Wednesday, 23 April 2025
เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า

ถอดรหัสโอกาสจาก ‘ผืนป่า’ ผ่านมุมมอง ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ หากมนุษย์รู้จักบริบาลป่า ป่าก็พร้อมบริบาลมนุษย์กลับคืน

จากรายการทันข่าววุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 ได้เชิญ 'อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' รองประธาน กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาร่วมพูดคุยถึงประเด็น ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ แบบเจาะลึก โดยเนื้อหาดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้…

อ.วีระศักดิ์ มองว่า ในสมัยหนึ่ง มนุษย์มองเรื่องของ ‘ป่า’ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยมนุษย์จะบริบาลหรือดูแลรักษาป่าไว้เพื่อรักษาความชื้น เพื่อให้เป็นที่อยู่ให้สัตว์ป่า หรือก็คือ…มองป่าในเชิงของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติดังกล่าวมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างป่า กับ มนุษย์ ค่อย ๆ เกิดช่องว่าง ป่าจะเป็นได้เพียงแค่ผู้ช่วยที่ทำให้เกิดอากาศดี และเป็นที่ธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพบางประเภทให้กับมนุษย์เท่านั้น

ทว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มเข้าไปรุกล้ำป่ามากขึ้น หรือก็คือ…แทบจะไม่มีพื้นที่ไหน ที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากป่า และเริ่มมองหา ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ อย่างจริงจัง แต่เป็นการหาประโยชน์ที่ขาดซึ่งบริบาลป่าควบคู่กันไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะองค์ความรู้ และบุคลากรที่พร้อมจะช่วยบริบาลป่าได้อย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนกับสังคมปัจจุบันที่เข้าสู่ ‘ยุคสูงวัย’ แต่ขาดระบบในการดูแลจัดการคนกลุ่มนี้ รวมถึงคนที่มีความชำนาญในการมาดูแลพวกท่าน เป็นต้น

ทั้งนี้ เหตุผลที่เทียบ ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ กับ ‘ยุคสูงวัย’ นั้น เพราะ อ.วีระศักดิ์ พยายามจะเน้นย้ำให้เห็นถึงมิติของการบริบาล หรือการดูแล เพื่อให้ป่าพร้อมที่จะกลับมาดูแลมนุษย์คืนกลับต่อไป ไม่ใช่มองป่าเป็นเพียงเศรษฐกิจที่เอาไว้กอบโกย แต่ไม่เคยคืนหรือดูแลป่าไม้กลับ

“เดิม ‘ชาวตะวันตก’ ที่เข้ามาได้สัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยในยุคช่วงหลังล่าอาณานิคม เคยแนะนำให้ประเทศไทยสร้าง ‘กลุ่มป่าไม้’ หรือ หน่วยงานราชการที่ว่าด้วยเรื่องป่าไม้กันมาแต่ก็ตั้งแต่ช่วงนั้น เพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุกและถูกทำลาย เพราะเขามองเห็นว่าในอนาคตกลุ่มคนที่เข้ามาทำลาย และเข้าไปได้เศรษฐกิจจากป่ากลับไปนั้น จะทำให้ป่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย และนานวันป่าก็ยิ่งมีแต่ต้องมอบเศรษฐกิจให้แก่มนุษย์ฝ่ายเดียวมากขึ้น ผ่านการมอบสัมปทานให้กับภาคเอกชน ที่ตัดป่าไม้ไปเพื่อการส่งออกไม้ในเชิงของอุตสาหกรรม ไปทำเฟอร์นิเจอร์ ไปต่อเรือ รวมไปถึงกลุ่มที่ลักลอบตัดไม้ไปขาย ซึ่งปัจจุบันก็คงเห็นแล้วว่าป่าไม้ในไทยถูกตัดกันจนเหี้ยนแล้วจริง ๆ” 

จากจุดนี้ อ.วีระศักดิ์ จึงมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมาสนทนากันอย่างจริงจังถึง ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าในยุคปัจจุบัน’ โดยระหว่างช่วงแรมปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้มีการไปร่วมพูดคุยกันอย่างจริงจังที่จังหวัดแพร่ โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะฟื้นฟูให้ ‘โรงเรียนป่าไม้แพร่’ ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นสะพานไปสู่เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าแห่งยุคปัจจุบัน

อ.วีระศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า นี่เป็นเสมือนการชุบชีวิตโรงเรียนป่าไม้แพร่ให้ฟื้นกลับมาใหม่ ในฐานะของ ‘สถาบันการศึกษา’ โดยจะมีกิจกรรมหลักสูตรที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนเพื่อรับเป็นเครดิตในระดับปริญญาได้เป็นครั้งแรก หลังโรงเรียนป่าไม้แพร่ของกรมป่าไม้ถูกปิดตัวไปกว่า 30ปี

