Tuesday, 22 April 2025
เงินบาทอ่อน

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! 'ค่าเงินบาทอ่อน' สวน 'ดอกเบี้ยพุ่ง' ส่อสัญญาณขัดแย้ง 'นโยบายการคลัง-การเงิน' ไทย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกับความผันผวนหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve Bank) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% และจะส่งผลต่อตลาดการเงินไทยหรือไม่อย่างไร เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนหลังจาก Federal Reserve คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% แต่ออกการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความร้อนแรงและอาจมีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ตลาดการเงินไทยก็ไม่พ้นจากความผันผวนนี้ แต่น่าจะรุนแรงกว่าความผันผวนในตลาดโลกด้วยซ้ำ เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็นประวัติการถึงระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี กระโดดแรงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 3% ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติที่ดอกเบี้ยขึ้น แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินไทยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความขัดแย้งและ/หรือความแตกต่างของทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

แน่นอนทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะธนาคารกลาง ต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ความอิสระก็ย่อมต้องมีขอบเขต 

ที่ผ่านมาต้องถือว่าแบงก์ชาติผิดพลาดในเรื่องจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าช้า ทำให้ปี 2565 เงินเฟ้อไทยทะยานสูงสุดในอาเซียนที่ 6.1% แม้ว่าจะโชคดีที่เงินเฟ้อทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาเพราะราคาพลังงานลดลง แต่ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายการเงินที่เก่งกาจแต่อย่างไร และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่กระโดดขึ้นฉับพลันก็แสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติไม่ยอมรับและไม่ตอบสนองต่อแนวทางของรัฐบาลใหม่ในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) แต่อย่างใด

เรื่องยังไม่จบอยู่เท่านี้ เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา กนง. มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.50% โดยไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุน และน่าจะถือว่าสวนทางกับนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด 

ความขัดแย้งทางนโยบายนี้ได้ทำลายความมั่นใจและสร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจทำให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดการสะดุดได้

เราเชื่อในความเป็นอิสระของธนาคารกลาง แต่ความอิสระนี้จะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย

ธปท. วิเคราะห์ 'ดอลลาร์-ทองคำ-น้ำมัน' สารพัดปัจจัยต่างประเทศ ทำบาทอ่อน

ไม่นานมานี้ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และอ่อนค่าผ่านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 6.75 จากต้นปี

สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยการอ่อนค่าในช่วงหลังได้รับผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ 

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาทองคำที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ซึ่งตลาดมองว่าอาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ประกอบกับนักลงทุนยังรอความชัดเจนของนโยบายการคลังและการระดมทุนของภาครัฐ 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ และในช่วงที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน

ใครได้ ใครเสีย? ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ภายใต้ 'แบงก์ชาติ' ที่ไม่อาจปล่อยเอียงข้างใดข้างหนึ่ง

จากกรณีค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งตัว และมีแนวโน้มที่จะแข็งตัวต่ออย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของประเทศไทย และใครที่จะได้ประโยชน์ หรือใครจะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ หากมองในเชิงของประโยชน์ จะพบว่า...
- ผู้นำเข้า : จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง
- ประชาชน : จะซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
- ผู้ลงทุน : จะนำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ : จะมีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

ทีนี้ถ้ามองในเชิงของผลกระทบหรือใครที่จะเสียประโยชน์จากค่าเงินแข็งตัว พบว่า...
- ผู้ส่งออก : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- คนทำงานต่างประเทศ : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว : จะได้รับเงินสกุลต่างประเทศนำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

ทีนี้ ถ้ามองมุมกลับ หากค่าเงินบาทอ่อนลง สิ่งที่พอจะอธิบายในเบื้องต้นได้ง่ายที่สุด คือ เราก็จะต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เพื่อแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิมนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ หากมองในเชิงของประโยชน์ จะพบว่า...
- ผู้ส่งออก : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- คนทำงานต่างประเทศ : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว : จะได้รับเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

ส่วนในแง่ของผลกระทบหรือใครที่จะเสียประโยชน์จากค่าเงินอ่อนตัว พบว่า...
- ผู้นำเข้า : ต้องเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ประชาชน : ต้องซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ผู้ลงทุน : ต้องนำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ : ต้องมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ก็จะมีทั้งกลุ่มคนที่ได้และเสียเสมอ และแบงก์ชาติเอง ก็ไม่สามารถฝืนกลไกตลาดให้เงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าไปข้างใดข้างหนึ่งได้ 

ทว่า แบงก์ชาติก็อาจจะมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนจะทำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนผู้เกี่ยวข้องปรับตัวไม่ทันได้ด้วย เช่น ในกรณีที่เราส่งออกสินค้าได้มากกว่าการนำเข้า รวมถึงมีผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมาก ๆ ก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาดที่ควรจะเป็น 

ตรงนี้ >> ไม่มีความจำเป็นที่แบงก์ชาติจะต้องเข้าไปแทรกแซง 

อย่างไรก็ตาม ถ้าการแข็งค่าดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แบงก์ชาติก็อาจเข้าไปแทรกแซงได้บ้างตามสมควร เพื่อซื้อเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ปรับตัวได้ทัน เช่น...

ถ้าต้องการให้เงินบาทอ่อนค่า แบงก์ชาติจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยการนำเงินบาท ไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศกลับเข้ามาเก็บไว้ หรือแบงก์ชาติออกคำสั่งหรือประกาศนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ ขายเงินสกุลต่างประเทศให้แก่ธนาคารกลาง เพื่อแลกกับเงินบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์ มีเงินบาทในมือมากขึ้น และเมื่อปริมาณเงินบาทไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะถูกนำมาใช้ควบคู่กันอย่างเหมาะสม เพื่อบริหารจัดการค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และมีเสถียรภาพ โดยจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ การเงินการคลัง และสถานการณ์โดยรวมในขณะนั้นเป็นตัวกำหนดทิศทาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top