Tuesday, 22 April 2025
เจษฎา_เด่นดวงบริพันธ์

'ดร.เจษฎา' ช็อตฟีล บั้งไฟพญานาคปีนี้ จากหลักร้อยเหลือหลักสิบ พร้อมแนะ!! เลิกมั่วทฤษฎีแก๊สพุ่งจากน้ำ แค่กระสุนส่องวิถีจากฝั่งลาว

(30 ต.ค. 66) จากกรณีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่ริมแม่น้ำโขง จ.หนองคาย ที่เกิดขึ้นในวันออกพรรษา โดยในปีนี้บั้งไฟลูกแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น. จำนวน 29 ลูก ที่บ้านต้อน อ.รัตนวาปี หลังจากนั้นก็มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกระจายในหลายจุดอาทิ บ้านตาลชุม , บ้านเปงจานเหนือ อ.รัตนวาปี, ที่วัดไทย อ.โพนพิสัย

โดยเบื้องต้นนับตั้งแต่มีบั้งไฟพญานาคลูกแรกเกิดขึ้นจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นแล้วนับได้ 61 ลูก และคาดว่าจะมีบั้งไฟพญานาคให้เห็นไปจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น.

ซึ่งต่อมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ แชร์ภาพข่าวบั้งไฟพญานาค โดยระบุว่า "เทศกาลยิงกระสุนส่องวิถีชัดๆ ทฤษฎีเรื่องแก๊สพุ่งจากน้ำมันมั่วครับ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้นได้ สื่อก็เลิกพูดตามๆ กันดีกว่าครับ ยอมรับมาเถอะว่ามันแค่กระสุนส่องวิถี ยิงขึ้นจากฝั่งลาวชัดๆ"

อ.เจษฎา ยังทิ้งท้ายด้วยว่า "ปีนี้ ยิงกันน้อยลงเยอะครับ จากหลักร้อยเหลือแค่หลักสิบนัดเอง สงสัยเศรษฐกิจไม่ดี" 

‘อ.เจษฎา’ โต้ ‘น้าแอ๊ด’ ปมอุเทนฯ-จุฬาฯ เสมือนพี่น้องกัน ชี้!! อยู่ในรั้วจุฬาฯ มา 30 ปี ไม่เคยรู้สึกแบบนั้นสักนิด

(28 ก.พ. 67) จากกรณี นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง วงคาราบาว ศิษย์เก่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหนุนศิษย์เก่าและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขตอุเทนถวาย คัดค้านการย้ายที่ตั้งสถาบันไปยังพื้นที่อื่น 

โดยระบุตอนหนึ่งว่า อุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์ เป็นเสมือนพี่น้องกันที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานแผ่นดินคนละผืน (อุเทนฯ ผืนเล็ก จุฬาฯ ผืนใหญ่) เพื่อมุ่งหวังให้ช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองให้รุ่งเรืองมาตราบจนทุกวันนี้ 

ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าวว่า

"อุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์ เป็นเสมือนพี่น้องกัน"

“ผมอยู่ในรั้วจุฬาฯ มาตั้งแต่เด็กประถม จนถึงทำงานตอนนี้ ก็ร่วมจะ 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกสักนิดเลยครับ ว่าเป็นพี่น้องกับเค้า หึๆๆ”

“รอดูต่อไป ว่า #กฎหมู่จะอยู่เหนือกฎหมาย หรือเปล่า”

จากนั้น ดร.เจษฎา โพสต์อีกว่า “อยากถามทั้งศิษย์เก่าจุฬาฯ และอุเทน ว่าเคยรู้สึกเป็น "พี่น้อง" กันมั้ยครับ ผมไม่เคยนะ หึๆ (แล้วใครเป็นพี่ ใครเป็นน้องเนี่ย)”

‘ดร.เจษฎา’ เฉลย!! ปมผวา ‘ปลานิลคางดำ’ ไม่มีจริง ชี้!! แค่ ‘ปลาหมอคางดำ’ ที่กินเยอะจนตัวใหญ่

(31 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ถึงประเด็นปลานิลกลายพันธุ์ หรือเป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ เป็นปลานิลคางดำ โดยระบุว่า…

มันคือ ‘ปลาหมอคางดำที่อ้วน’ แค่นั้นแหละครับ…ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์

เช้าวันนี้มีพาดหัวข่าว กันหลายสำนักข่าวเลย ว่าเจอ ‘ปลานิลคางดำ’ ปลานิลกลายพันธุ์มาจากปลาหมอคางดำ หรือเป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ!? 

ซึ่งผมว่า มันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไรหรอกครับ เพราะดูตามในรูป ในคลิปข่าวแล้ว ก็ปลาหมอคางดำนั่นแหละครับ... แค่มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

จากข้อมูลของที่แอฟริกา ปลาหมอคางดำนั้น ถ้าเติบโตดี อาหารดี จะยาวเฉลี่ย 8 นิ้วนะครับ และสถิติตัวยาวสุดนี่ ถึงขนาด11 นิ้วเลยครับ (และเป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่นครับ)

การจำแนกความแตกต่างระหว่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ ออกจาก ‘ปลาหมอเทศ’ และ ‘ปลานิล’ ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอมครับ 

โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เคยโพสต์ข้อมูลไว้ว่า ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron) จะมีลักษณะเด่นคือ ใต้คาง มักมีแต้มดำ หางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใด ๆ 

ในขณะที่ ปลาหมอเทศ หรือ  Mozambique tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) จะมีแก้ม ในตัวผู้มักมีแต้มขาว หางมน มีขอบแดงเสมอ 

ส่วนปลานิล หรือ Nile tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ O. niloticus) จะมีแก้มและตัวสีคล้าย ๆ กัน หางมน และมีลายเส้นคล้ำขวางเสมอ

ซึ่งถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะ ‘ลายเส้นคล้ำขวาง (ตามลำตัว และหาง)’ แบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้นครับ!

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศนั้น (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) เลยครับ การที่อยู่ ๆ ในเวลาไม่กี่ปีนี้ มันจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย 

ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุล ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำนั้น เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ว่ามีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติครับ 

‘อ.เจษฎ์’ ยืนยัน!! ‘ต้นไมยราบ’ ใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ ตอบสนองไวต่อ ‘ลม-น้ำฝน-แมลง’ มากกว่าแรงสั่นแผ่นดินไหว

(5 เม.ย. 68) จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา แต่ส่งผลกระทบกับไทยในหลายจังหวัดและเป็นสาเหตุของตึก สตง. ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและ สูญหายหลายราย หลังจากนั้นในโซเชียลก็ได้มีข้อมูลส่งต่อกันว่า ‘ต้นไมยราบ’ สามารถเตือนแผ่นดินไหวได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘อ.เจษฎ์’ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ว่า….

“ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราบมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า”

“โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว?”

“ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”

“แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่น ๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็ก ๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”

“สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้”

“โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic, EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ”

“แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก”

“คำสรุปก็คือว่า เรื่อง ‘ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า’ ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่าง ๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top