ทั้งนี้ หลักสูตรที่เปิด นอกจากการเรียนเรื่องการปลูกป่า รักษาป่า การพัฒนาพันธุ์ไม้ป่า การใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เก็บได้จากป่ามาทำมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำถ่านกัมมันต์จากเปลือกไม้ จากฟาง จากขี้เลื่อยแล้ว ยังมีหลักสูตรรุกขกรตัดแต่งกิ่งไม้ การออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้ การตรวจพิสูจน์ไม้ การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริหารป่าชุมชน การทำสวนป่า การทำฝายในป่า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ตั้งโรงเรียนป่าไม้แพร่ได้กลับมามีชีวิตชีวา และสามารถถ่ายทอดความรู้ความชำนาญจากผู้มีทักษะความรู้กระจายให้ผู้มาเข้าหลักสูตรได้หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ว่าด้วยการเพาะพันธุ์กล้าไม้ ทั้งไม้ทั่วไป ไม้เฉพาะ ไม้เศรษฐกิจ (ไม้สัก-ไม้พะยูง) และไม้หายากด้วย ซึ่งเดิมหน่วยงานไหน สถาบันการศึกษาใดจะเพาะ แล้วไปจำหน่ายก็ตามแต่บทบาทของแต่ละหน่วย เพียงแต่ถ้าถามว่าแล้ว ความรู้ในการ การเพาะพันธุ์นั้น พอจะสอนกันได้หรือไม่ ก็นำมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันแห่งนี้ เพื่อช่วยให้เกิดการต่อยอดสร้างเศรษฐกิจจากผืนป่า ที่นำไปพัฒนาต่อทางอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ เชื้อเพลิง และอื่น ๆ ได้ต่อไป

ในอดีตแต่ดั้งเดิมนั้น โรงเรียนป่าไม้แพร่เคยถูกสร้างมาเพื่อสร้างข้าราชการที่จะบรรจุมาทำงานด้านการทำไม้ การชักลากไม้ ซึ่งเน้นการตัดสางเพื่อเปิดพื้นที่ให้ไม้ป่าสามารถเติบโตให้ลำต้นอ้วนพีมากขึ้น แต่ภายหลังเมื่อทางการไทยเปลี่ยนมาใช้การให้สัมปทานตัดไม้แก่เอกชน จึงปิดโรงเรียนป่าไม้แพร่ไป ปรากฏว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานกลับเน้นการตัดไม้ในพื้นที่ให้หมด เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนที่สุด และยังมักลักลอบตัดไม้นอกแปลงสัมปทานไว้ด้วย จนเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หลังพายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้เกิดซุงถล่มไหลลงจากเขา ทับหมู่บ้านที่อยู่ตอนล่างมากมาย รัฐบาลจึงสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ปิดป่าเลิกสัมปทานทำไม้ทั้งหมดนับแต่นั้น

นั่นจึงทำให้โรงเรียนป่าไม้แพร่ไม่ได้รับเหตุจูงใจให้เปิดขึ้นมาอีก จนภายหลังจากปี 2562 มีการแก้ไขกฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้ ยกเลิกการห้ามตัดไม้หวงห้าม ทำให้มีประชาชนปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นในที่ดินตนเอง แต่องค์ความรู้ในการบำรุงรักษา และการทำไม้เริ่มหายไป ดังนั้น การฟื้นฟูหลักสูตรทักษะการจัดการป่า การดูแลต้นไม้ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่า จึงเป็นฐานความรู้ที่จะทวีความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีคุณภาพได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อ ๆ ไป

ดังนั้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ ก็จะเป็นต้นแบบหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลักสูตรและความรู้เหล่านี้ เมื่อนำไปขยายกระจายต่อ จะสร้างความตระหนักรู้ และประโยชน์เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนและผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ใกล้ป่าหันกลับมาอยากจะปลูกป่ากันมากขึ้น

แม้เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่ายุคใหม่ จะดูน่าสนใจเพียงใด แต่ อ.วีระศักดิ์ เชื่อว่า บางคนที่พอได้ฟังแบบนี้แล้ว ก็อาจจะมีบางมุม เช่น ถ้าการตัดไม้ทำลายป่า เป็นเรื่องไม่ดี เขาก็จะไม่ตัด แต่เช่นเดียวกันเขาก็จะไม่ปลูกด้วย ฉะนั้นเศรษฐกิจว่าด้วยผืนป่านี้ยุคใหม่นี้ จึงต้องมีการผลักดันเพื่อให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นคุณค่า และเข้าใจว่าป่านั้นสามารถเป็นเศรษฐกิจได้ โดยที่ไม่กระทบและทำลายป่า แถมยังช่วยรักษ์โลกไปในเวลาเดียวกัน เช่น ในยุโรป จะมีการอนุญาตให้ตัดไม้ในป่าที่มีการกำหนดขอบเขตปลูก เพื่อไปต่อยอดเศรษฐกิจการค้าไม้ในตลาดโลก พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานไม้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดโลกร้อน อาทิ การก่อสร้างที่ใช้ไม้ทดแทน ‘ปูนซีเมนต์’ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน เนื่องจากกระบวนการผลิตประกอบไปด้วยการเผาในอุณหภูมิหลายพันองศา แถมต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากมาย เพื่อให้ได้ปูนสำเร็จออกมา และผลกระทบจากกระบวนการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น กลับกันถ้าผู้คนหันมาสร้างอาคารสูงที่ทำด้วยไม้มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ว่าไปก็จะหายไป แถมมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การก่อสร้างด้วยไม้ให้น้ำหนักที่เบากว่า แต่ทนทาน แถมไม่ก่อให้เกิดโลกร้อน ทั้งในเชิงโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เหมือนกับที่ IKEA กำลังทำอยู่กับการสร้างพื้นที่ป่าไม้ของตนเองในสวีเดน ซึ่งมีมากกว่าพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้สวีเดน ถึง 5 เท่า เป็นต้น 

ดังนั้นสำหรับประชาชนที่สนใจที่จะมองหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผืนป่า อ.วีระศักดิ์ ได้แนะนำให้เริ่มจากการเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่า ศึกษาดูว่าในพื้นที่ของท่าน ดินอยู่ในจุดไหน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ของกลุ่มพัฒนาที่ดิน / กรมอุทยาน / กระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้-ต้นไม้ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ไม่ยาก

“เราบริบาลป่า ป่าก็จะบริบาลเราครับ” อ.วีระศักดิ์ ทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top