Sunday, 20 April 2025
เพนตากอน

สื่อดังแฉ ‘ข่าวกรองเพนตากอน’ ผิดพลาด ทิ้งระเบิดมั่ว สังหารผู้บริสุทธิ์กว่า 1,300 คน

เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เองระบุ ปฏิบัติการทางอากาศของอเมริกาในตะวันออกกลางมี “ข้อผิดพลาดร้ายแรงด้านข่าวกรอง” ส่งผลให้พลเรือนหลายพันคน ซึ่งรวมถึงเด็กมากมายต้องสังเวยชีวิต

รายงานของสื่อดัง “นิวยอร์กไทมส์” เมื่อวันเสาร์ (18 ธ.ค.) โดยอ้างอิงเอกสารลับของเพนตากอนกองใหญ่ที่ครอบคลุมการเสียชีวิตของพลเรือนกว่า 1,300 คน เป็นการบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างเรื่อยมาของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ว่า อเมริกาทำสงครามด้วยระเบิดที่มีความแม่นยำ

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า บันทึกเหล่านี้ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่ระบุถึงการตรวจสอบพบการกระทำผิดหรือการดำเนินการทางวินัยกับผู้รับผิดชอบ

แม้หลายกรณีที่นิวยอร์กไทมส์กล่าวถึงในรายงานชุดแรกจากทั้งหมดสองชุดที่เตรียมเผยแพร่นั้นเคยเป็นข่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่จากการตรวจสอบของหนังสือพิมพ์ดังฉบับนี้พบว่า จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตซึ่งมีการบันทึกไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อยหลายร้อยคน

รายงานข่าวในวันเสาร์ของนิวยอร์กไทมส์ พูดถึง 3 กรณี โดยที่ 1 ในนั้นคือเหตุการณ์การทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2016 ที่หน่วยรบพิเศษของอเมริกาเชื่อว่า เป็นจุดรวมพล 3 แห่งของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ทางเหนือของซีเรีย มีการรายงานเบื้องต้นว่า นักรบไอเอสถูกสังหาร 85 คน แต่แท้จริงผู้เสียชีวิตคือเกษตรกรและชาวบ้านรวม 120 คน

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการโจมตีในเมืองเราะมาดีของอิรักเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 หลังจากมีภาพชายคนหนึ่งลาก “วัตถุหนักที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร” เข้าไปในที่ตั้งของไอเอส ซึ่งผลการตรวจสอบในภายหลังพบว่า วัตถุดังกล่าวคือเด็กที่เสียชีวิตจากการโจมตี

รายงานระบุว่า ภาพจากการสอดแนมคุณภาพต่ำมักเป็นสาเหตุความล้มเหลวในการล็อกเป้าที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้เอง อเมริกาต้องถอนคำอวดอ้างที่ว่า รถยนต์ซึ่งถูกโดรนของตนทำลายบนถนนในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีระเบิดซุกซ่อนอยู่ เพราะกลายเป็นว่า เหยื่อในการโจมตีดังกล่าวเป็นครอบครัวที่มีสมาชิก 10 คน และมีเด็กอยู่ด้วย

รายงานเสริมว่า พลเรือนที่รอดชีวิตจำนวนมากกลายเป็นคนพิการที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง แต่ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจริงมีแค่หลักสิบรายเท่านั้น

ทางด้าน บิลล์ เออร์บัน โฆษกกองบัญชาการทหารด้านกลาง (CENTCOM) ของสหรัฐฯ ตอบข้อซักถามของนิวยอร์กไทมส์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยยอมรับว่า แม้แต่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกยังเกิดข้อผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะโดยข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือการตีความข้อมูลผิดพลาดก็ตาม และอเมริกาพยายามเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น รวมถึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย สืบสวนทุกเหตุการณ์ และเสียใจกับทุกชีวิตผู้บริสุทธิ์

อเมริกาเพิ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในตะวันออกกลางอย่างรวดเร็วในช่วงปีท้าย ๆ ของคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ขณะที่การสนับสนุนจากชาวอเมริกันสำหรับสงครามภาคพื้นดินที่ไม่รู้จบเริ่มเหือดแห้งลง

โอบามา ระบุว่า แนวทางใหม่ที่มักมีการใช้โดรนจากพื้นที่ห่างไกลมากเข้าปฏิบัติการโจมตีนั้นถือเป็นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่แม่นยำที่สุดในประวัติศาสตร์ และสามารถลดการเสียชีวิตของพลเรือนให้เหลือน้อยที่สุด

