Tuesday, 22 April 2025
เพิ่มรายได้

อีอีซี เปิดความสำเร็จ รวมพลังเครือข่ายพลังสตรีกว่า 600 คน สร้างการรับรู้คนในพื้นที่ เฝ้าระวังดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมพัฒนาสินค้าวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนอีอีซีต่อเนื่อง

วันนี้ (19 ม.ค. 2566) นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เข้าร่วมมอบนโยบายการดำเนินงานของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ปี 2566 ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลโครงการเสริมสร้างเครือข่ายการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผัง อีอีซี (EEC Woman Power) โดยมีนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีอีซี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน อีอีซี เข้ามอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายพลังสตรีอีอีซี จากพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ที่เข้าร่วมงานฯ  ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี

​โครงการ เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นับเป็นโครงการสำคัญที่ อีอีซี ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 4 ในปี 2566 นี้ เพื่อให้กลุ่มพลังสตรีใน 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 600 คน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจนโยบายต่างๆ ของอีอีซี และร่วมเป็นเครือข่ายในการดูแลเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซี ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน อีอีซี รวมถึงการยกระดับอาชีพ และผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งพลังสตรีได้มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนให้ขายสินค้าท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

'พิพัฒน์' รมว.แรงงาน รุกโรงงานอยุธยา สร้างต้นแบบสวัสดิการ ศูนย์กลางอุตฯ ภาคกลาง พร้อมแนะอาชีพอิสระเพิ่มรายได้ ให้กองทุนกู้รับงานดอก 0%

วันที่ 20 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ พบหน่วยงานภาคีภาคเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งบริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด โรงงานข้าวนครหลวง ประกอบกิจการผลิตข้าว โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้อนรับ นายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธรรมวิทย์ ศรีเกริกกริช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการผลิตและวิศวกรรม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ณ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด โรงงานข้าวนครหลวง ต.แม่ลา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา  

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีภารกิจที่ดูแลแรงงานอย่างครบถ้วนในทุกมิติ การเดินทางมาจังหวัดอยุธยา ศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาคกลาง เข้าหารือ กับบริษัทภาคเอกชน 35  บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, เทคโนโลยีดิจิตอล, ขนส่งโลจิสติกส์ และ หน่วยงานเครือข่ายแรงงาน 22 หน่วยงาน และชมสถานประกอบการที่อยุธยาในวันนี้ โรงงานข้าวนครหลวง เปิดให้เข้าเยี่ยมและนำเสนอโครงการด้านสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องแรงงาน และชื่นชมผู้บริหารบริษัทข้าว ซี.พี.จำกัด และทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานที่ดีขึ้นด้วยการจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง เช่น บริษัทร่วมโครงการ สถานประกอบการต้นแบบด้านความปลอดภัยฯ 7 ปี Zero accident ระดับต้น  และโครงการสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงาน 10 ปีซ้อน พ.ศ. 2554 - 2564

จากนั้น นายพิพัฒน์ มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   ตรวจเยี่ยมโครงการกระทรวงแรงงานพบปะกลุ่มแรงงานนอกระบบ และภาคีเครือข่ายด้านแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายธนณัฏฐ์ รุ่งแจ้ง ประธานชมรมแรงงานนอกระบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานการส่งเสริม สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย เลขานุการ รมว.แรงงาน ได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มแรงงานนอกระบบและภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน เยี่ยมบูธของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ สำนักงานประกันสังคมได้เชิญชวนแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือ ทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ กรณีชราภาพ ได้รับบำเหน็จชราภาพ ทุกเดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท และรับเงินสงเคราะห์บุตร ทุกเดือน เป็นต้น สำนักงานจัดหางานจังหวัดให้คำแนะนำแก่แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระในการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมายดอกเบี้ยต่ำ สอดคล้องกับของขวัญปีใหม่ที่ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ ได้มอบให้แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน เพื่อทุนนำไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตสินค้าได้มากขึ้น

นอกจากนี้ นายอารี ยังมอบป้ายชมรมแรงงานนอกระบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้มแข็ง และเยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยมี กลุ่มแรงงานนอกระบบ และภาคีเครือข่ายด้านแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ ณ เทศบาลเมืองบ้านกรูด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา มีแรงงานนอกระบบทั้งสิ้น 132,346 คน ส่วนใหญ่ อยู่ในภาคการขายส่งขายปลีก รองลงมาภาคเกษตรกรรม ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การผลิต และการขนส่ง การขายปลีก ตามลำดับ

1 ปี ‘กระทรวงพาณิชย์’ ใต้บังเหียน ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ช่วย ‘เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-สร้างโอกาส’ แก่ ‘คนตัวเล็ก’

