Tuesday, 13 May 2025
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม

วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปีคือ ‘วันเด็ก’ แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันสุขของเด็กๆ ที่จะได้สัมผัส รถถัง เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ เก้าอี้นายกฯ เก้าอี้ผู้ว่า ฯลฯ คือเรียกว่าได้ฝันเป็นอาชีพนั้นๆ อย่างมีความสุข พอนึกถึงมุมนี้ ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ผมได้รำลึกถึงคือ เจ้านายที่เป็นยุวชน ซึ่งวัยเด็กของพระองค์คือการเรียนรู้เพื่อปกครองบ้านเมือง เป็นยุวชนที่มีมุมมองของขัตติยะ แม้ในท้ายที่สุดพระองค์จะมิได้ขึ้นครองราชย์เนื่องจากทรงสวรรคตไปเสียก่อน

‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม คือเจ้านายพระองค์นั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 โดยพระนาม ‘มหาวชิรุณหิศ’ แปลว่า ‘มงกุฎเพชรใหญ่’ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Crown Prince’ คือ ‘พระราชสมภพมาเพื่อสวมมงกุฎ’ 

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของ ‘กรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงสถาปนาตำแหน่ง ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เพื่อเป็นองค์รัชทายาทแทน โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน ส่วนพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2430 พระชนมายุ 9 พรรษา 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช’ เป็นอธิบดีอำนวยการพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ การพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการพิธีพิเศษใหญ่ยิ่ง สมควรจะมีการเฉลิมพระเกียรติยศต่อการพระราชพิธีให้สมควรแก่กาลสมัยด้วย 

สมเด็จฯ กรมพระภาณุพันธุวรเดชได้ทรงคิดให้มีการเลียบพระนคร เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ออกประทับพลับพลาหน้าท้องสนามไชย พระราชทานเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธี การแห่เรือกระบวนพยุหยาตราในท้องน้ำ แล้วแข่งเรือคล้ายกับพระราชพิธีกาศวยุช

พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ทำแพลงสรง เครื่องประดับพระมณฑปและเครื่องพิธีต่างๆ ทั้งยังให้ซ่อมแซมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสำหรับตั้งการพระราชพิธี รวมทั้งตกแต่งซ่อมแซมเรือกระบวน เครื่องต้นสำหรับทรงแห่สมโภช และให้มีศุภอักษร ท้องตราถึงหัวเมืองประเทศราช เมือง เอก โท ตรี จัตวา ให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยครั้งนี้ โดยมีพระราชพิธีรวมทั้งสิ้นถึง 9 วัน

เมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ในปี พ.ศ. 2433ได้มีพระราชพิธีโสกันต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 8 วัน ก่อนที่ในปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2434 โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศ วริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช

พระองค์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เสด็จฯ ออกรับฎีกาที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย / เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีและพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีเผด็จศกมหาสงกรานต์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / การเชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) / ทำบุญสดับปกรณ์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา

ต่อมาเมื่อได้สถาปนาพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ นอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจดังเดิมเหมือนเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระลูกยาเธอแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองเยี่ยมเยือนทุกข์สุขราษฎร รวมถึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น เสด็จฯ ออกรับอาร์ชดยุกลิโวโปลด์แห่งออสเตรียและคณะ พร้อมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี / ทรงเป็นสภานายกกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ / เสด็จ ฯ พระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนสุนันทาลัย (เพียบเลย) 

และเมื่อ พระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการทหารบก ทหารเรือ ให้เรียบร้อยเป็นระเบียบแบบแผน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป ซึ่งตรงกับตำแหน่งภาษาอังกฤษว่า ‘คอมมานเดออินชิฟ’ โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รับตำแหน่ง แต่โดยที่ทรงเห็นว่ายังทรงพระเยาว์ จึงให้ตราพระราชบัญญัติตั้งกรมทหารควบคู่ไว้ด้วยเพื่อช่วยการจัดระเบียบให้เป็นแบบแผนเดียวกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top