Wednesday, 3 July 2024
อาคม_เติมพิทยาไพสิฐ

‘อาคม’ รับรางวัล ‘รมว.คลังแห่งปี’ จาก The Banker หลังโชว์ฝีมือบริหารด้านเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับรางวัล Finance Minister of the Year 2023 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker

(23 ม.ค. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล โดยนิตยสาร The Banker ได้กล่าวยกย่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ผ่านมาตรการทางภาษีต่าง ๆ โดยภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นับถอยหลัง 'อาคม เติมพิทยาไพสิฐ' ขุนคลังแห่งสยาม  เบื้องหลัง ‘โครงสร้างพื้นฐาน-เงินสำรอง-ทองคำ-คนละครึ่ง’

ภาพตอกย้ำของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงการเป็นประเทศที่สะสมความมั่งคั่งและมั่นคงอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เช่นในปี 2565 ไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก จากจำนวนสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่กระทั่งการซื้อทองคำเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีทองคำเพิ่มจาก 152.41 ตันมาอยู่ที่ 244.16 ตัน ทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำเพิ่มขึ้นถึง 60.20%

ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของประทศไทยจากการจัดอันดับของทั้ง Fitch Moody’s และ S&P ให้มุมมองความน่าเชื่อถือ 'ระดับมีเสถียรภาพ' และคงความน่าเชื่อถือไทย BBB+ สำหรับ Fitch และ S&P และ Baa1 สำหรับ Moody’s อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 จนนำมาสู่โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และสารพัดโครงการที่นำมาช่วยเหลือเยียวยาคนไทย อีกทั้งยังออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการชดเชยรายให้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม, โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดหนัก

อันที่จริงยังผลงานในการบริหารจัดการด้านการเงินอีกมาก ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเงิน-การคลังอันดีของประเทศในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ภายใต้ขุนคลังอย่าง 'อาคม เติมพิทยาไพสิฐ'

ความยอดเยี่ยมที่ว่านี้ ไม่ได้มีแค่เสถียรภาพทางการเงินการ-คลังไทยเป็นตัวการันตี แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 'นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของไทย ได้รับรางวัล ‘Finance Minister of the Year 2023’ ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ยกย่องบริหารงานผ่าน มาตรการการเงิน-การคลังได้ดี จนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วย

แน่นอนว่า ในวาระที่รัฐบาลใหม่กำลังจะก้าวเข้ามา และคงจะได้เห็นหน้าตาขุนคลังคนใหม่นั้น ก็อดไม่ได้ที่จะต้องจารึกถึงสิ่ง 'นายอาคม' ได้ทำไว้ ในฐานะขุนคลัง 'ผู้ปิดทองหลังพระ' ตัวจริง!! ที่ทำให้การเงิน-การคลังของไทยมีความมั่นคงอย่างสูงในปัจจุบัน

#ประวัติ
สำหรับประวัตินายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ปัจจุบันอายุ 67 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2499 ที่จังหวัดศรีสะเกษ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 และระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2526

- เข้ารับราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- เป็นผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2542
- เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผน (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 9 ชช.) ในปี พ.ศ. 2542-2543
- เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (2543-2546)
- เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (2546-2547)
- เป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2547 
- เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2553

- เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมาในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ได้ลาออกจาก สนช. เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ และตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กัน ในปี พ.ศ. 2557
- เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 (ยื่นลาออกจากข้าราชการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเดือน ตุลาคม 2558)
- เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูผลงานของนายอาคม ในยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 จะพบว่าตั้งแต่ปี 2558 ที่นายอาคม ได้ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น เขาได้สร้างผลงานไว้หลายด้าน...

#รั้วคมนาคม
ผลงานแรกที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาด้านการบินพลเรือน ปลดธงแดง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายด้านการบินที่ล้าสมัยด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2597 ในประเด็นที่เป็นข้อบกพร่อง

นอกจากนี้ยังได้ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ, เดินหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ผลักดันการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง, มาตรการป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5, การจัดทำระบบตั๋วร่วม และแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีส่วนช่วยในการผลักดันให้รัฐบาลประยุทธ์สามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระบบราง ช่วยทำให้เกิดการลงทุนในการก่อสร้างและงานระบบกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีแบบต่อเนื่องในอนาคต

เรียกได้ว่า ตลอด 1,775 วันในการทำงานนั้น มีหลายโครงการที่มีการขับเคลื่อนไปมาก บางโครงการได้มีการเริ่มต้น ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ของกระทรวงคมนาคม

#ขุนคลัง
ทั้งนี้ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 'อาคม' ยังอยู่ในรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ 'นอกทีมสมคิด' ทว่าเป็น 1 ในรัฐมนตรี 'โควตากลาง-สายตรง' ของนายกรัฐมนตรีตลอด 4 ปี และด้วยผลงานที่เข้าตา ก็นำมาสู่ภาคต่อของอาคมในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ด้วยบทบาทใหม่ในการเป็น 'ขุนคลังแห่งสยาม'

