Wednesday, 3 July 2024
เปิดแอร์

'กฟภ.' เตือน!! อย่าเปิดๆ ปิดๆ เครื่องปรับอากาศ เพราะช่วงที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่แอร์สตาร์ตมอเตอร์

(24 เม.ย.67) หลายคนคงคาใจกับคำถาม ที่ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ว่าระหว่างปิด ๆ เปิด ๆ แอร์ กับ เปิดแอร์ต่อเนื่องยาว ๆ โดยสิ่งหนึ่งที่เรามักจะเข้าใจผิด คือคิดว่าการเปิดแอร์ต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้กินไฟมาก เพราะเครื่องปรับอากาศทำงานนาน

ล่าสุดเฟซบุ๊ก 'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA' ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า...

ร้อนระอุแบบนี้ ขาดแอร์ก็แทบขาดใจ แต่จะเปิดแอร์ยังไงให้เราไม่ช็อตฟิลกับบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือน เซฟไทยขอแนะนำทริกดี ๆ ในการเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อน ที่ยังเย็นฉ่ำ ๆ แต่ไม่ทำให้ค่าไฟไม่พุ่งกระหน่ำตาม ลองไปทำตามกันนะ….

1. เลือกขนาด BTU แอร์ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแอร์ขนาด 9,000-21,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดเล็กถึงปานกลางอย่างคอนโด แอร์ขนาด 21,000-30,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องโถง ส่วนแอร์ขนาดใหญ่ 30,000-36,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดใหญ่ เช่น โฮมออฟฟิศ ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น

2. เปิดแอร์ 26-27 องศาฯ ควบคู่กับเปิดพัดลม การเปิดพัดลมช่วยอีกทางจะเป็นการระบายความร้อน เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง และทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าไฟลงได้ 10%

3. ล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน หมั่นล้างแผ่นกรองแอร์เป็นประจำทุก 1 เดือน และล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อกำจัดฝุ่นที่เกาะกรังอยู่ภายใน ซึ่งจะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง

4. ปิดแอร์เมื่อไม่ใช้งาน และไม่ควรปิด ๆ เปิด ๆ แอร์บ่อย ๆ การปล่อยให้แอร์ทำงานยาวนานต่อเนื่อง ย่อมดีกว่าการเปิด ๆ ปิด ๆ แอร์เพราะช่วงการทำงานของแอร์ที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่เราเริ่มเปิดแอร์ และสตาร์ตมอเตอร์ เพราะฉะนั้นยิ่งเปิดแอร์บ่อย ก็ยิ่งกินไฟมากยิ่งขึ้น

5. ตั้งเวลาปิดแอร์ ช่วยเซฟค่าไฟ การตั้งเวลาปิดแอร์เป็นการควบคุมชั่วโมงการใช้แอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่อากาศไม่ได้ร้อนมากจนเกินไป อาจหันไปใช้พัดลมแทน

6. ปิดประตู หน้าต่างในห้องให้สนิท ยิ่งภายในห้องมีช่องให้ลมแอร์เล็ดลอดผ่านไปหรือลมร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แอร์ต้องทำงานหนักเพื่อรักษาอุณหภูมิความเย็นให้คงที่

ย้อนคำแนะนำ 'พล.อ.ประยุทธ์' ชวนคนไทยเปิดแอร์ 27 องศา+พัดลม เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ลดอุณหภูมิ ประหยัดค่าไฟได้มากโข

หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2565 ซึ่งระหว่างนั้น เป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมถึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด

โดยระหว่างนั้น ทางกระทรวงพลังงาน ได้มีข้อแนะนำการประหยัดพลังงานในส่วนของ Work From Home ให้ประหยัดพลังงาน โดยปิดสวิทช์หรือถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ ตั้งค่าคอมพิวเตอร์ในโหมด Sleep ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อไม่มีการใช้งานนานกว่า 15 นาที ไม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ เปิดใช้ตู้เย็นเท่าที่จำเป็น ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง ละลายน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์แก่คนไทยว่า ควรเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมตั้งพื้นควบคู่กัน เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศในห้อง และช่วยลดอุณหภูมิลงได้ 2 องศาเซลเซียส โดยจะช่วยให้ประหยัดไฟมากกว่าการเปิดแอร์ที่ 23-24 องศาอย่างเดียว รวมทั้งควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือนและล้างแอร์ทุก 6 เดือน จะช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์และประหยัดไฟ ซึ่งวิธีใช้แอร์ดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าไฟลงได้ 10-30%

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ลุงตู่แนะ ได้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้งาน Youtube บัญชี CLEAR ENERGY ได้ทำคลิปวิดีโอทดสอบค่าไฟ หากเปิดแอร์แบบ 25 องศาเซลเซียส กับ 27 องศาเซลเซียส พร้อมพัดลม โดยเทียบให้รู้ว่าแบบไหนกินไฟเท่าไหร่ แล้วค่าไฟแตกต่างกันเยอะหรือไม่

