Wednesday, 23 April 2025
เจือ_ราชสีห์

‘เจือ ราชสีห์’ ตรวจเยี่ยมโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา แก้ปัญหาการสัญจร-ผลักดันสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัด

(2 ก.ค.67) เมื่อไม่นานมานี้ ‘เจือ ราชสีห์’ ผลักดัน-ติดตามโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อม อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา อย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สงขลา

นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ร่วมประชุมคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่าง อ.เมืองสงขลาและอ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา ณ บริเวณท่าแพขนานยนต์ ฝั่งเทศบาลนครสงขลา 

ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่และได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดเล็ก โดยมีนายไผท ทันประจำสินธุ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทสงขลา นางปิยวรรณ ชูนวล ตัวแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา นางภัตติมา รุ่งพัฒนพันธ์ ปลัดอำเภอเมืองสงขลาตัวแทนนายอำเภอเมืองสงขลา และตัวแทนภาคประชาชน ได้ลงพื้นที่ดูทางขึ้น-ลงของสะพาน เพื่อสรุปรายงานผลให้กับที่คณะกรรมการที่ประชุมใหญ่ได้ทราบในครั้งต่อไป 

ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทางสัญจรไป-มา ระหว่าง อ.เมืองสงขลาและอ.สิงหนคร ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น และจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาได้อีกทางหนึ่งด้วย

'ปลากะพง 3 น้ำ' สุดยอดปลาแห่งทะเลสาบสงขลา 'ความฝัน-ความทุ่มเท' ของชายชื่อ 'เจือ ราชสีห์'

ถือเป็นอีกบทบาทคู่ขนานของ 'นายเจือ ราชสีห์' ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนักการเมืองคนสำคัญในจังหวัดสงขลา ที่ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสมาทำความรู้จัก ในหมวกอีกใบกับบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังและผลักดันคุณภาพชีวิตชาวสงขลา ผ่านการสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลผลิตจากปลากะพง ต.เกาะยอ อ.เมือง สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ให้มีความโดดเด่น โดยเฉพาะตำบลเกาะยอ จนกลายเป็น 'ปลากะพง 3 น้ำ' (น้ำจืด-น้ำเค็ม-น้ำกร่อย) และได้รับรองคุณภาพด้วยมาตรฐาน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และเนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน

ไม่เพียงเท่านั้น 'เจือ ราชสีห์' ยังได้ผลักดันให้ชาวชุมชนเกาะยอ นำผลผลิตออกมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน แถมสามารถจัดเก็บได้นาน รสชาติยังคงเหมือนเดิม เช่น ปลากะพงแช่แข็งแบบสุญญากาศ ปลากะพงรมควัน ปลากะพงซาชิมิ จนสามารถขึ้นห้างสยามพารากอนได้ในปัจจุบัน

THE STATES TIMES เริ่มบทสนทนา กับ 'เจือ ราชสีห์' ถึงจุดเริ่มต้นและที่มาที่ไปของปลากะพง 3 น้ำ ซึ่ง เจือ ก็เล่าให้ฟังว่า "นี่คือหนึ่งในของเลื่องชื่อของจังหวัดสงขลา และถือเป็นอาชีพที่ทำสืบต่อกันมาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่น้อยกว่า 50 ปี โดยมีการปรับตัวตามยุคสมัยมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะไม่ถึงกับทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาร่ำรวยจนเป็นเศรษฐี เศรษฐีนี แต่อาชีพนี้ก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาหลายครอบครัว หลายช่วงอายุคน"

จุดเปลี่ยน!! เจือ เล่าต่อว่า "โอกาสสำคัญที่เริ่มทำให้ผู้เลี้ยงปลากะพง 3 น้ำได้ลืมตาอ้าปาก เกิดขึ้นเมื่อช่วงวิกฤตโควิด-19 หลังจากบรรดาลูกค้าทั้งร้านอาหาร โรงแรม ตลาดในพื้นที่เงียบเหงา เท่านั้นยังไม่พอยังถูกซ้ำเติมด้วยปลากะพงจากมาเลเซียที่ราคาถูกกว่า ช่วงนั้นต้องยอมรับว่าอาชีพนี้เกือบสูญหายจากทะเลสาบสงขลา...

"ช่วงนั้นทั้งผม ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ได้ไปร้องขอกระทรวงพาณิชย์ มีการอุดหนุนส่วนต่างราคา ทำให้อาชีพนี้ ยังคงดำรงอยู่ได้...

