Wednesday, 30 April 2025
เทคโนโลยีAI

'ไทย' เจ๋ง!! ดึง Carbon Watch เทคโนโลยี AI มาใช้ครั้งแรกในไทย-อาเซียน อีกขั้นพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย 'อบก.-ไทยคม-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง'

(14 ก.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมของเรื่อง 'เงินบาทแข็ง' และอีกเรื่องสำคัญอย่าง 'Carbon Watch' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง...

เรื่องแรก เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับคำกล่าวของ Jerome Powell ประธาน Federal Reserve ในการรายงานภาวะเศรษฐกิจต่อสภา Congress ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานานสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศักยภาพในการเจริญเติบโต ตลาดการเงินจึงคาดว่าจะต้องมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอนภายในเดือนกันยายนนี้

กลับมาดูประเทศไทย ธปท. ยังคงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อของไทยที่ผ่านมาอยู่ใกล้ศูนย์หรือติดลบด้วยซ้ำ ความตึงตัวของนโยบายการเงินในประเทศเมื่อเทียบกับนโยบายการเงินทั่วโลกจึงเป็นสาเหตุหลักของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทดังกล่าวย่อมเป็นการซ้ำเติมความอ่อนแอและหน่วงรั้งโอกาสการเติบโตของประเทศ

แต่เป็นที่น่ายินดีที่การพัฒนาการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ของไทยได้มีการยกระดับการพัฒนาโครงการสูงขึ้นอีกก้าวใหญ่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน หรือ TGO) ได้ร่วมมือกับ 'บริษัทไทยคม' และ 'มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง' นำวิธีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) โดยเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า Carbon Watch มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีความถูกต้องแม่นยำ มีความรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำลง

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไทย จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น Carbon Watch จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สมควรได้รับการชื่นชม เป็นความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยการสนับสนุนของ อบก. และกลไกคาร์บอนเครดิต เราจึงเชื่อมั่นว่าจะมีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อขับเคลื่อนการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนของไทย

'สามารถ' แจง!! คลิปหลุด บ้านป่าฯ ไม่ใช่ของจริง ชี้!! เทคโนโลยี AI ไปไกลมาก ยกตัวอย่างใช้ AI ทำคลิปเสียง 'ลุงป้อม' ร้องเพลงข้ามกำแพง ก็มีมาแล้ว

(11 ก.ย. 67) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่มีคลิปเสียงสนทนาคล้ายเสียงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลุดออกมาเผยแพร่ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลมาก ทั้งในเรื่องจัดทำคลิปเสียง หรือปลอมคลิปเสียง พร้อมเปิดคลิปตัวอย่างที่มีการใช้ AI ทำคลิปเสียง พล.อ.ประวิตร ร้องเพลงข้ามกำแพงกับนาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

แต่ข้อเท็จจริง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ไปร้องเพลง และคนก็ไม่เชื่อว่าเป็น พล.อ.ประวิตร ทั้งที่มีภาพเงารูปร่างคล้าย พล.อ.ประวิตรมาก แล้วคลิปเสียงที่หลุดออกมาจะไปเชื่อว่าเป็นเสียง พล.อ.ประวิตรจริงได้อย่างไร แต่คนที่ปล่อยคลิปมีเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้คนเข้าใจผิด ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่เป็นธรรมกับ พล.อ.ประวิตร และกระบวนการตรวจสอบมีอยู่แล้ว 

ส่วนจะเป็นการดิสเครดิต พล.อ.ประวิตรหรือไม่นั้น นายสามารถ ยอมรับว่า การดิสเครดิตทางการเมืองมีทุกวันอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงนี้ แต่การโจมตี ให้ร้าย ใส่ร้าย สะท้อนว่า พล.อ.ประวิตรสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใช่หรือไม่ จึงมีกระบวนการนี้ออกมา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรคงจะไม่ได้ใส่ใจ เพราะไม่ใช่เรื่องจริง 

ส่วนความเป็นไปได้ที่คนอัดคลิปเสียงจะเป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรหรือไม่นั้น นายสามารถ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบ แต่โดยปกติ พล.อ.ประวิตรเป็นคนเปิดกว้างต้อนรับทุกคนที่ต้องการจะเข้าหาอยู่แล้ว ไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำ คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคลิปเสียงนั้นเป็นของจริง 

ส่วนกรณีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า เป็นเสียงของตัวเองจริงนั้น นายสามารถ บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่ทราบ และคงต้องไปถามนายสุทธิพงษ์เองว่า ท่านคุยเรื่องอะไร แต่ในส่วน พล.อ.ประวิตร เชื่อว่า ไม่ได้รับความเสียหายจากคลิปดังกล่าว เพราะไม่ใช่คลิปจริง จะไปถือเป็นสาระได้อย่างไร คงต้องไปพิสูจน์ก่อน ทางที่ดีต้องให้สื่อที่นำคลิปมาเปิดเผย บอกถึงกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้ได้มาจากใคร และได้มาอย่างไร 