ผ่านไปแล้ว 1 ปี กับบทบาทบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของนายภูมิธรรม เวชยชัย ก่อนจะลุกไปครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม ก็ได้สร้างภาพจำไว้ได้ไม่น้อย 

แน่นอนว่า หากมองในภาพโดยผิวเผิน ก็อาจพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในเรื่องของราคาสินค้ากันพอสมควร แต่หากได้พิจารณาถึงการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดท้าย ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ของ ‘ภูมิธรรม’ โดยมี 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการอย่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ และ สุชาติ ชมกลิ่น คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึง พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและทูตพาณิชย์ที่ร่วมรับฟัง จะพบว่า นโยบายในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 7 ด้าน มีความคืบหน้าที่น่าสนใจพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น…

1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 6.เร่งผลักดันส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก และ 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA 

โดยผลงานทั้ง 7 ด้าน สามารถดูแลรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ อีกทั้งยังสามารถดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเพิ่มรายได้ ก็ดูจะได้รับความพึงพอใจต่อภาคผู้ประกอบการไม่น้อย ภายหลังจาก ‘ทีมพาณิชย์’ ซึ่งมีบทบาทบูรณาการการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ 9 คณะขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เดินหน้าไปพร้อมกัน ได้แก่...  

1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์
2. ส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย 
3. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน 
4. ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์  
5. ขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า 
6. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า 
7. พัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ 
8. พัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ 
และ 9. สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ 

นอกจากนี้ ยังเน้นการทำงานเชิงรุก โดยพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องรู้จักสินค้า เข้าใจความต้องการตลาด เข้าถึงช่องทางการค้ายุคใหม่ บริหารจัดการประโยชน์ของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และ ผู้บริโภค 

นี่คือภาพโดยรวม…

แต่ถ้าแยกย่อยลงไปตาม นโยบาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส จะพบรายละเอียดที่ดูเป็นรูปธรรมอย่างมาก…

>> นโยบายเพิ่มรายได้ 
สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร โดยพืชหลัก ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มัน, ปาล์ม, ยางพารา / ช่วยเหลือเกษตรกรได้เกือบ 8 ล้านครัวเรือน / ดูแลปริมาณผลผลิตเกือบ 90 ล้านตัน / สร้างสถิติราคาซื้อขายข้าวเปลือกเจ้าได้สูงสุดในรอบ 20 ปี 

ส่วน พืชรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด, กระเทียม, หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน และ SME โดยผลักดันการค้า e-Commerce ทั้งในและต่างประเทศ เกิดมูลค่าการซื้อขาย 2,347.70 ล้านบาท อาทิ ทำ MOU กับ Rakuten ญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายสินค้าไทย / ร่วมมือกับ Amazon ขายออนไลน์ / นำสินค้าไทยขายบน Shopee มียอดขาย 71.44 ล้านบาท / เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตลาดต้องชม 251 แห่ง เพิ่มรายได้ 1,987 ล้านบาท / พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย เพิ่มรายได้ 185 ล้านบาท / ผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้า GI สร้างรายได้ 71,000 ล้านบาทต่อปี / ใช้ร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการและผลักดัน Soft Power ทั้งอาหาร ดนตรี / เชื่อมโยงร้านอาหาร Thai SELECT กับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ร้านธงฟ้า / จัดไปรษณีย์@ธงฟ้า อำนวยความสะดวกผู้ค้าออนไลน์ และประชาชน ให้บริการ Drop Off ให้บริการรับพัสดุแล้วกว่า 1 แสนชิ้น 

นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยประสานพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วง 1 ส.ค. - 30 ส.ค. จำนวน 318 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,683 ราย สร้างรายได้ 373 ล้านบาท / ตั้งเป้าจัดตลาดพาณิชย์ 935 ครั้ง ในช่วง ส.ค.-พ.ย.67 คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ HoReCa 2024, THAIFEX - Anuga Asia 2024 และ STYLE Bangkok 2024 สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท / จัด Thailand SME Synergy Expo 2024 สร้างมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท 

>> นโยบายลดรายจ่าย 
จัดโครงการ ‘พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา’ ลดราคาสินค้าจำเป็น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ก่อนเปิดภาคเรียน ลดสูงสุด 60-85% รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพได้ 8,060 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท / จัด ‘โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน’ จำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% รวม 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท / จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท / จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนประมาณวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท 

จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนให้เกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย / งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.66 - มี.ค.67 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50–55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท และขอฝากกรมการค้ารวบรวมร้านค้า เพื่อเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

>> นโยบายสร้างโอกาส
สำหรับการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก โดยจีน นำเข้าผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน CAEXPO สหรัฐฯ / นำเอกชนลงนาม MOU ซื้อขายข้าวและอาหาร ญี่ปุ่น / ผลักดันอาหาร ผลไม้ ผ้าไทย ผ่านซีรีส์วายในงาน Thai Festival Tokyo ฝรั่งเศส / นำเอกชนเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2024 คาดมูลค่าเจรจาการค้ากว่า 11,000 ล้านบาท / ใช้แคมเปญ Think Thailand Next Leve ในการบุกตลาดอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ 

