Monday, 21 April 2025
อ้อย

กระตุ้นเศรษฐกิจ!! ‘ครม.’ เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 64/65 ที่ 1,106.40 บาท/ตัน คาด สัปดาห์หน้า ยื่นราคาขั้นต้น ปี 65/66 เข้าที่ประชุม ครม.

(8 มี.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,106.40 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 474.17 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่ราคา 1,070 บาท ซึ่งการที่ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย จะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 แล้ว หลังจากนี้ สอน.จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
 

ขอนแก่น- 'ธปท.สภอ.' แจง! เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ และงานขอบคุณสื่อมวลชน โดยมี ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) เป็นประธานในการจัดแถลงข่าว รายการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างชุมชน 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 2 ปี 2567 เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มากพอที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 

นอกจากนั้นยังเห็นสัญญาณเปราะบางลามไปสู่ระดับกลางมากขึ้น จากยอดขายบ้านระดับกลางหดตัว โดยผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้ประจำถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2567 จากที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเป็นไม่ขยายตัว และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 1 จากสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารขยายตัว ภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามปกติ

'รมว.เอกนัฏ' ย้ำ!! ต้องเพิ่มรายได้ให้ระบบอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทย แง้ม!! เตรียมส่งเสริมมูลค่า 'ใบ-ยอดอ้อย' ช่วยเติมรายได้อีกทาง

(25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2566/2567 ซึ่งตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหากประสิทธิภาพการผลิตลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก 

ประเด็นที่สอง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน และผมได้ให้ สอน. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง

"ผมเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

โฆษกฯ ก.อุต ย้ำตัวเลข 'อ้อยเผา' น้อยสุดในประวัติศาสตร์ ติงฝ่ายค้านนำเสนอคลาดเคลื่อน ห่วงสังคมรับข้อมูลบิดเบือน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ฝ่ายค้านมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลอ้อยเผาของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้เกิดข้อมูลคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น ขอชี้แจงดังนี้ เรื่องตัวเลขการลักลอบเผาอ้อยที่ระบุว่า มีการลักลอบเผาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 – เดือนพฤศจิกายน 2568 คำนวณจากในแผนที่จุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม อาจจะมีการเผามากถึง 28 ล้านตัน ซึ่งข้อเท็จจริงกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย ปกติจะทำในช่วงเปิดหีบ ซึ่งในปีที่ผ่านมาคือระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงเมษายน 2568 รวมเป็นเวลาแค่ 4 เดือน การใช้หลักคำนวณตามที่มีการอภิปรายจำนวน 1 ปี 6 เดือน เป็นการนับรวมการเผาอย่างอื่นด้วย เช่น เผาฟืนทำอาหาร เผาข้าวโพดซังข้าว ฉะนั้นหากใช้หลักการนี้คำนวณจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ 

และในส่วนตัวเลขอ้อยเผาส่งเข้าโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้อ้อยเผาขณะนี้อยู่ที่ 13.6 ล้านตัน หรือไม่ถึง 15% ของอ้อยทั้งหมด โดยมีการส่งอ้อยสดเข้าโรงงาน 85 % มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังเอาจริงเอาจังและเข้มงวดในการเอาผิดปิดโรงงานน้ำตาล 2 แห่งเพื่อเอาผิดและเป็นตัวอย่างป้องปรามให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เกรงกลัว และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือ และในส่วนข้อมูลเรื่องมีอ้อยเผาที่หลุดรอดจากระบบกว่า 10 ล้านตันนั้น มีข้อเท็จจริงคือ มีอ้อยเผาจำนวน 9 แสนตันที่เข้าสู่การแปรรูปส่งไปยังโรงงานผลิตเอทานอล เพราะเป็นอ้อยปนเปื้อนไม่สามารถผลิตเป็นอาหารได้ 

“ขอยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั้น เอาจริงเอาจังกับเรื่องการปราบปรามอ้อยเผามาก ทั้งในส่วนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่รณรงค์ลดการเผา ลด PM2.5 และการจัดการผู้ประกอบการที่ไม่ทำตามกฎกติกา ที่ทำการรับซื้ออ้อยเผา เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการที่ดีในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่กระทรวงฯ เสนอไปนั้น เป็นตัวเลขจริงที่เกิดจากทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการ  และการทำงานอย่างหนักและเอาจริงเอาจัง จากทั้งผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จึงขอให้การให้ข้อมูลและตัวเลขต่าง ๆ นั้น มาจากข้อเท็จจริงที่กระทรวงฯ ได้นำเสนอไปก่อนหน้า และขอให้หยุดการนำเสนอข้อมูลจากการคาดคะเนเพื่อลดการสร้างความเข้าใจผิดต่อหน่วยงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์และความสำคัญของการไม่เผาอ้อย และเป็นตัวอย่างในการเอาจริงเอาจังกับกรณีอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” นายพงศ์พลกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top