระทรวงการคลังมาพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้ง เรียกพบหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เข้าพบ เพื่อติดตามสถานการณ์เรื่องอุทกภัย และน้ำแล้งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน (อีอีซี) ด้วย

โดยนายเศรษฐา กล่าวถึงกรณีที่ได้หารือ กับนายเศรษฐพุฒิ ว่าเป็นการพบกันธรรมดาในฐานะผู้บริหารสูงสุด ในฐานะนายกก็ต้องรับฟังความเห็นผู้บริหารเป็นธรรมดา โดยเน้นเรื่อง เศรษฐกิจโดยรวม ส่วนเรื่องนโยบายก็รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ส่วนรายละเอียดนั้นขอไม่เปิดเผย

“ยืนยันว่าคุยกันด้วยดี และจะมีการนัดพบกันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีประเด็นเรื่องความขัดแย้ง ไม่มีแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจร่วมกัน ได้คุยกันในทุกเรื่อง แน่นอนว่าหลังจากนี้ ต่างฝ่ายจะนำข้อมูลกลับไปทบทวน ไม่เช่นนั้นจะเรียกมาพบทำไม ไม่ได้เรียกมาจัดฉากเพื่อทะเลาะกัน แต่เรียกมาพูดคุยกันเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งผู้ว่า ธปท. ก็ดูแลสภาพการเงินการคลังของประเทศ ถ้าผมเชิญท่านมา ก็ต้องให้ความสำคัญกับท่าน ส่วนตัวผมกังวลมีข้อกังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของ นายเศรษฐพุฒิจากที่ได้รับฟัง ก็มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งต่างคนต่างเป็นผู้ใหญ่ จะให้เห็นด้วยกันทุกเรื่องไม่ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล ส่วนการคุยมีผลให้ปรับนโยบายไหมนั้น ยังไม่มี แต่ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน และต้องพูดคุยกันต่อเนื่อง

“เดี๋ยวเย็นนี้ จะมีการโทรศัพท์คุยกันอีก ส่วนนัดหารือครั้งต่อไปคืออีก 2-3 อาทิตย์ หรือ อาจจะเร็วกว่านี้ หากมีความต้องการ แต่ก็จะมีการคุยกันให้บ่อยขึ้น และผู้ว่า ธปท. ก็ฝากนโยบายหลายเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดไว้เลย แต่ท่านก็ฝากมาว่า น่าจะทำส่วนนี้นะ และนโยบายอนาคตหลายเรื่อง ตนก็ได้เรียนถามท่านไปว่าผมคิดอย่างนี้ ท่านมีความเห็นอย่างไร สรุปคือ ต่อไปนี้ ถ้าผมทำอะไรจะคุยกับท่านบ่อยขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

ย้อนอดีต 'ลุงตู่' ตั้ง 'เศรษฐพุฒิ' นั่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยก!! เป็นคนรุ่นใหม่ 'คุณวุฒิ-วิสัยทัศน์' มาเป็นอันดับ 1

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในขณะนั้น ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีมติเห็นชอบให้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ว่า...

เซ็นแต่งตั้งแล้ว ตามที่ได้มีการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท.ของคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และเสนอชื่อขึ้นมา โดยคัดสรรจากคุณวุฒิ คุณสมบัติ การแสดงทัศนคติ วิสัยทัศน์ ซี่งมีคะแนนมาอันดับ 1 ไม่ใช่ตนกำหนดใครได้ที่ไหน เขาเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยงานบ้าง ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ไม่กล้ากันหมด ต้องให้กำลังใจและสนับสนุนกันต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการประเมินกันอยู่แล้ว ตนก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงอำนาจใคร อำนาจของใครก็ไปว่ากันมา"

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ทางออกเศรษฐกิจไทย หากไม่ปรับโครงสร้างใหญ่ หมดสิทธิโตเกิน 3%

(5 ก.ค. 67) เพจ ‘Salika’ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการหาทางออกให้กับทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุแบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 66-71 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 คือ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%

การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ขณะที่การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

วิวาทะเดือด!! ผู้ว่าแบงก์ชาติ VS รมว.พาณิชย์

จากช่วงหนึ่งของปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา 'Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน' ในหัวข้อ 'สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand' เมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 โดย 'นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้กล่าวว่า...

"การเติบโตของประเทศไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเติบโตแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องหาการเติบโตแบบใหม่ โดยเฉพาะในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลขการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) แต่ต้องพิจารณาในส่วนของจีดีพี หรือเอฟดีไอ จะสามารถสร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้มากน้อยเท่าใด เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือความมั่งคั่งรายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา เพราะตัวเลขที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เราจึงต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศมากขึ้น"

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้กล่าวตอบโต้ผ่านช่วงหนึ่งภายหลังการเผยถึงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนิน 10 นโยบายสำคัญ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 ด้วยว่า...

"ผมไม่ได้เป็นคู่แค้นกับแบงก์ชาติ แต่ที่ผ่านมาค่าเงินประเทศคู่แข่งอ่อนแต่ของไทยไม่อ่อน ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ผมยังงงว่าผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาพูดในเชิงว่าประเทศไทยไม่ต้องไปมุ่งเน้นจีดีพีมาก ผมไม่รู้ท่านเรียนจบจากที่ไหนมา เพราะเป็นความคิดที่ผิด เพราะจีดีพีคือ รายได้ของประเทศ หากไม่มีรายได้จะเอาเงินที่ไหนมากระจายให้ประชาชน...

"ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติพูดเหมือนคนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร มันเป็นวิธีคิดที่ผิดปกติ จะทำนโยบายแค่ให้คนมีความสุขมันไม่ได้ เพราะถ้าคน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้เพิ่มคนจะมีความสุขได้อย่างไร ยิ่งมีภาระหนี้เยอะยิ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ผมจะนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เพื่อทำความเข้าใจและหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว"

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้!! ถึงเฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าไทยต้องลดตาม แจง!! การลดดอกเบี้ยของไทยควรขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก

(20 ก.ย. 67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ว่า กรณีเฟดไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด การที่เฟดลดดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ใน 3 ปัจจัย กล่าวคือ แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อ จะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และเสถียรภาพด้านการเงิน แต่การพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วย

ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวม ที่ต้องคำนึงถึงผ่าน 3 ปัจจัยนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับการตัดสินใจต่อนโยบายดอกเบี้ยของไทยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้เคยประเมินไว้ โดยยังคง Outlook Dependent ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสม ถูกต้อง

นอกเหนือจากนี้ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิม กับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากว่า การลดดอกเบี้ยนั้น ผลที่จะส่งต่อไปยังการลดภาระหนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การปรับลดดอกเบี้ย ผลที่จะได้รับอาจไม่มากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ และจะคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที คงไม่ใช่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top