สหรัฐฯ สั่งทหาร 'เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด' รับมือวิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ที่รอวันปะทุ

สหรัฐฯ สั่งการให้ทหาร 8,500 นาย "เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด" ท่ามกลางเหตุเผชิญหน้าเกี่ยวกับยูเครน ชี้รัสเซียยังคงเดินหน้าเสริมกองกำลังของตนเองตามแนวชายแดนของประเทศ

จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน ระบุว่า ทหารเหล่านี้อาจได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการเพื่อสนับสนุนกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ (Nato Response Force) หากว่านาโต้เคลื่อนไหวเสริมกำลังพลในเหล่าประเทศสมาชิกยุโรปตะวันออกของนาโต้ สืบเนื่องจากภัยคุกคามจากรัสเซีย

"ชัดเจนว่าเวลานี้รัสเซียไม่มีเจตนาลดสถานการณ์ความตึงเครียด" เคอร์บีบอกกับพวกผู้สื่อข่าว ระหว่างแถลงข่าวสั่งการให้ทหารเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด

ทหารเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกองกำลังภาคพื้นและหน่วยสนับสนุน ได้รับการแจ้งว่าให้เตรียมพร้อมสำหรับเคลื่อนพลภายใน 5 วันหากมีคำสั่งให้เข้าประจำการออกมา "สหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างหนักแน่นในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ตอบโต้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัสเซียที่ทำร้ายเรา พันธมิตรของเราและคู่หูของเรา" เคอร์บี กล่าว

เคอร์บี บอกว่า หากมีการระดมพลกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ ทหารสหรัฐฯ อาจถูกส่งเข้าประจำการเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของกองกำลังชาติต่างๆ ในพันธมิตรนาโต้ตามแนวชายแดนของรัสเซีย "จำนวนมากของทหารเหล่านี้มีเจตนาเพื่อกองกำลังตอบโต้ของนาโต้"

ทั้งนี้ เคอร์บี้ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ มีกำหนดการแน่นอนหรือไม่ว่าจะต้องเคลื่อนพลเมื่อใด และย้ำว่า การเตรียมการนี้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้นาโต้มั่นใจว่า อเมริกาพร้อมที่จะเข้าช่วยหากต้องมีการใช้กำลังทหารเพื่อตอบโต้เหตุการณ์รุกรานยูเครนขึ้นมา

โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า การเคลื่อนกำลังพลของสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังพันธมิตรนาโต้ตัดสินใจสั่งให้มีการเดินทัพกองกำลังตอบโต้อย่างรวดเร็ว หรือ “หากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์” ที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดจากการสั่งสมกำลังทหารของรัสเซียที่ชายแดนติดกับยูเครน

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เสริมว่าอาจมีการประจำการกองทหารอื่นๆ อีกบางส่วน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าทหารเหล่านี้จะไม่ถูกส่งเข้าประจำการในยูเครน ประเทศซึ่งกำลังหาทางเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้

ข่าวกรองสหรัฐฯ คาดรัสเซียบุกยูเครนพุธนี้ เชื่อเปิดฉากถล่มด้วยขีปนาวุธและระเบิด

เพนตากอนระบุในวันอาทิตย์ (13 ก.พ.) การติดต่อเจรจาระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียรอบล่าสุด "ไม่ได้ก่อมุมมองในแง่บวกใดๆ" ในขณะที่หน่วยข่าวกรองอเมริกาคาดมอสโกอาจเปิดฉากโจมตียูเครนวันพุธนี้ (16 ก.พ.) และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ชี้การรุกรานอาจเริ่มต้นการถล่มด้วยขีปนาวุธและระเบิด ซึ่งจะคร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์

จอห์น เคอร์บี โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ให้คำประเมินอย่างขุ่นมัวเกี่ยวกับการสนทนากันนาน 1 ชั่วโมง ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันเสาร์ (12 ก.พ.) ที่ผ่านมา

"แน่นอนว่า มันไม่ใช่สัญญาณว่าสิ่งต่างๆ มุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง มันไม่ใช่สัญญาณที่มิสเตอร์ปูตินแสดงเจตนาใดๆ ที่จะลดความตึงเครียด และแน่นอนว่า ไม่ใช่สัญญาณที่เขาจะผูกมัดตนเองกับการมุ่งหน้าสู่เส้นทางด้านการทูต" เคอร์บีให้สัมภาษณ์กับรายงานฟ็อกซ์นิวส์ซันเดย์ "ดังนั้น มันไม่ได้มอบบ่อเกิดแห่งมุมมองในแง่บวกแก่เราใดๆ"

