Sunday, 20 April 2025
เชื้อไวรัส

ห้องแล็บในสหรัฐ ผสมเชื้อโอมิครอน+อู่ฮั่น ได้ 'โอมิครอน-เอส' อัตราการตายสูงถึง 80%

นักวิทย์ประณาม ห้องแล็บในสหรัฐฯ 'เล่นกับไฟ' เอาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่นแบบดั้งเดิม มาผสมกับโอมิครอน จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตถึง 80%

เมื่อวันที่ (18 ต.ค. 65) เว็บไซต์ข่าวเดลี่เมล รายงานอ้างคำเปิดเผยของศาสตราจารย์ชามูเอล ชาปีรา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของรัฐบาลอิสราเอล ที่กล่าวประณามนักวิจัยของห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยบอสตัน ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐฯ ที่ทำการทดลองเพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ไฮบริด ที่เกิดจากการสกัดหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีอัตราการแพร่เชื้อเร็วสูงสุด มาตัดแต่งเข้ากับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในเมืองอู่ฮั่น โดยใช้ชื่อว่า 'โอมิครอน-เอส'

นักวิทยาศาสตร์ของอิสราเอลระบุว่า การทดลองนี้เรียกได้ว่าเป็นการ 'เล่นกับไฟ' ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เพราะจากการทดลองกับหนูจำนวน 10 ตัวที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เพาะออกมาในห้องทดลองนี้ ปรากฏว่าหนูตายไป 8 ตัวจากจำนวนทั้งหมด 10 ตัว คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 80% 

รายงานข่าวระบุว่า การเปิดเผยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงอันตรายที่ยังคงดำเนินต่อไปจากการทดลองในห้องแล็บสหรัฐฯ ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าอาจเกิดการหลุดรอดออกมาของเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกรอบ แม้ว่าการทดลองเพาะเชื้ออันตราย อย่างงานวิจัยที่พยายามสร้างซูเปอร์ไวรัสขึ้นมาเพื่อศึกษาว่ามันจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างไรได้บ้าง (Gain of Function research) ได้ถูกสั่งห้ามในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ขณะที่มีความเชื่อกันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก มีต้นตอมาจากตลาดค้าสัตว์ป่า ที่อยู่ไม่ไกลจากห้องทดลองวิจัยเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของจีน

นายแพทย์ริชาร์ด อีไบร์ท นักเคมีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในเมืองนิว บรันสวิก รัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวว่า หากโลกต้องการปกป้องไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากห้องแล็บครั้งใหม่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอดส่องไม่ให้เกิดการวิจัยซูเปอร์ไวรัสอันตรายขึ้นมาอีก


ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2529533

https://ch3plus.com/news/international/frontpagenews/315895

'หมอยง' ชี้!! โรคปอดบวมในเด็กที่กำลังระบาด เป็นเชื้อที่มีอยู่เดิมแล้ว  เมื่อติดเชื้อจะมีภูมิต้านทาน หากติดปีต่อๆ ไป ความรุนแรงก็จะน้อยลง

(4 ธ.ค. 66) นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ที่เพิ่มมากขึ้น’ ระบุว่า มีการระบาดและเพิ่มมากขึ้นของปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ยังพบมากในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อเมริกาในหลายรัฐ และแม้แต่ในประเทศไทย

จากการระบาดของโควิด-19 มาถึงขณะนี้เป็นเวลา 4 ปี ในช่วง 3 ปีแรก มีมาตรการเข้มงวด เคร่งครัด ควบคุมการระบาดของโรค ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือ ปิดบ้านปิดเมือง รวมทั้งปิดโรงเรียน ทำให้โรคทางเดินหายใจ ไม่ระบาด เด็กที่เกิดในช่วงนี้ จึงยังไม่เคยเป็นโรคดังกล่าว หรือถ้าเป็นมาแล้วในเด็กโตก็นานมาแล้ว ทำให้ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็ก ง่ายต่อการติดเชื้อ เกิดระบาดได้ง่าย เป็นกลุ่มใหญ่ ชดเชยกับปีที่ผ่านมาที่ไม่มีการระบาด

โรคทางเดินหายใจในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ RSV parainfluenza virus rhinovirus hMPV เป็นเชื้อที่มีอยู่เดิมแล้ว ไม่ได้เป็นเชื้ออุบัติใหม่แต่อย่างใด เมื่อติดเชื้อไปแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ปีต่อ ๆ ไปถึงจะมีการติดเชื้ออีก อาการความรุนแรง ก็จะน้อยลง

ความรุนแรงของโรคส่วนใหญ่จะอยู่ในเด็กเล็ก กลุ่มเปราะบางที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ถ้าเป็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่แข็งแรงจะมีอาการน้อย

ออสเตรเลียตามหาด่วน ไวรัส 323 หลอด หายจากแล็บ หวั่นถูกใช้ทำอาวุธชีวภาพ

(11 ธ.ค.67) ทางการรัฐควีนส์แลนด์เปิดเผยว่า หลอดบรรจุไวรัสชนิดร้ายแรงจำนวน 323 หลอดได้หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ส่งผลให้รัฐบาลออสเตรเลียสั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์นี้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แต่ได้รับการยืนยันเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าหลอดบรรจุไวรัสอาจหายไปหลังจากตู้แช่ไวรัสเกิดความเสียหาย

รายงานระบุว่า รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ได้เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหลอดบรรจุไวรัสที่หายไปนั้น ถูกขโมยหรือถูกทำลายแล้ว นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อประชาชน 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชี้ว่า ไวรัสที่อันตรายเหล่านี้จะตายอย่างรวดเร็วเมื่อนอกตู้แช่และไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยทางการยืนยันว่าแม้ตัวอย่างไวรัสเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในการผลิตอาวุธชีวภาพได้ แต่ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง โดยไวรัสที่หายไปประกอบด้วย

ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus) เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน พบเฉพาะในออสเตรเลียและมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 57% ไวรัสนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 หลังเกิดการระบาดในม้าแข่ง 21 ตัวและมนุษย์ 2 คน ที่เมืองเฮนดรา ชานเมืองบริสเบน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากค้างคาวผลไม้

ไวรัสฮันตา (Hantavirus) เป็นไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีต้นกำเนิดจากหนูและแพร่ผ่านมูล ปัสสาวะ และน้ำลายของหนู เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสฮันตา อาการทั่วไปได้แก่ ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย และของเหลวในปอด ศูนย์ป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าไวรัสชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 38%

ลิสซาไวรัส (Lyssavirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ประมาณ 59,000 คนทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top