"แต่สุดท้าย ยังไงก็ตาม เราจะไปขอให้รัฐบาลช่วยเหลือตลอดไปไม่ได้ เราต้องยืนหยัดสู้ด้วยลำแข้งลำขาของตัวเราเอง"

นายเจือ ยังได้ขยายความช่วงแห่งการยืนหยัดให้ฟังต่อว่า "เรากลับมาเริ่มต้นค้นหาจุดแข็งของปลากะพงของเรา โดยจุดแข็งของปลากะพงของเรา คือ สถานที่ที่เราเลี้ยง นั่นคือ ทะเลสาบสงขลาที่มีน้ำ 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้ปลาของที่นี่อร่อยมากเป็นพิเศษ เป็นปลากะพงที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน สร้างเอกลักษณ์ให้รสชาติ ภายใต้เนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน...

"เมื่อปลากะพง 3 น้ำ สร้างเอกลักษณ์สุดพิเศษได้ เราก็นำไปต่อยอดด้วยการขอ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นปลากะพงเจ้าแรกและเจ้าเดียวในขณะนี้ที่ได้รับเครื่องหมาย GI ซึ่งสิ่งนี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่ทำให้ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา จนปัจจุบันมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก"

เมื่อพูดคุยกันถึงจุดนี้ ก็ทำให้ผู้สัมภาษณ์นึกย้อนไปถึงตำราของ 'ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์' หนึ่งในปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ที่มักจะเน้นย้ำถึงการแสวงหาจุดแข็ง และใช้จุดแข็งในการต่อยอดความสำเร็จ ซึ่งในรายละเอียดเชิงที่ไม่ได้ลงไว้ ณ ที่นี้ ช่างสอดคล้องกับวิธีคิดของ 'เจือ ราชสีห์' เหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม 'เจือ' ก็ยังกล่าวอย่างถ่อมตนว่าความสำเร็จของปลากะพง 3 น้ำในวันนี้ยังต่อยอดไปได้อีกมาก และยอมรับว่า ยังมีองค์ความรู้บางอย่างที่สามารถค้นหาเพื่อเติมเต็มลงไปในสินค้าได้อีกเยอะ แม้พื้นฐานของผู้คนที่นี่จะมีประสบการณ์ในด้านการเพาะเลี้ยงมาไม่น้อยกว่า 50 ปีก็ตาม

"ในอนาคตเรายังต้องนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ปลาของเราอย่างต่อเนื่อง เช่น การถนอมปลาแบบอิเคะจิเมะ (เทคนิคขั้นสูงในการเก็บรักษาปลา ที่ทำให้ปลาตายโดยเฉียบพลัน) ซึ่งจะช่วยคงคุณภาพให้กับตัวสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาเค็ม, ปลารมควัน, หนังปลาทอดกรอบ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาอยู่และไปได้สวย"

ไม่เพียงแค่เรื่องของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ 'เจือ' ยังมองไกลไปถึงเรื่องของการออกร้านที่ต้องทำให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดต่อผู้มาแวะเวียนอีกด้วย

"ร้านในรูปแบบเดิม ที่เราเอาแค่สินค้าสดออกไปโชว์หรือไปขายอย่างเดียว มันคงไม่พออีกแล้ว เราต้องเพิ่มเติมบางอย่างเข้าไป อย่างเช่น ตอนนี้เราทำอาหารปรุงสำเร็จควบคู่ไปกับขายปลาสดพร้อมๆ กัน เพื่อให้ลูกค้าได้ชิมกันสดๆ ไปเลยว่าถูกปากหรืออร่อยกว่าปลากะพงที่อื่นไหม ตรงนี้ก็กลายเป็นจุดดึงดูดที่ทำออกมาได้ดีทีเดียว"

ท้ายที่สุด 'เจือ' ได้บอกกับ THE STATES TIMES อีกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำกับชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องเสมอ ก็คือ เขาจะไม่ยอมให้ปลากะพง 3 น้ำ ไปสู้ในตลาดที่เน้นการตัดราคากันเด็ดขาด เขาอยากให้ทุกคนสู้ที่คุณภาพ จงเชื่อมั่นและมั่นใจว่าปลากะพง 3 น้ำคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าใครแน่นอน...