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนรอบแล้วรอบเล่าและเริ่มเตือนแบบตรงไปตรงมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียใกล้เข้ามาทุกขณะ และประเทศต่างๆ กำลังเร่งอพยพพลเมืองของตนเองออกจากยูเครน

เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในวันอาทิตย์ (13 ก.พ.) ไม่ยืนยันรายงานข่าวที่ระบุ ข่าวกรองสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังมีแผนรุกรานยูเครนในวันพุธ (16 ก.พ.) โดยเพียงแต่บอกว่าพวกเขาจะพยายามปกป้องกัน "เหตุโจมตีน่าประหลาดใจใดๆ" ด้วยการแชร์ข้อมูลเท่าที่รู้เกี่ยวกับแผนการของรัสเซีย

"เราไม่สามารถคาดเดาวันเวลาได้อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้เราพูดมาสักพักแล้วว่าเรากำลังอยู่ในจุดนั้น และการรุกรานอาจเริ่มขึ้น ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ของรัสเซียในยูเครนอาจเริ่มขึ้นได้ทุกวันนับตั้งแต่นี้ รวมถึงในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ก่อนกีฬาโอลิมปิกเกมส์จบลง" ซุลลิแวนให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่มันจะเกิดขึ้นในวันพุธ (16 ก.พ.)

สหรัฐฯ พัฒนา Ghost Drone อาวุธลับเพื่อยูเครนรับมือรัสเซีย โจมตีเป้าหมาย-ทำลายตัวเองทิ้งหลังจากใช้เพียงครั้งเดียว 

ไม่นานมานี้ เพนตากอนเผย สหรัฐฯ ออกแบบอาวุธใหม่อากาศยานไร้คนขับแบบโจมตี 'Ghost drone' เพื่อยูเครนโดยเฉพาะ ใช้โจมตีเป้าหมายครั้งเดียวทิ้ง ขณะที่ปฏิบัติการในยูเครนย่างเข้าเดือนที่ 3 รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะจัดประชุมกลาโหมว่าด้วยยูเครนในวันที่ 26 เมษายนนี้ที่เยอรมนี

จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงเมื่อ 21 เม.ย. 65 เปิดเผยถึงอาวุธใหม่ของสหรัฐฯ อย่างอากาศยานไร้คนขับ ที่มีชื่อว่า 'โกสต์ โดรน' (Ghost Drone) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธชุดใหม่ ที่สหรัฐฯ จะส่งไปให้แก่ยูเครน ใช้โจมตีเป้าหมายและถูกทำลายทิ้งหลังจากใช้เพียงครั้งเดียว 

เคอร์บี ระบุว่า หลังจากหารือกับทางยูเครนแล้ว สหรัฐฯ เชื่อว่า 'โกสต์ โดรน' จะเป็นอาวุธที่เหมาะสมกับภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบคล้ายคลึงกับรัฐแคนซัสของสหรัฐฯ

ก่อนหน้าการแถลงข่าว เคอร์บี ระบุว่า 'โกสต์ โดรน' ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเร่งด่วนโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อยูเครนโดยเฉพาะ แต่ในการแถลงข่าวหลังจากนั้นในวันเดียว เขาแก้ว่า สหรัฐฯ ได้เริ่มพัฒนาอากาศยานไร้คนขับตัวนี้ ตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะเปิดปฏิบัติการในยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ขณะนี้ มีทหารยูเครนจำนวนหนึ่งอยู่ในสหรัฐฯ กำลังได้รับการฝึกควบคุมอากาศยานโจมตีไร้คนขับของสหรัฐฯ อีกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า 'สวิตช์เบลด' (Switchblade) ซึ่งเป็นอาวุธแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเช่นกัน โดยจะบินเข้าชนเป้าหมายและจะระเบิดเมื่อกระทบเป้าหมาย

‘รอยเตอร์’ เผย ‘กองทัพสหรัฐฯ’ เปิดยุทธการลับบน ‘สื่อสังคมออนไลน์’ เพื่อป้ายสี ทำลายชื่อเสียง วัคซีนโควิดของจีน ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19

(16 มิ.ย.67) ยุทธการของเพนตากอน สำหรับทำลายชื่อเสียงวัคซีนจีน มีขึ้นระหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ถึงกลางปี 2021 โดยมุ่งเน้นไปที่ฟิลิปปินส์ ก่อนขยายวงสู่พื้นที่อื่นๆ ของเอเชียและตะวันออกกลาง ตามรายงานของรอยเตอร์ที่กล่าวอ้างในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในวันศุกร์ (14 มิ.ย.)

