(22 ส.ค.66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ โดย ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงความเข้าใจด้านกฎหมายเกี่ยวกับเบียร์และเหล้าของคนไทยที่ยังมีไม่เพียงพอ โดยระบุว่า…
จากโพสต์ที่แล้วพูดถึงมาตรฐานผู้ผลิตเบียร์และเหล้า ก็มีบางคอมเมนต์แย้งขึ้นมาดังภาพที่ 1 ก็ทำให้รู้ว่า คนไทยบางส่วนอาจยังเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับเบียร์และเหล้าไม่เพียงพอ เลยขออธิบายดังต่อไปนี้
- กฎหมายที่ภาพที่ 1 พูดถึง ผมว่าท่านคงเข้าใจผิด เพราะดูจากปีที่ตรากฎหมาย น่าจะเป็น พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 (*1) ครับ ไม่มีส่วนไหนพูดถึงการผลิตโดยตรง
- กฎหมายการผลิตเบียร์และเหล้า ต้องไปศึกษากฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 (*2) อย่างที่เห็นปีครับ เพิ่งแก้ไขปรับปรุงปีที่แล้วเอง
กลับมาเข้าเรื่องที่อยากพูดครับ คือพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้ท่านรองประธานสภาอาจมีความผิดได้นั้น ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าควรยกเลิกกฎหมายนี้ครับ เพราะถ้ากฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายจราจรแบบละโทษของการเมาแล้วขับ มีโทษที่รุนแรงจนทำให้ประชาชนเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมเลย ผมจะยกกรณีศึกษาในการให้ความตระหนักของอันตรายที่เกิดจากการเมาแล้วขับของญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยครับ
กฎหมายที่ลงโทษผู้เมาแล้วขับ (飲酒運転) ของประเทศญี่ปุ่น บัญญัติไว้ในกฎหมายจราจร (道路交通法) โดยจะแบ่งโทษออกเป็นสองกรณี และแต่ละกรณีจะมีโทษด้านจราจร และโทษอาญาดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ โดยมีค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 0.15 มิลลิกรัมต่อลมหายใจ 1 ลิตร
1. โทษด้านจราจร
จะขึ้นอยู่กับค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ดังต่อไปนี้
- ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 0.15 มิลลิกรัมแต่ไม่ถึง 0.25 มิลลิกรัม จะโดนตัดแต้มจราจร 13 แต้ม และพักใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 90 วัน
- ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 0.25 มิลลิกรัม จะโดนตัดแต้มจราจร 25 แต้ม และยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ โดยไม่สามารถทำใหม่ได้เป็นเวลา 2 ปี
2. โทษอาญา
- ผู้ขับมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 500,000 เยน
- ผู้ที่รู้ว่าผู้ขับดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังให้ผู้ขับใช้รถ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 500,000 เยน
- ผู้ที่รู้ว่าผู้ขับจะดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่โดยสารในรถคันเดียวกับผู้ขับที่รู้ว่าผู้ขับที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับ 300,000 เยน
กรณีที่ 2 เมาแล้วขับ ไม่ต้องพูดถึงค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ใดๆ สามารถสังเกตอาการเมาได้จากท่าทางทันที เช่น สามารถเดินบนเส้นจราจรสีขาวได้ตรงหรือไม่ สามารถตอบคำถามกับตำรวจได้ปกติหรือไม่เป็นต้น
1. โทษด้านจราจร
จะโดนตัดแต้มจราจร 35 แต้ม และยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ โดยไม่สามารถทำใหม่ได้เป็นเวลา 3 ปี
2. โทษอาญา
- ผู้ขับมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 1,000,000 เยน
- ผู้ที่รู้ว่าผู้ขับดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังให้ผู้ขับใช้รถ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 1,000,000 เยน
- ผู้ที่รู้ว่าผู้ขับจะดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่โดยสารในรถคันเดียวกับผู้ขับที่รู้ว่าผู้ขับที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 500,000 เยน
ถ้ามีประวัติการกระทำผิดซ้ำซากในเรื่องนี้ โทษก็จะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ และสิ่งที่น่าสนใจของกฎหมายญี่ปุ่นคือ ผู้ที่รู้ว่าผู้ขับดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังให้ผู้ขับใช้รถ และผู้ที่รู้ว่าผู้ขับจะดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่โดยสารในรถคันเดียวกับผู้ขับที่รู้ว่าผู้ขับที่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีโทษด้วย แม้จะไม่ได้เมาแล้วขับก็ตาม โทษอาญาก็เทียบเท่ากันด้วย
จะเห็นว่าโทษเมาแล้วขับของญี่ปุ่นมีความรุนแรงมาก นี่ยังไม่พูดถึงการเมาแล้วขับเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนะครับ และนอกจากโทษด้านจราจรและโทษอาญาแล้ว ยังมีโทษทางสังคมที่ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับจากสังคม สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ในสถาบันศึกษายามชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น ที่นักศึกษามีสถานะเป็นข้าราชการญี่ปุ่น เคยมีกรณีที่รุ่นพี่ท่านหนึ่งโดนจับข้อหาเมาแล้วขับ การลงโทษของสถาบันคือ ไล่ออกสถานเดียวครับ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
เมื่อมาเทียบกับโทษของประเทศไทยที่มีเพียง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด) และถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย นอกจากนี้มาตรการลงโทษในสังคมไทยก็ยังเบาหวิว ผู้กระทำผิดแทบไม่ได้ผลกระทบใดๆ จากการทำผิดของเขายกตัวอย่างเช่น
- ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27 ถูกจับเมาแล้วขับ ปัจจุบันยังทำงานอยู่ในกรรมธิการคณะหนึ่งอยู่ ภาพที่ 2
https://www.thairath.co.th/news/politic/2694401
- อธิบดีอัยการ เมาแล้วขับชนคน 1 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท รอลงอาญาไว้ 2 ปี ปัจจุบันยังคงทำงานเป็นอัยการอยู่
https://mgronline.com/crime/detail/9640000054252
- นักบอลดาวรุ่งชลบุรี เมาแล้วขับชนคนเสียชีวิต 1 เจ็บ 1 คน ปัจจุบันกลับมาเป็นนักบอลแล้ว หลังจากหายหน้าไปไม่ถึงปี
https://www.thaipbs.or.th/news/content/320821
- ดาราเมาแล้วขับ ปัจจุบันก็ยังทำงานได้อย่างปกติ
https://www.undubzapp.com/ดารา-เมาแล้วขับ-โดนจับ/
- ตะลึง! พบข้าราชการเมาแล้วขับถูกจับคุมประพฤติช่วงสงกรานต์ถึง 520 คน
https://mgronline.com/crime/detail/9620000039440
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเมาแล้วขับ โทษที่เบาหวิว และคำว่าให้โอกาสสำหรับคนไทย เป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ไม่เคยลดลง เป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้โทษเมาแล้วขับรุนแรงขึ้น บทลงโทษในสังคมก็ควรจะต้องเอาจริงเอาจัง เพราะสำหรับผมแล้วการเมาแล้วขับนั้น ผู้ดื่มรู้ตัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังกระทำความผิดนั้น ถือเป็นความจงใจ ไม่ใช่ความประมาทแต่อย่างไร
--------------------------------------------------------------------------
*1 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/c74d97b01eae257e44aa9d5bade97baf/files/lawalc/001_1alc.PDF
*2 กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/068/T_0001.PDF