โดยในคลิปจะเห็นได้ว่าเขาวัดกระแสไฟฟ้าระหว่างเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ได้ที่ 8.58 แอมป์ และวัดกระแสไฟฟ้าระหว่างเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมพัดลม ได้ที่ 4.36 แอมป์

จากนั้น เริ่มเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส โดยเปิดวันละ 9 ชั่วโมง 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น แบบนี้ทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน และลองคิดคำนวณจากค่าไฟ 4.4 บาทต่อหน่วย ก็ได้ผลลัพธ์ของค่าไฟที่จะต้องเสียอยู่ที่ 2,244 บาท

ขณะเดียวกัน ถ้าเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมพัดลม ในเวลาและตัวแปรการคำนวณแบบเดียวกัน จะเสียค่าไฟอยู่ที่ 1,140 บาท

สรุปแล้วค่าไฟ จากการเปิด แอร์ 27 องศาเซลเซียส บวกพัดลม จะประหยัดลดลงถึง 1,104 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 49.22% หรือเกือบครึ่งเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับเปิดแอร์ที่ 25 องศาเซลเซียส

ลุงตู่ผู้มาก่อนกาลเสมอ...

'อ.เจษฎา' อธิบายชัด!! ปมเปิดแอร์ 27 พร้อมพัดลม แต่ค่าไฟพุ่งขึ้น ชี้!! เป็นวิธีทดลองที่ไม่น่าเชื่อถือ เผย!! บางส่วนทำแล้ว ได้ผลดีเกินคาด

จากกรณีมีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งโพสต์วิดีโอคลิปแสดงบิลค่าไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุว่า ทฤษฎีเปิดแอร์ 27 องศาฯ แล้วเปิดพัดลม อ้างว่าประหยัดไฟได้ครึ่งหนึ่ง เดือนที่แล้วค่าไฟ 5,100 บาท ปกติเปิด 25 องศาฯ แต่พอใช้เทคนิคนี้ปรากฏว่าค่าไฟ 6,100 บาท เพิ่มมา 1,000 บาท เดือนที่แล้ว 1,000 หน่วย เดือนนี้ 1,200 หน่วย ถามกลับว่าสูตรใครวะ โดนติ๊กต็อกหลอกอีกแล้ว ทฤษฎีนี้บอกเลยอย่าหาทำ ไม่เวิร์ก ค่าไฟเพิ่มตั้งพันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายทฤษฎีดังกล่าว โดยได้ระบุข้อความว่า

“คลิปติ๊กต็อก ‘เปิดแอร์ 27 องศา + เปิดพัดลม แล้วค่าไฟขึ้น’ ... เอามาอ้างอิงได้ จริงหรือ ? ผมว่าไม่นะครับ

มีนักข่าวสองสามช่องโทร.มาถามถึงกรณีที่มีคลิปติ๊กต็อกของหญิงสาวรายหนึ่ง ทำตามวิธีลดค่าไฟด้วยการ ‘เปิดแอร์ 27 องศา และเปิดพัดลม’ หวังลดค่าไฟ แต่ค่าไฟกลับสูงขึ้น โดยบิลค่าไฟเดือนนี้พุ่งไป 6,000 บาท ทำเอาชาวเน็ตสับสน เพราะมีบางส่วนทำแล้วได้ผลดีเกินคาด

โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต็อกที่แชร์กันนั้นยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ และผมยังเชื่อว่าการเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมเป่าตัว ช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา (โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก) ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมากอย่างในคลิปดังกล่าวครับ

ตามรายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งแชร์คลิปลองทำตามวิธีลดค่าไฟตามที่แชร์กันในโลกโซเชียลโดยเปิดแอร์ที่ 27 องศา แล้วเปิดพัดลมควบคู่ กับห้อง 3 ห้องที่บ้าน

ในคลิปเธอบอกว่า ปกติแล้วเปิดแอร์ 25 องศา เพียงอย่างเดียว ใช้ไฟไปทั้งหมด 1,000 หน่วย ค่าไฟอยู่ 5,100 บาท แต่เมื่อได้รับบิลค่าไฟ กลับพบว่าใช้ไฟไป 1,200 หน่วย และค่าไฟพุ่งสูงขึ้น 6,100 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1,000 บาท เธอได้พูดแนวขบขันว่าน่าจะเป็นค่าพัดลม 3 ตัว พร้อมแนะชาวเน็ตอย่าหาทำ ไม่เวิร์ก โดนหลอก!?

ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดคือ คลิปการทดลองดังกล่าวไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยว่าที่ทำการทดลองไปหนึ่งเดือนนั้นได้ควบคุมปัจจัยอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะจากเครื่องแอร์ พัดลม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบ้าน ให้เหมือนกันตลอดทั้งสองเดือนที่นำมาเทียบกัน

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเดือนแรกเปิดแอร์ 25 องศา แต่เปิดไม่เยอะ ไม่บ่อย / แล้วเดือนที่สอง เปิดแอร์ 27 องศาพร้อมเปิดพัดลม แล้วเปิดบ่อย เปิดเยอะ ค่าไฟฟ้า (ซึ่งคิดคำนวณตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไฟ) ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในขณะที่ถ้าเป็นการทดลองโดยอยู่ในสภาวะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้คงที่ และเปิดแอร์เป็นเวลานานเท่ากัน การตั้งค่าอุณหภูมิเครื่องแอร์ที่สูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 10% (ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง) ทำให้การตั้งค่าอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 27 องศาเซลเซียส จะประหยัดไฟฟ้ามากกว่าที่ 25 องศา

และการเปิดพัดลมช่วย ให้ลมปะทะร่างกาย ก็จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเย็นสบายมากขึ้นกว่าเดิมได้ถึง 2 องศาเซลเซียส …จึงแนะนำให้เปิดแอร์ที่ 27 องศา+เปิดพัดลมเป่าตัว เพื่อให้ได้ ‘ความรู้สึก’ เย็นสบายเหมือนเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ….พูดง่าย ๆ คือ ให้แอร์สร้างอากาศที่เย็น แล้วใช้พัดลมเป่าเข้ามาให้ร่างกายรับอากาศเย็นนั่นเอง

และการเปิดพัดลมนาน ๆ นั้นก็ไม่ได้จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับแอร์แล้ว พัดลมใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ากันมาก ...โดยส่วนใหญ่แล้วพัดลมไฟฟ้าขนาดใบพัด 16 นิ้ว เปิดลมเบอร์ 1 จะกินไฟแค่ประมาณ 40 วัตต์เท่านั้น / หรือคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเปิดแอร์ขนาด 9000 BTU จะใช้ไฟฟ้าไป พอกับพัดลมขนาด 16 นิ้ว มากถึง 16 ตัว / หรือถ้าคิดแบบหยาบ ๆ เครื่องแอร์ 1 เครื่อง จะกินไฟตกชั่วโมงละประมาณ 1 หน่วย ขณะที่พัดลมใช้ไฟฟ้าแค่ 0.05 หน่วยต่อชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้น จริง ๆ แล้วถ้าจะทำการทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ก็คงต้องทำกันโดยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้คงที่ เช่น จำนวนชั่วโมงที่เปิดแอร์ในแต่ละวันต้องเท่ากัน ช่วงเวลาที่เปิดแอร์ก็ต้องเป็นช่วงเดียวกัน (กี่โมงถึงกี่โมง) เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ก็ต้องไม่เปิดเพิ่มให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าแปรปรวนไป

หรืออย่างน้อย ถ้าดูจากคลิปวิดีโอยูทูบที่มีคนเคยทดลองเอาไว้ แบบควบคุมปัจจัย (ช่อง Clear Energy ตอน ‘เปิดแอร์ 25 องศา กับ 27 องศาและเปิดพัดลม ค่าไฟต่างกันแค่ไหน?’ (https://youtu.be/eEtjqLjh7sA?si=kmmGrn3UdXWMDzHt ) ซึ่งทดลองกับเครื่องแอร์แบบ Inverter และเมื่อวัดกระแสไฟฟ้า ระหว่างเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส พบว่าอยู่ที่ 8.58 แอมป์ ขณะที่วัดกระแสไฟฟ้าระหว่างเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมพัดลม จะอยู่ที่ 4.36 แอมป์ / ถ้าเปิดแอร์วันละ 9 ชั่วโมง คือตั้งแต่ 8 โมงเช้า-5 โมงเย็น ได้ผลว่าค่าไฟจะลดลงถึงประมาณ 50% เลยทีเดียว

ส่วนแอร์แบบรุ่นเก่าทั่วไป ที่ส่วนเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานแบบ fixed speed ที่ความเร็วรอบคงที่ ไม่ได้ปรับให้เร็วช้าได้แบบแอร์ Inverter และไม่ได้ประหยัดไฟเท่าแบบ Inverter อยู่แล้วนั้น ผลที่ได้จากการเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียสแล้วเปิดพัดลม ก็ไม่น่าจะประหยัดไฟฟ้าไปได้ถึง 50% ดังว่า แต่ก็น่าจะประหยัดไฟขึ้นแน่ ๆ (ถ้าอ้างอิงข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง ก็น่าจะได้ประมาณ 20%)

เมื่อย้อนกลับมาดูที่คลิปติ๊กต็อก ที่บอกว่าการเปิดแอร์แล้วใช้พัดลมช่วยทำให้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 200 หน่วย ซึ่งขึ้นสูงกว่าเดิมมากถึง 20% จากเดิม …ก็น่าสงสัยมาก ว่าจริง ๆ แล้วได้มีการใช้งานแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ หนักขึ้นกว่าเดิมด้วยหรือเปล่า ถึงได้มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นขนาดนั้นครับ

#โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต็อกที่แชร์กันนั้นยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่างๆ และผมยังเชื่อว่าการเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมเป่าตัว ช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา (โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก) ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมาก อย่างในคลิปดังกล่าวครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top