เพนตากอนพึ่งพิงบัญชีปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ แอบอ้างตัวเป็นผู้ใช้ชาวฟิลิปปินส์ เผยแพร่คำกล่าวอ้างอันเป็นเท็จว่า วัคซีนซิโนแวคของจีน เช่นเดียวกับชุดตรวจและหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยประเทศแห่งนี้มีคุณภาพที่ย่ำแย่

ซิโนแวค ซึ่งเริ่มต้นแจกจ่ายในเดือนมีนาคม 2021 กลายเป็นวัคซีนตัวแรกที่ชาวฟิลิปปินส์เข้าถึงได้ระหว่างโรคระบาดใหญ่

‘โควิดมาจากจีนและวัคซีนก็มาจากจีนเช่นกัน ดังนั้นอย่าไว้ใจจีน’ รูปแบบการโพสต์หนึ่ง ส่วนหนึ่งในยุทธการทำลายชื่อเสียง ภายใต้สโลแกน #ChinaAngVirus (จีนคือไวรัส) ตามรายงานของรอยเตอร์ ส่วนอีกโพสต์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป กล่าวอ้างว่า ‘ทุกอย่างที่มาจากจีน ทั้งชุดป้องกัน หน้ากาก และวัคซีน ล้วนแต่เป็นของปลอม แต่โคโรนาไวรัสนั้นเป็นของจริง’

ยิ่งไปกว่านั้น เพนตากอนพยายามสื่อสารไปยังพวกผู้ใช้ชาวมุสลิมในเอเชียและตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าบางครั้งวัคซีนอาจมีส่วนผสมของเจลาตินหมู ดังนั้น วัคซีนของจีนจึงอาจเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายอิสลาม

รอยเตอร์ระบุว่า จากการตรวจสอบของพวกเขา พบว่ามีอย่างน้อย 300 บัญชีบนทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์ ที่มีคุณลักษณะตรงตามกับคำกล่าวอ้างของอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับยุทธการนี้แก่สื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ยุทธการลับๆ บนสื่อสังคมออนไลน์สำหรับป้ายสีซิโนแวคนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม

โฆษกรายหนึ่งของเพนตากอน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย ในนั้นรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ สกัดอิทธิพลที่มุ่งร้าย ที่เล็งเป้าเล่นงานสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู และปักกิ่งคือหนึ่งในนั้น ที่เริ่มเปิดยุทธการบิดเบือนข้อมูล กล่าวโทษอันเป็นเท็จ หาว่าสหรัฐฯ เป็นคนแพร่กระจายโควิด-19

ในปฏิกิริยาที่มีต่อรายงานของรอยเตอร์ ทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน เน้นย้ำผ่านทางอีเมล ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ บงการสื่อสังคมออนไลน์และเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนมานานแล้ว

‘กองทัพสหรัฐฯ’ ส่งจดหมาย สารภาพความผิดให้ ‘ฟิลิปปินส์’ ยอมรับ!! อยู่เบื้องหลังดิสเครดิต ‘วัคซีนซิโนแวค’ ของจีน

(28 ก.ค. 67) กองทัพสหรัฐฯ ยอมรับสารภาพแล้วว่า เป็นผู้ดำเนินยุทธการลับ มีเป้าหมายทำลายความน่าเชื่อถือวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคของจีนในฟิลิปปินส์ รวมถึงทั่วเอเชียและตะวันออกกลาง ตามรายงานของรอยเตอร์

‘มันเป็นความจริงที่ (กระทรวงกลาโหม) ส่งสารถึงผู้รับฟิลิปปินส์ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค’ พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนเขียนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมฟิลิปปนส์ ในจดหมายลงวันที่ 25 มิถุนายน และทางรอยเตอร์หยิบยกมารายงานในวันศุกร์ (26 ก.ค.)
.
ในจดหมายดังกล่าว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ยอมรับว่าพวกเขาได้กระทำการผิดพลาดบางอย่างในด้านการส่งสารที่เกี่ยวข้องกับโควิด แต่ได้รับประกันกับมะนิลาว่า เพนตากอนได้ระงับปฏิบัติการดังกล่าวไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 และนับตั้งแต่นั้นยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความรับผิดชอบต่อปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารต่างๆ แล้ว