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการค้าชายแดน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาเปิดด่าน เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ไทย / การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 / เปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ / การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่ ปูซาน โคฟุ เป็นต้น

ทั้งนี้ จุดที่ชวนให้สนใจในกระทรวงพาณิชย์ชุดนี้ คือ การเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์ตลาดแนวใหม่ ยกตัวอย่าง การใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป ฟรีน-เบ็คกี้ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร สุราชุมชน ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ / การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท รวมถึงการใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก ที่กำหนดวันจัดไว้ที่ 25-29 ก.ย.67 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้จัดทำ MOU กับ Sinopec ด้วยการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี / การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฮาลาล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท และยังทำงานเชิงรุกทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยสร้างโอกาสทางการค้า จากการใช้ประโยชน์จาก Big Data คิดค้า.com เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ มีสินค้าเกษตร 13 ชนิด เศรษฐกิจการค้ารายจังหวัด และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ใช้งานกว่า 220,000 คน เฉลี่ย 22,000 คนต่อเดือน

ที่กล่าวมานี้ คือ รากฐานใหม่ ที่ถือเป็นการคิดแบบนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์งานเศรษฐกิจไทยในเชิงรุก มุ่งเน้นเข้าไปเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ให้ได้ประโยชน์เสียมาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทิศทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์แบบนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในสายตาคนไทย แต่หากมันทัชใจตลาด โอกาสเก็บกินในระยะยาว ก็มีสูง...

‘รมว.พิชัย’ แถลง 10 นโยบายพาณิชย์ เร่งเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส’

(16 ก.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยที่ห้องกิตติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 

นายพิชัย กล่าวว่า ตนและท่านรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่าน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้มอบหมายงานให้ตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จและตนได้มาพบกับข้าราชการที่นี่เก่งมาก ประทับใจมีประสิทธิภาพสูง ท่านปลัดคล่องแคล่วมีแนวคิดที่ดี 

ตนได้ให้นโยบาย 10 ข้อ บางส่วนเป็นของท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำไว้ ตนจะสานต่อและเพิ่มบางเรื่องเข้าไป เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก กระทรวงพาณิชย์จำเป็นจะต้องมีการปรับตัว ปรับแนวคิด โดยคำนึงถึงการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยนโยบาย 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ ผ่านการสร้างอาชีพ และช่องทางการจำหน่าย เร่งขยายโอกาส นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพการค้าให้เป็นรูปธรรม 

2. บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคได้สินค้าดี ราคาเป็นธรรม ขณะที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายได้สุทธิเพิ่มพูนอย่างยั่งยืน

3. ทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ โดย ‘รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่’

4. แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเราเน้นแก้ปัญหาข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย และต้องแก้ให้เร็วเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และมีทั้งเรื่องใหม่ เช่น เรื่อง e-Commerce การปรับกฎหมายให้ทันเป็นเรื่องที่จำเป็น

5. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

6. เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกยิ่งกว่าเดิม ผ่านกลไกการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เปิดตลาดการค้าใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์

7. ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งเจรจาให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นส่งออกให้มากขึ้น หลังจากนี้จะมี FTA กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ

8. พานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ อยากเห็นนักธุรกิจไทยเข้มแข็งขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริง

9. ปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย สินค้าส่งออกไทยเริ่มจะล้าสมัย ต้องทำในธุรกิจใหม่ เช่น เรื่อง PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ต้องเร่งให้เกิดมากขึ้น ปีที่แล้วมีการลงทุนแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท เชื่อว่าอีกไม่นานจะเป็นหลายแสนล้านถึงล้านล้านบาท น่าจะมีธุรกิจที่ต่อเนื่องจากชิปเพิ่มขึ้นในไทยและสินค้าที่ใช้ PCB ไทย เช่น พวกสมาร์ตโฟน สมาร์ตทีวี เป็นต้น หรือ AI Big Data หวังว่าเราจะช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง สามารถสร้างการจ้างงานได้เยอะและเงินเดือนสูง

10. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดสินค้ารักสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตสินค้าที่โลกให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องระมัดระวังต้องขายของที่รักษ์ธรรมชาติไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 10 ข้อ จะเป็นทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตนเชื่อว่าด้วยศักยภาพของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เราจะสามารถนำพาการค้าการลงทุนของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะมีทั้งคนหนุ่มสาวและคนอาวุโสให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งตนเปิดรับตลอดใครมีไอเดียและแนวคิดพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาช่วยพัฒนากระทรวงไปด้วยกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top