"ความฝันของผมนะ ผมอยากเห็นปลากะพง 3 น้ำของทะเลสาบสงขลา เป็นเหมือนกับแซลมอนที่ส่งออกไปทั่วโลกได้ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจือ ราชสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เจือ ราชสีห์’ เผย!! ความคืบหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม เสียงคณะกรรมาธิการฯ เกินครึ่ง ไม่นิรโทษพวกล้มเจ้า

(26 ก.ย. 67) จากส่วนหนึ่งของรายการ ‘ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ ‘นายเจือ ราชสีห์’ หนึ่งในคณะกรรมวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน / อดีต สส.สงขลาหลายสมัย ในประเด็น ‘ต้องไม่นิรโทษกรรม ม.112’ ได้สร้างความกระจ่างชัดเบื้องต้นในห้วงเวลานี้ว่า ความผิดใดที่เข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมและความผิดใดไม่ควรนิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

เจือ กล่าวว่า หากสรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เวลากันอย่างเข้มข้นในช่วงประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยมีเอกสารมากถึง 299 หน้า แล้วมีผนวกอีกสองเล่มใหญ่ พอจะผลสรุปว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายการนิรโทษ และแบบไหนไม่เข้าข่ายการนิรโทษ...

โดย เจือ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเยอะมาก จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และก็มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ช่วงพันธมิตรก็ดี เหตุการณ์ นปช.ก็ดี เหตุการณ์นักศึกษาออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ดี รวมถึงกลุ่มเยาวชนสามนิ้วนั้น ก็นำมาสู่แนวคิดที่จะหาทางพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองร่วมกันแบบยั่งยืน

ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ จึงถูกผุดขึ้นภายหลังช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเรื่องนี้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการยื่นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดนี้มาที่ ‘พรรครวมสร้างชาติ’ ซึ่ง สส.ของพรรครวมทั้งชาติต่างก็ได้รับฟังและมองว่า เราคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางรวมไทยสร้างชาติได้เสนอเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘พรบ.สันติสุข’ ขึ้นมาในนามของพรรคเข้าไปด้วย

“ย้อนไปเมื่อต้นปี (2567) เริ่มมีการพูดคุยกันว่า เราจะเริ่มต้นยังไงดี? เราจะเอาเหตุการณ์ไหนบ้าง? กี่เหตุการณ์? ความผิดไหนเราจะนิรโทษ? หรือความผิดไหนเราไม่นิรโทษ? มาพูดคุยกันในวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้แม้จะค่อนข้างตรงประเด็นชัดเจน แต่เวลาตอบเราจะตอบให้มันละเอียดขนาดนั้นทันทีคงไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องร่วม 20 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”

นายเจือ ได้เผยต่ออีกด้วยว่า “ก่อนหน้าที่จะมีญัตติให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นรายละเอียดเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ไปแล้ว (พรบ.สันติสุข) พร้อมด้วยร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และของพรรคประชาชน ซึ่งเท่ากับมีอยู่ 3 ร่างคาสภาอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางรัฐบาล จึงมีความประสงค์ให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เลยมีคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า ‘คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม’ ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย”

เจือ เล่าต่อว่า คณะฯ ดังกล่าว ได้เริ่มต้นให้มีการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพิจารณา ไว้ดังนี้…

1. กำหนดกรอบเวลา ว่าจะกำหนดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาถึงปัจจุบัน
2. กำหนดกรอบการนิรโทษกรรม ว่าจะให้มีอะไรบ้าง

จากนั้นกำหนดกรอบ ก็เริ่มมีการไล่ลำดับเหตุการณ์ โดยมีการเชิญกลุ่มต่าง ๆ (พันธมิตร / นปช. / กปปส. / นักศึกษา / เยาวชนสามนิ้วที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น) มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว 

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มาลงลึกไปอีกว่า ถ้าจะนิรโทษ จะนิรโทษความผิดอะไร โดยยึดโยงเหตุการณ์ที่อิงข้อมูลหลักฐานจากหน่วยงาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ, อัยการ และ ศาล ถึงจะมาสรุปเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรคลุมในฐานความผิดอะไรบ้าง

“อันที่จริงแล้ว ผมอยากเรียนกับทุกท่านแบบนี้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดหลายส่วน ต่างก็โดนบทลงโทษกันไปเกือบหมดแล้ว ประเมินก็เรียกว่าลงโทษกันไปเกินครึ่งแล้ว ทั้งพันธมิตร, นปช. และ กปปส. เพียงแต่ยังเหลือกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะได้อานิสงส์ผลพวงจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้” เจือ เสริมและกล่าวต่อว่า...