ปฏิบัติการที่เป็นเรื่องเป็นราวเริ่มขึ้นในปี 2020 หลังจากจีนประกาศว่าจะแจกจ่ายวัคซีนซิโนแวคให้ฟิลิปปินส์แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ในความพยายามตอบโต้ผลประโยชน์ทางประชาสัมพันธ์ที่ปักกิ่งจะได้รับจากโครงการนี้ ทางเพนตากอนออกคำสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการจิตวิทยาในฟลอริดา จัดตั้งบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมขึ้นมาอย่างน้อย 300 บัญชี เพื่อใส่ร้ายป้ายสีวัคซีนจีน อ้างอิงผลการสืบสวนของรอยเตอร์ที่ออกมาแฉเมื่อเดือนที่แล้ว

โควิดมาจากจีนและวัคซีนมาจากจีน อย่าไปเชื่อใจจีน หนึ่งในรูปแบบข้อความที่สร้างโดยทีมงานปฏิบัติการทางจิตวิทยา ขณะที่อีกข้อความเน้นว่า PPE (ชุดป้องกันเชื้อโรค) หน้ากากอนามัย วัคซีน ล้วนเป็นของปลอม แต่โคโรนาไวรัสเป็นของจริง

รอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเพนตากอน ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายที่เกี่ยวข้องกับยุทธการนี้รู้ดีว่าเป้าหมายของแผนการไม่ได้ปกป้องชาวฟิลิปปินส์จากวัคซีนที่ไม่ปลอดภัย แต่เป็นการสร้างความแปดเปื้อนแก่ชื่อเสียงของจีน

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ไม่นานยุทธการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวก็ถูกขยายวงออกไปนอกฟิลิปปินส์ โดยผู้รับสารมุสลิมทั่วเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ได้รับการบอกเล่าว่าวัคซีนซิโนแวคปนเปื้อนเจลลาตินหมู เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งฮะรอมหรือเป็นสิ่งต้อมห้ามตามกฎหมายอิสลาม ยุทธการนี้บีบให้ทางซิโนแวคเผยแพร่ถ้อยแถลงยืนยันว่าวัคซีนผลิตโดยปราศจากส่วนประกอบของหมูใดๆ

เพนตากอนไม่ยอมรับต่อสาธารณะว่าได้ส่งหนังสือยอมรับสารภาพไปยังกองทัพฟิลิปปินส์ ขณะที่รัฐบาลของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานของรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วโฆษกรายหนึ่งของเพนตากอนชี้แจงกับรอยเตอร์ ว่ากองทัพอเมริกา ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ในนั้นรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ ตอบโต้อิทธิพลมุ่งร้ายที่เล็งเป้าโจมตีสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู และอ้างว่าวอชิงตีนแค่ตอบโต้ ยุทธการบิดเบือนของมูลของจีนที่กล่าวโทษอันเป็นเท็จ ว่าสหรัฐฯ เป็นผู้แพร่กระจายโควิด-19

กระทรวงการต่างประเทศของจีนบอกกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาเน้นย้ำมานานแล้วว่า สหรัฐฯ เป็นผู้แพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับจีน

ฟิลิปปินส์ รายงานของรอยเตอร์กระตุ้นให้คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาเปิดการสืบสวน และระหว่างการพิจารณาเมื่อเดือนที่แล้ว วุฒิสมาชิกไอมี มาร์กอส ประธานคณะกรรมาธิการ ประณามยุทธการของเพนตากอนว่าเป็น ปีศาจ ชั่วร้าย อันตรายและไม่มีจริยธรรม  และแย้มว่ามะนิลากำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าจะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับวอชิงตันได้หรือไม่

11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชน ‘เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์-ตึกเพนตากอน’

วันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน เกิดเหตุวินาศกรรมช็อกโลก หลังผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 4 ลำ พุ่งชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพาณิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น 

จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมาลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก

จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน 

และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน

เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้ออกมาแถลงการณ์ว่ามันเป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคนออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมีโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (al-Qaeda) เป็นเบอร์หนึ่ง แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา

ทรัมป์จ่อเชือดนายพลชุดใหญ่ หลังถูกนายทหารวิจารณ์เป็นฟาสซิสต์

เมื่อวันที่ (13 พ.ย.67) รอยเตอร์รายงานว่า ทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ กำลังจัดทำรายชื่อนายทหารที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจรวมถึงคณะเสนาธิการร่วม หากดำเนินการจริง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

แหล่งข่าววงในเผยว่า การวางแผนปลดบุคลากรทางทหารเริ่มขึ้นหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยอาจมีการปรับแผนอีกครั้งเมื่อคณะบริหารใหม่เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยวิจารณ์ผู้นำกลาโหมที่ไม่เห็นด้วยกับเขา และระหว่างการหาเสียงยังเคยกล่าวว่าจะปลดนายพล 'สายโว้ก' รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการถอนทหารจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564

รายงานระบุว่าคณะบริหารชุดใหม่มุ่งเป้าไปที่นายทหารที่เกี่ยวข้องกับมาร์ก มิลลีย์ อดีตประธานคณะเสนาธิการร่วม โดยมิลลีย์เคยกล่าวในหนังสือ *War* ของบ็อบ วู้ดเวิร์ด ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าเขาเรียกทรัมป์ว่า 'เป็นพวกนิสัยฟาสซิสต์'

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า “ทุกคนที่มิลลีย์เคยเลื่อนขั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และเรามีรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด”

หนึ่งวันก่อนการเปิดเผยแผนนี้ ทรัมป์ได้แต่งตั้งพีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ร่วมวิเคราะห์ข่าวจากฟ็อกซ์นิวส์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เฮกเซธเองได้เรียกร้องให้ปฏิรูปเพนตากอนในหนังสือ The War on Warriors: Behind the Betrayal of the Men Who Keep Us Free ที่ตีพิมพ์ในปีนี้

เฮกเซธยังวิจารณ์การแต่งตั้งพลอากาศเอก ซี.คิว. บราวน์ โดยกล่าวหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุผลทางเชื้อชาติ แหล่งข่าวระบุว่าบราวน์อาจเป็นหนึ่งในนายทหารที่ถูกปลดด้วย พร้อมยืนยันว่า “ประธานและรองประธานคณะเสนาธิการร่วมจะถูกปลดทันที”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง แม้ว่าบางแหล่งมองว่าเป็นการแสดงท่าทีทางการเมือง แต่กลุ่มสนับสนุนทรัมป์เชื่อว่าเป็นการจำเป็นเพื่อลดขนาดของคณะเสนาธิการร่วมที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต

เปิดแผนลับเพนตากอน แม้ทรัมป์พลาดซื้อกรีนแลนด์ แต่เล็งส่งยามฝั่งคุม หวังปิดทางรัสเซียสู่อาร์กติก

(13 ม.ค. 68) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ สร้างความตะลึงไปทั่วโลกด้วยการป่าวประกาศว่าจะซื้อดินแดนกรีนแลนด์จากเดนมาร์กนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง แนวคิดของทรัมป์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ของผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจในดินแดนกรีนแลนด์อยู่แล้ว

อิรินา สเตรลนิโควา นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งมอสโก กล่าวกับ Sputnik ตามแนวทางกลยุทธ์อาร์กติกที่เพนตากอนเผยแพร่กลางปี 2024 ระบุถึงบทบาทสำคัญของกรีนแลนด์ในแผนการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยการออกมาประกาศความสนใจซื้อดินแดนของทรัมป์ต่างเพียงบางจุดจากแผนการของเพนตากอนเพียงเท่านั้น

“กลยุทธ์ใหม่นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินการในเขตอาร์กติก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การข่าว การสอดแนม และความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” เธอกล่าว  

สำหรับแผนของทรัมป์นั้น “ถ้าพิจารณาว่าแผนนี้เป็นอะไรที่ใหม่หรือไม่คาดคิด คำตอบคือไม่ นี่เป็นเพียงวิธีการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ในแแบบเฉพาะตัวของทรัมป์เท่านั้น” สเตรลนิโควาอธิบาย  
 
นักเคราะห์จากมอสโกยังกล่าวว่า เหตุผลหลักเนื่องจากกรีนแลนด์เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในแผนกลยุทธ์แอตแลนติกเหนือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2024 โดยเพนตากอนมีแผนจะปรับปรุงยกระดับฐานทัพ Thule Air Base อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม รัสเซียรับรู้ถึงแผนของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะมีบทบาท ซึ่งมอสโกได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

สเตรลนิโควาเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการซื้อกรีนแลนด์ แต่หากสำเร็จ สิ่งที่รัสเซียต้องกังวลอย่างยิ่งคือการลาดตระเวนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกรีนแลนด์ซึ่งจะทวีความถี่บ่อยขึ้น

“การส่งกำลังของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในกรีนแลนด์จะลดศักยภาพการปฏิบัติการของกองเรือเหนือของรัสเซีย (Northern Fleet) และทำให้ฐานทัพเรือในเขตอาร์กติกของรัสเซียมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่เราพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือ จะไม่มีใครยอมขายกรีนแลนด์” เธอกล่าว  

สเตรลนิโควาชี้ว่า “หากสหรัฐไม่สามารถซื้อกรีนแลนด์ได้สำเร็จ สหรัฐจะใช่วิธีการส่งหน่วยยามฝั่ง (United States Coast Guard) เข้ามาลาดตระเวนในพื้นที่่แทน ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เพราะจากประสบการณ์และการกระทำของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออก หน่วยยามฝั่งเป็นเครื่องมือกดดันที่ถูกใช้งานบ่อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความก้าวร้าวในการสร้าง ‘พื้นที่สีเทาทางทะเล’ มากกว่า เนื่องจากมีต่อการเผชิญหน้าน้อยกว่า 

หน้าที่หลักของรัสเซียคือป้องกันไม่ให้หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เข้าใกล้กรีนแลนด์ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการเข้ามาในพื้นที่อาร์กติกได้เมื่อใด เนื่องจากโครงการต่อเรือตัดน้ำแข็งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ นั้นประสบปัญหาล่าช้ามาตลอด จึงทำให้หน่วยยามฝั่งฯ ยังไม่มีเรือที่พร้อมจะเข้ามายังพื้นที่ตอนในของกรีนแลนด์ได้

'ทรัมป์' ฝากความหวัง 'มัสก์' แฉกลาโหมทุจริตหลายแสนล้าน

(10 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า เขาคาดหวังให้อีลอน มัสก์ เปิดเผยปัญหาการใช้งบประมาณอย่างไม่เหมาะสมและการทุจริตครั้งใหญ่ภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทรัมป์กล่าวเรื่องนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Fox News เนื่องในโอกาสการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ซึ่งบางส่วนของการสัมภาษณ์ถูกนำมาเผยแพร่เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น

“ผมกำลังจะแจ้งให้เขาทราบภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ให้เริ่มตรวจสอบกระทรวงศึกษาธิการก่อน จากนั้นค่อยตรวจสอบกระทรวงกลาโหม ผมมั่นใจว่าเราจะพบการทุจริตและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่เหมาะสม คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้าน หรืออาจสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์” ทรัมป์กล่าว

ด้านรอยเตอร์รายงานว่า งบประมาณของเพนตากอนอยู่ที่เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในเดือนธันวาคม 2567 อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามอนุมัติงบประมาณกลาโหมจำนวน 8.95 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2568

มัสก์ ซึ่งทำเนียบขาวระบุว่าเป็น "พนักงานพิเศษของรัฐบาล" ได้รับมอบหมายจากทรัมป์ให้เป็นผู้นำในการปรับลดขนาดกำลังคนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทีมงานของมัสก์ได้รับสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมาย และมีความกังวลว่าอาจทำให้ข้อมูลลับรั่วไหล อีกทั้งยังอาจเป็นการรื้อโครงสร้างหน่วยงานรัฐโดยไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากบริษัทของมัสก์มีสัญญามูลค่ามหาศาลกับเพนตากอน

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Meet the Press” ของช่อง NBC ว่ากระบวนการต่อเรือของเพนตากอนเป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ โดยเสนอให้กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ซึ่งมัสก์เป็นผู้นำ เข้ามาดูแลปัญหานี้

วอลซ์ยังระบุว่า เพนตากอนมีปัญหาด้านความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง และจำเป็นต้องให้ผู้นำจากภาคธุรกิจเข้ามาช่วยปฏิรูป

แม้ว่าปัญหาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของเพนตากอนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานจากนักการเมืองทั้งสองพรรค แต่พรรคเดโมแครตและสหภาพข้าราชการพลเรือนยังคงแสดงความกังวลว่า ทีมงานของมัสก์อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอในการปรับโครงสร้างเพนตากอนอย่างเหมาะสม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top