“ส่วนตัวเชื่อว่า บ้านจันทร์ฯ น่าจะมีคลิปมากกว่า ไม่น่าจะเป็นที่บ้านป่าฯ แต่กระบวนถ้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงอยู่แล้ว และมองว่าประชาชนน่าจะสนใจคลิปที่บ้านจันทร์ฯ มากกว่า”

นายสามารถ กล่าวย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มองว่า พล.อ.ประวิตรเป็นคนดี ที่ไม่ได้สกรีนอะไรเลย อย่าไปมองว่าคนรอบข้าง พล.อ.ประวิตรจะไว้ใจไม่ได้ เพราะท่านมองทุกคนเหมือนลูกเหมือนหลาน และเป็นจิตใจดีเหมือนท่าน ไม่ได้ระแวดระวังใครเลย จึงควรนับถือหัวใจ พล.อ.ประวิตร และทุกครั้งที่ พล.อ.ประวิตรโดนกระทำ รังแก ก็ไม่เคยออกมาตอบโต้ แต่อาศัยความเป็นชายชาติทหาร เป็นนักรบ เป็น ผบ.ทบ. ใช้เกียรติของท่านรับเองทั้งหมด 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้รอบตัวของ พล.อ.ประวิตร อาจจะเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้นั้น นายสามารถ กล่าวว่า ขอให้มองว่าท่านเป็นคนดี ไม่ได้มีการคัดกรองอะไร ท่านเป็นบุคคลที่ควรนับถือหัวใจ ทุกครั้งที่โดนกระทำก็ไม่เคยออกมาตอบโต้ ใช้ความเป็นชายชาติทหารนักรบ โดยที่ไม่ได้ออกมาบอกว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนจะไปตรวจสอบอะไรหรือไม่ คิดว่าพล.อ.ประวิตรคงไม่ได้รู้สึก เพราะมันไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนอนาคตถ้าเป็นคลิปเรื่องคอขาดบาดตาย ก็ขอให้ค่อยว่ากัน อย่าคาดเดาเหตุที่ยังไม่เกิด 

นายสามารถ ยังมองการลาออกของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐว่าเหมือนกับนักฟุตบอล เพราะนักการเมืองก็เป็นอาชีพที่ไม่ใช่ว่าใครก็จะจับต้องไม่ได้ อาชีพที่มีเข้าออก ฟุตบอลเมื่อมีการเปิดฤดูกาลก็จะเห็นว่านักเตะหลายทีมไปเข้ากับทีมที่มีเงื่อนไขดีกว่า เราจึงควรเคารพการตัดสินใจ อย่างตระกูลรัตนเศรษฐ์ ที่ขอลาออกไปแบบนั้น ส่วนจะออกไปกันไปด้วยดีหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ไม่อยากให้มาเป็นประเด็นทางการเมือง 

ส่วนการลาออกของสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ แม้ว่ายังจะไม่ถึงระยะเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะพรรคจะได้เริ่มใหม่ ไม่ใช่มีแต่คนตระกูลใหญ่บ้านใหญ่ จะได้มีบุคคลใหม่ใหม่มาทำเพื่อชาติบ้านเมือง หากจะเอาแต่คนรุ่นเก่าไว้ก็จะการเมืองไม่ได้ ส่วนเหตุผลที่หลายคนลาออก เพราะไม่ชอบนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นั้น นายสามารถคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว อย่าเอามาตัดสินภาพรวม ในฐานะที่ตนอยู่ในพรรคมาตั้งแต่ปี 2561 เลขาธิการพรรคก็มีมาหลายคน ส่วนตัวก็เห็นว่านายไพบูลย์มีความเหมาะสมสำหรับช่วงนี้ที่พรรคต้องการจะปรับรูปแบบการดำเนินการ และย้ำว่าต้องเคารพความคิดเห็นของทุกคน

'สุริยะ' หารือ 'Huawei' ดึงเทคโนโลยี AI แก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมช่วยผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง

(27 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย ที่มีความยากลำบากในการแก้ไข ทั้งนี้หากเทคโนโลยีของ Huawei สามารถช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีเทคโนโลยีในการทำนายภัยพิบัติและเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการส่งเสริมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล และหาก Huawei สนใจจะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว กระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่จะให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

Mr. Richard Liu ผู้บริหารบริษัท Huawei กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบริษัท Huawei ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยหลายหน่วยงาน และนำเสนอเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet of thing) ระบบ Cloud และ AI ของ Huawei ซึ่งได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการจราจรทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนตรวจจับหรือคาดการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้งานระบบดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง 66% ลดต้นทุนได้ถึง 30% และลดการใช้พลังงานได้ถึง 17% 

