วันนี้ (5 ม.ค. 65) เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. /พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. / พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงผลการดำเนินการในการอำนวยการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน เทศกาลปีใหม่ 2565 พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.64 เป็นต้นมาจนถึงวันสุดท้ายคือ 4 ม.ค.65 ซึ่งทุกวันจะมีการติดตามสถานการณ์การจราจร และการปฏิบัติของแต่ละหน่วย ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้กำกับดูแลในแต่ละวัน และให้หน่วยระดับ บช./ภ. , บก./ภ.จว. และทุกสถานีตำรวจเฝ้าฟัง ทั้งนี้เพื่อลดอุบัติ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยผลการดำเนินการในแต่ละด้าน มีดังนี้
>> 1. การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร จัดกำลังตำรวจกว่า 80,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถ เข้า-ออกจาก กทม. จำนวน 7,540,156 คัน (ออกจาก กทม. จำนวน 3,718,563 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,821,593 คัน) วันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. มากที่สุด คือวันที่ 30 ธ.ค.64 วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม. มากที่สุด วันที่ 3 ม.ค.65
มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวนทั้งสิ้น 126 ครั้ง (ระบายรถขาออก 52 ครั้ง / ขาเข้า 74 ครั้ง) รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 23,484 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 20,645 คัน (รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด คือ รถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส (ร้อยละ 60.3) รองลงมา คือ รถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค (ร้อยละ 24.1) ) ( ไม่อนุญาตจำนวน 2,839 คัน และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 82 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด)
>> 2. การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน ทั่วประเทศจำนวน 1,240 จุด (กวดขันวินัยจราจร 769 จุด, ตรวจแอลกอฮอล์ 471 จุด) พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 573,837 ราย ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 19,760 ราย (มากกว่าปีใหม่ปีที่แล้วคิดเป็น 41.52 %) ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย 167,677 ราย และข้อหาขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 48,257 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าว
>> 3. การป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5 % เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปีใหม่ 2562 – 2564) ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน
- การเกิดอุบัติเหตุ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565 เกิดจำนวน 2,707 ครั้ง ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (3,515 ครั้ง) เป็นจำนวน 808 ครั้ง (ลดลง 22.99 %)
- จำนวนผู้เสียชีวิต 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565 มีจำนวน 333 ราย ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (388 ราย) เป็นจำนวน 76 ราย (ลดลง 18.58 %)
- จำนวนผู้บาดเจ็บ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565 มีจำนวน 2,672 คน ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (3,572 คน) เป็นจำนวน 900 (ลดลง 25.08 %)

ทั้งนี้ บช./ภ. ที่มีผลการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนดีที่สุด ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 ตำรวจภูธรภาค 3 และตำรวจภูธรภาค 8
>> จังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุลดลงมากที่สุด (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปี) 3 จังหวัดแรก คือ จว.อำนาจเจริญ จว.ระยอง จว.พิจิตร
>> จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีจำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครนายก แพร่ สุโขทัย สมุทรสงคราม พังงา ตรัง สตูล ปัตตานี และยะลา
4. การประชาสัมพันธ์ข้อมูล มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ facebook ตำรวจทางหลวง และสายด่วน บก.ทล. 1193, จส.100 สวพ.91 รวมทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล ที่เกี่ยวกับการจราจรต่าง ๆ โดยมีประชาชนสอบถามข้อมูลการจราจรและแจ้งเหตุผ่านทาง สายด่วน 1193 รวมจำนวน 2,463 สาย เป็นการสอบถามเส้นทางและสภาพการจราจรจำนวน 1,773 สาย และขอความช่วยเหลืออีก 566 สาย