อันที่จริง จนถึงตอนนี้ ประเทศไทยเคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง (รมว.) มาแล้วถึง 54 คน โดยมี 'อาคม เต็มพิทยาไพสิฐ' ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คลังคนปัจจุบัน ซึ่งเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจคนหนึ่งของประเทศไทย จากการเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) มาอย่างยาวนาน

และด้วยคุณสมบัติของ นายอาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วย ในรัฐบาลยุค 'ประยุทธ์ 1' เป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรีไว้วางใจในการสอบทานข้อมูล-ตัวเลขด้านเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เส้นทางสู่ขุนคลังของ 'อาคม' จึงเรียกว่ามาเพราะฝีมือและความเชื่อใจของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจริง ๆ 

โดยตัวเขาเองพิสูจน์ผลงานแบบเข้าตาผู้ใหญ่มาตลอด ระหว่างเริ่มจากข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ไปยังย่านราชดำเนินใน ช่วงขึ้นแท่นเป็น รัฐมนตรีช่วยฯ แล้วต่อด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาล คสช. โดยระหว่างนั้นเขายังได้สังกัดทีมเศรษฐกิจ ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และทีมตึกไทยคู่ฟ้า จนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเออีกครั้ง ในฐานะ 'ขุนคลัง' ในรัฐบาล 'ประยุทธ์ 2/3'

ส่วนผลงานในการเป็นขุนคลัง ก็อย่างที่ได้กล่าวไปตอนเปิดหัวต้นเรื่อง ซึ่งต้องถือว่า อาคมมฝีมือ 'ฉกาจ' อย่างยิ่งภายใต้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ปัญหาโรคภัย ที่ท้าทาย แต่ก็พาไทยมีสถานะทางการเงิน-การคลังได้อย่างมีเสถียรภาพ

#สไตล์
'อาคม' มีสไตล์การทำงานที่หามรุ่ง-หามค่ำ ตอบทุกคำถามของนายกรัฐมนตรีและคณะได้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งรูปแบบข้อมูลดิบ อินโฟกราฟิก หรือพาวเวอร์พอยต์ ที่เข้าใจง่าย เป็นระบบ-ระเบียบ

ทั้งเมนูแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งระยะสั้น-ยาว แนวทางการวิเคราะห์โครงการของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน 'อาคม' มักเตรียมข้อมูลและทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจไม่พลาดทิศ แม้อาจจะล่าช้าไม่ทันใจฝ่ายการเมืองนัก

'อาคม' มีคุณสมบัติสำคัญตรงกับที่นายกรัฐมนตรี เปิดเผยเป็นญัตติสาธารณะ อย่างน้อยก็ 1 ข้อ คือ “เป็นคนที่ที่บ้านไม่ห่วงเกินไปมากนัก” เพราะเขาครองตัวเป็นโสดหลังจากภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน

#ปิดทองหลังพระ
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2560 'นายอาคม' เคยเปิดเผยถึง 3 หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เขายึดเป็นแรงบันดาลใจรวมถึงเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตและทำงานในชีวิตมาโดยตลอด คือ...

'การปิดทองหลังพระ' - ทำงานไม่จำเป็นต้องออกหน้า ถ้าคิดว่างานที่เราทำเป็นประโยชน์ส่วนรวมอยู่เบื้องหลัง เป็นฟันเฟืองของกลไกทั้งหมด ถ้าฟันเฟืองเล็กไม่เดิน ฟันเฟืองใหญ่ก็ไปไม่ได้

'ความเพียรพยายาม' - แม้ว่างานจะยากแค่ไหนก็ต้องทำ เมื่อเราเห็นเป้าหมาย ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกล ถ้าไม่มีความพยายามในการฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ก็ทำไม่สำเร็จ

'ความเรียบง่าย' - ได้จากพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน สอนให้คนรู้จักประหยัด ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ความเรียบง่าย ชีวิตพระองค์ท่านเหมือนคนธรรมดา เราเองต้องทำตัวไม่มียศ ไม่มีศักดิ์ ทำงานให้ติดดิน

ตำแหน่งไม่คงคน...แต่ตำนานจะยังคงสืบต่อไป...

นี่คือเรื่องราวของชายผู้ปิดทองหลังพระ ผู้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทย การเงิน-การคลังไทย ยังคงมีความมั่นคงอย่างสูง จนพร้อมส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดถัดไปได้เข้ามาทำงานได้อย่างราบรื่น...

จำชื่อเขาไว้ 'อาคม เติมพิทยาไพสิฐ' อีกหนึ่งขุนคลังแห่งสยามคนสำคัญของไทย...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top