‘หมอธีระ’ เผย แม้ WHO ประกาศยุติภาวะฉุกเฉิน แต่การระบาดยังมีอยู่ ย้ำ!! ‘คนไทย-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ อย่าประมาทโควิด-19
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 48,348 คน ตายเพิ่ม 295 คน รวมแล้วติดไป 687,652,147 คน เสียชีวิตรวม 6,870,442 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.28
อัพเดต XBB.1.16.x ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) พบว่าตอนนี้ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้นมีรายงานตรวจพบเพิ่มเป็น 48 ประเทศแล้ว สัดส่วนสายพันธุ์ในอเมริกา รายงานจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน XBB.1.5 ยังครองการระบาดอยู่ราว 67% ในขณะที่ XBB.1.16 และ XBB.1.9.x นั้นมีสัดส่วนพอๆ กันราว 13%
ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) เป็นคนละเรื่องกับการระบาดทั่วโลก (Pandemic)
เมื่อคืนนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนมีการประชุมเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนลักษณะการรายงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงจำนวนเสียชีวิตโดยรวมที่ลดลง การได้รับวัคซีนที่มากขึ้น และแรงกดดันในด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
ชุดเครื่องมือทางนโยบายจากประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้น ไม่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดปัจจุบันที่มีการระบาดต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะที่เรียกว่า subacute to chronic phases แบบในปัจจุบัน
ดังนั้น หลังยุติการประกาศ PHEIC ลงแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่าแต่ละประเทศจะรับมือ และจัดการสถานการณ์ระบาดที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
ทั้งระบบเฝ้าระวัง การกระตุ้นเตือนและให้ความรู้ประชาชน การควบคุมป้องกันโรค การเข้าถึงบริการ ยา วัคซีน รวมถึงการจัดการคน เงิน และทรัพยากรอื่นที่จำเป็น ทางองค์การอนามัยโลกได้เตือนไว้อย่างชัดเจนว่า การระบาดทั่วโลกยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่กังวล และย้ำเตือนให้ระวังคือ
“The worst thing any country could do now is to use this news as a reason to let down its guard, to dismantle the systems it has built, or to send the message to its people that COVID19 is nothing to worry about”