ทั้งนี้ บริษัท Huawei ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ผ่านระบบ Smart Plan ซึ่งจะลดระยะเวลาเตรียมการในการขนส่งจากหลักชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที Intelligent Security Protection เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขนถ่ายสินค้า Ultra remote control ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบต่าง ๆ ได้มากถึง 80% และระบบ Intelligent horizontal transportation

ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 10% ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำให้การขนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพได้ตลอด 24 ชม. โดยดำเนินการผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางที่รวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดสถานการณ์สดจากถนน ท่าเรือสนามบิน และสถานีรถไฟ ผ่านศูนย์ Transportation Operation Coordination Center (TOCC) เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน และวิเคราะห์โดย AI เพื่อบริหารจัดการการจราจรและการขนส่งให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะสอดคล้องนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการเสริมสร้างด้าน Connectivity ในการขนส่ง อีกทั้ง สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน

‘ทูตรัสเซีย’ ชี้!! สื่อยุค AI ภัยคุกคามที่มาพร้อมความก้าวหน้า กับโจทย์ท้าทายของผู้รับสารที่ต้องแยกแยะข่าวจริงและข่าวปลอม

นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ ว่า ขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการสร้าง เผยแพร่ และบริโภคข้อมูล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ที่น่าทึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายที่สำคัญต่อความจริง ความเป็นกลาง และจริยธรรมของสื่อมวลชน

การเติบโตของสื่อที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เปิดขอบเขตใหม่ในการเข้าถึงข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพ และระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามภัยคุกคามที่มากับความก้าวหน้าดังกล่าว การแพร่ระบาดของข่าวปลอม (Fake News) วิดีโอ Deepfake และการใช้ระบบอัลกอริทึมในการกำหนดเนื้อหาข่าว ท้าทายความสามารถของเราที่จะแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องแต่ง ในยุคที่ข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา บทบาทของนักข่าวและผู้แสวงหาความจริงจึงมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ

หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่เราต้องเผชิญในวันนี้คือ การใช้ข้อมูลเป็นอาวุธ ข่าวปลอมไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของข้อผิดพลาดอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ในการกำหนดมุมมอง มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณะ และบิดเบือนความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Deepfake ที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถปลอมแปลงคำพูดของผู้นำโลก บิดเบือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ และสร้างการบิดเบือนเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้ เราต้องยอมรับถึงอิทธิพลของ สื่อกระแสหลักจากโลกตะวันตก ที่ครอบงำการกำหนดกรอบเนื้อหาในระดับสากล หลายครั้งที่เหตุการณ์ระหว่างประเทศถูกนำเสนอผ่านมุมมองเพียงด้านเดียว โดยละเลยความหลากหลายของมุมมองที่มีอยู่ในโลกที่มีหลายขั้วทางอำนาจ การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้ง เศรษฐกิจ และการเมืองโดยสื่อกระแสหลักของตะวันตกมักจะสร้างความไม่สมดุลในการรับรู้ของผู้ชม สื่อสารมวลชนจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นธรรม ความหลากหลาย และการเปิดกว้างต่อมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดสังคมโลกที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

รัสเซียให้ความสำคัญกับหลักการ อธิปไตยทางสื่อ และความจำเป็นในการมีมุมมองทางเลือกมาโดยตลอด ดังนั้น จึงอยากจะชวนทุกท่านเข้าร่วมเครือข่าย Global Fact-Checking Network ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระดับรากหญ้า ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริม ความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความแม่นยำ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แพลตฟอร์มอิสระเช่นนี้ รวมถึงองค์กรสื่อระดับชาติที่ไม่ใช่ของตะวันตก และโครงการดิจิทัลต่างๆ ที่พวกท่านเป็นตัวแทน ล้วนมีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลกับการนำเสนอข่าวระดับนานาชาติที่มักถูกผูกขาดในแนวทางเดียว

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี AI หากถูกนำมาใช้ อย่างมีความรับผิดชอบ จะสามารถช่วยส่งเสริม ความหลากหลายทางสื่อ ได้ โดยช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้แนวคิดต่างๆ ไหลเวียนอย่างเสรี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัย ความร่วมมือระหว่างนักข่าว นักวิชาการ และภาครัฐ เราต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมสำหรับการใช้ AI ในวงการสื่อมวลชน ดำเนินมาตรการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากข้อมูลเท็จได้

“ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสื่อสาร ขอให้เรายืนยันเจตนารมณ์ในการรักษาคุณค่าพื้นฐานของวงการสื่อ ได้แก่ ความถูกต้อง ความรับผิดชอบ และความเป็นธรรม อนาคตของสื่อสารมวลชนขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการปกป้องความจริงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว” เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top