Sunday, 30 June 2024
เงินฝืด

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผลพวงความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ

(10 พ.ย.66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ไว้ว่า...

ขณะนี้สัญญาณเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ดังที่ผมมักจะพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ไว้เสมอ โดยได้เคยส่งสัญญาณเตือนไว้กว่า 6 เดือนมาแล้ว ว่า...

ไทยอาจจะตามจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาที่ -0.31% น่าจะถือเป็นการตบหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อ้างเงินเฟ้อสูงในการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความตกใจและถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด 

ดังนั้นเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นผลกระทบจากโลก แต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางนโยบายเป็นหลัก และเป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายสูงมากกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบและน่าจะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องมี Fiscal Stimulus ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของแบงก์ชาตินี้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  หลังแบงก์ชาติดำเนินนโยบายพลาดเป้า

(30 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดของประเทศไทย ตอนจบ ไว้ว่า…

ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อ 29 พฤศจิกายน น่าจะถือเป็นการยอมรับความผิดพลาดทางนโยบาย (Policy Blunder) ที่เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ยอมรับความผิดอย่างสง่าผ่าเผยแบบลูกผู้ชาย แต่กลับโยนความผิดให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งสังเกตได้จากแถลงการณ์ที่ออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการอ้างถึงการไม่มี Digital Wallet เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวได้บ่งบอกมาระยะหนึ่งแล้วว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดค่อนข้างสูง ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากตัวเลขจริงที่มีการทยอยประกาศออกมา อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างแรงและต่อเนื่องจนถึงระดับติดลบในเดือนตุลาคม และน่าจะติดลบต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนด้วยเมื่อมีการประกาศออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาพัฒน์ฯ ประกาศ GDP ไตรมาส 3 มีอัตราเติบโตเพียง 1.5% ทั้งๆ ที่การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา 

ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ในประเทศเหือดหาย และถูกกดโดยนโยบายการเงิน ซึ่งยืนยันจากปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราเติบโตติดลบต่อเนื่องมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนตรงกันข้ามกับข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายคน ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องมีควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและกรอบนโยบาย เมื่อมีการดำเนินนโยบายผิดพลาดจากเป้าหมายอย่างมากมายจนเกิดความเสียหายในวงกว้าง น่าจะถึงเวลาที่ต้องมีคนรับผิดชอบแล้ว ถ้าเป็นธนาคารกลางอื่นผู้ว่าการฯ คงจะลาออกไปนานแล้วครับ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top