รู้จัก 'เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด' เจ้าของฉายา 'มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์' ผู้เปิดประตู 'ไทย-ซาอุฯ' หลังล้างรานาน 32 ปี
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ในฐานะผู้นำประเทศ เพื่อฟื้นสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี โดยระบุว่า “มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์ ผู้เปิดประตู ไทย-ซาอุฯ หลังจาก 32 ปี ที่หายไป”
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด เป็นพระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน พระชนมพรรษา 79 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558
ทรงมีพระมเหสี 3 พระองค์ พระราชบุตร 9 พระองค์
เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน พระชันษาเพียง 36 ปี ผู้เป็นโอรสองค์ที่เจ็ดของกษัตริย์ซัลมาน และบุตรชายคนโตในจำนวนหกคนอันที่เกิดจากภรรยาคนที่ 3 ของกษัตริย์ซัลมาน ได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทแห่งซาอุฯ
ซึ่งทำให้พระองค์ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จในหลายส่วน กล่าวคือ นอกจากเป็นมกุฏราชกุมารแล้ว เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ประธานสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและพัฒนา เป็นประธานสภากิจการการเมืองและความมั่นคงเป็นที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์และยังเป็นประธานกองทุนความมั่งคั่งซาอุฯ PIF
เจ้าชายซัลมานมีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่ที่ราว 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 600,000 ล้านบาท
ทรงเป็นเจ้าของ ”เดอะชาโต หลุยส์ ที่ 14” ในลูฟวร์เซียนส์ ใกล้กับพระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส บ้านที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลก ด้วยราคา 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 10,600 ล้านบาท
นอกจากพระองค์ได้ประมูลภาพเขียนล้ำค่า “ซัลเวเตอร์มุนดี” ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ในราคาประมูล 450 ล้านดอลลาร์ หรือราว 15,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาประมูลภาพวาดที่สูงที่สุดในโลก
ส่วนทรัพย์สินของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 57 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าราชวงศ์อังกฤษที่มีมูลค่า 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติตะวันตกจากการเดินหน้าปฏิรูปสังคมซาอุดีอาระเบียในหลายด้าน โดยเฉพาะเปิดเสรีแก่สตรีมากขึ้น ท่ามกลางสังคมซาอุฯ ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด
พระองค์เป็นผู้ริเริ่มแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ซึ่งเป็นแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน แล้วหันไปเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เช่น
การพัฒนาภาคบริการสาธารณะ พัฒนาซาอุฯ ให้เป็น hub แห่ง logistic การเปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน การเพิ่มการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
