เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2566 ชะลอลงเล็กน้อย แม้ฟื้นตัวดีในช่วงต้นปี
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2566” โดยภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 1/2566 ชะลอลงเล็กน้อย แม้ฟื้นตัวดีในช่วงต้นปี แต่ชะลอลงหลังพ้นฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับสถานการณ์หมอกควันในช่วงปลายไตรมาส กระทบการท่องเที่ยวและบริโภค อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ภาคท่องเที่ยวชะลอลง จากนักท่องเที่ยวไทยปรับลดลงหลังเร่งจัดกิจกรรมไปในไตรมาสก่อนและเทศกาลท่องเที่ยวหมดลง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. สะท้อนจากอัตราการเข้าพัก และการเดินทางทางอากาศปรับลดลง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มเที่ยวบินตรงและการเปิดประเทศของจีน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งได้ประโยชน์จากเที่ยวบินตรงมายังเชียงใหม่
รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง จากด้านผลผลิตที่ปรับดีขึ้น ทั้งข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ตามปริมาณน้ำชลประทานและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาชะลอลงจากราคาอ้อยโรงงาน ส่วนหนึ่งจากฐานสูงในปีก่อน และปริมาณอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้นทำให้ราคารับซื้อลดลง อย่างไรก็ดี ราคาข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศ
ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น จากการผลิตหมวดอาหารที่ขยายตัวหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเกษตรคลี่คลาย และความต้องการยังมีต่อเนื่อง
ด้านหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นจากชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เซรามิก และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังหดตัวตามอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอตัว
การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น แม้การใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงบ้างจากสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ แต่การใช้จ่ายหมวดบริการโดยรวมยังขยายตัวจากการเร่งตัวในช่วงต้นปี
นอกจากนี้ หมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นจากความต้องการรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ รวมถึงการส่งมอบที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุน จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการเร่งนำเข้า
ขณะที่ทิศทางการลงทุนในหมวดยานยนต์และเครื่องจักรกลปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างปรับดีขึ้น สะท้อนจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว ตามการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งงบประจำและงบลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อน ตามหมวดอาหารสดและพลังงาน ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนผู้ว่างงานที่ปรับลดลง
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรขยายตัวดี เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคแม้มีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าขยายตัวจากอุตสาหกรรมอาหาร แต่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงฟื้นตัวได้ช้าตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ประเด็นที่ต้องติดตาม(1)การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและต้นทุน(2)อุปสงค์ต่างประเทศที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด(3)ความเสี่ยงจาก ภาวะแล้งที่เพิ่มขึ้น
มาตรการทางการเงินและภัยการเงิน แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้
(1) ขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567
(2) ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้
(3) โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต่อไป
นอกจากนี้ คลินิกแก้หนี้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่ค้างชำระมากกว่า 120 วันขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