“ทีนี้ ถ้าจะมามองกันในแง่ของฐานความผิด จะครอบคลุมอย่างไร และเราจะหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยเงื่อนไขไหน ซึ่งตรงนี้เราได้ข้อมูลมาเยอะมาก โดยมีทั้งฐานความผิดหลัก, ฐานความผิดรอง หรือคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาแยกให้ออก ว่าแบบใดถึงจะเข้าข่ายกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ซึ่งเบื้องต้นต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ถ้าเกิดจากการกระทำโดยความแค้นส่วนตัว ก็ไม่เกี่ยว คิดจะโกงบ้านกินเมืองไม่เกี่ยว หรือก่อกบฏ ประทุษร้ายต่อประเทศ ก็ไม่เกี่ยว เป็นต้น…

“พูดง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องต่อแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ต้องเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นิยามหลักอยู่ตรงนี้”

>> กรอบเวลา และ กรอบการนิรโทษ
เจือ เผยว่า ในส่วนของเรื่องห้วงเวลา ช่วงเวลานิรโทษจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ต่อทั้ง คดีหลัก คดีรอง และ คดีอ่อนไหว โดย ‘คดีหลัก’ จะหมายถึง ความผิดฐานก่อกบฏ ก่อการร้าย ต่อมา ‘คดีรอง’ เช่น การปะทะกับเจ้าหน้าที่ การทำผิดกฎหมายจราจร เป็นต้น ซึ่ง คดีหลัก-คดีรอง ฟันธงให้ นิรโทษกรรม ได้

แต่ที่สำคัญ คือ ‘คดีอ่อนไหว’ ซึ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) กับ มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พระราชินีฯ) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งช่วงระยะหลังคนไทยจะคุ้นเคยดีกับ มาตรา 112 

>> ‘คดีอ่อนไหว-หมิ่นเจ้าฯ’ ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม 
ทั้งนี้ในส่วนของ ‘คดีอ่อนไหว’ เจือ เผยว่า มีการพูดคุยกันอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่…

1.ไม่นิรโทษกรรมให้เลย 
2. นิรโทษทั้งหมด
3. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

“ในวงคณะกรรมาธิการที่มีการพูดคุยในเรื่องของคดีอ่อนไหว จะพบว่า ทางคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน ซึ่งรวมผมด้วย และมติโดยรวมเกิน 55-60% เห็นว่า ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ ให้ ส่วน 30% ก็คือต้องการนิรโทษ และเสียงที่เหลืออยากให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันที ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่? อย่างไร? ซึ่งแม้เสียงในวงประชุมจะมีมากกว่า 55% ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมกับคดีอ่อนไหวนี้ แต่ก็ยังไม่นับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นจึงต้องมีการไปให้ความเห็นจากแต่ละคนในเชิงของรายงานต่อที่ประชุมสภาต่อไป ในวันที่ 3 ตุลาคม ต่อไป”

>> ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จุดยืนชัดเจน!!
แน่นอนว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนอย่างมาก ที่ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพราะอะไร? โดย เจือ ย้ำหนักแน่นว่า “ก็เพราะเราได้มีการนิยามคำว่าการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนแล้ว คือ ต้องเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ในส่วนของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม หากแต่ผู้ที่ต้องการรับพระราชอภัยโทษ ต้องไปรับโทษเสียก่อนเท่านั้น นี่คือหลักของกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยอย่างไม่มีเหตุผล กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่คือความชัดเจน”

เจือ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการทำงานร่วมกันนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอไว้ในสาธารณะ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘กฎหมายอาญาร้ายแรง-ฆ่าคนตาย’ ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการระบุแนบเสริมไว้ โดยมองว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกระแสเสียงในวงประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นไปในทางเห็นด้วยค่อนข้างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการพูดคุยกันอย่างรอบคอบก่อนออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในการกำหนดกรอบการนิรโทษหรือไม่นิรโทษยังไงนั้น คงทำได้แค่รอดูผลจากการประชุมสภาวันที่ 3 ตุลาคมที่จะถึงนี้อีกรอบ...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top