Monday, 1 July 2024
อากาศสะอาด

‘ดร.เอ้’ ควง ‘แนน ศิริภา’ ลุยทำคะแนนฝั่งธนฯ ชู ‘Wrap ตึกก่อสร้าง’ เล็งติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น 2,000 จุดทั่วกรุงฯ ดัน กม.ควบคุมมลพิษจริงจัง

(26 เม.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลงพื้นที่ตลาดสำเหร่ เขตธนบุรี ขอคะแนนเสียงสนับสนุนให้กับ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้สัมคร ส.ส. กทม.เบอร์ 11 เขตธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ พรรคประชาธิปัตย์ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการพบปะมีพี่น้องประชาชนที่มาจ่ายตลาดยามเช้า นำเสนอนโยบายของพรรค และรับฟังการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมและผลักดันให้มีการแก้ไข โดยมีการสะท้อนถึงปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาค่าครองชีพปากท้อง และที่สำคัญคือ ปัญหาสุขภาพ จากฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานกระทบต่อวิถีชีวิตคนในชุมชน เนื่องจากคนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ นายสุชัชวีร์ ได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ได้มาตรฐานไปตรวจวัด ในจุดที่ประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่บริเวณถนนเจริญนคร 23 ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย ที่มีโรงเรียนอนุบาล และเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง กระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ จากการตรวจวัดในระดับพื้นที่พบ ค่าฝุ่น PM 2.5 ถึง 65 มคก./ลบ.ม. ถือว่าเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม.

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบาย ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงอย่างน้อย 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ และขอความร่วมมือป้าย LED แจ้งปริมาณฝุ่น พร้อมส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกินค่ามาตรฐาน ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ จะกำหนดเงื่อนไขในกฎหมายอากาศสะอาด ให้ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้อง Wrap ตึก และสามารถเคลมเป็นภาษีได้ ถ้าไม่ Wrap ต้องมีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือโดนภาษีหนัก และในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลมากมาย ควรเป็นเขต LEZ (Low Emission Zone) เช่น ถ้ารถสิบล้อเข้าเขตนี้ต้องเสียภาษีเพิ่ม รถควันดำห้ามเข้า เป็นต้น

กลุ่ม EA’ หนุน ‘ENTEC-UNEP’ ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ภายใต้แนวคิด ‘Climate and Clean Air Conference 2023’

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 ‘กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์’ ผู้นำด้านพลังงานสะอาด เดินหน้า ‘E@ Ecosystem’ ชูแนวคิด ESG สนับสนุน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ The United Nations Environment Programme (UNEP) จัดโครงการ Climate and Clean Air Conference 2023 : Air Quality Action Week เปิดประสบการณ์สุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย ขจัดมลพิษทางอากาศสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ข้อมูลจากโครงการ UN Environment Programme (UNEP) ระบุว่า มลภาวะทางอากาศก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โดยมีสถิติพบว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุมลพิษทางอากาศ จำนวน 4.8 ล้านคน ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน ในปัจจุบัน โดยมากกว่า 90% ของการเสียชีวิตเกิดจากมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ที่มีโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว รวมถึงคนจนที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างจำกัด สำหรับแนวทางลดปัญหามลพิษทางอากาศ ต้องสร้างความร่วมมือลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการเผาไหม้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการขนส่ง อย่างเป็นรูปธรรม

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน ENTEC จึงได้ร่วมมือกับ UNEP ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และ EA ผู้นำด้านพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเมืองอากาศสะอาดภายใต้โครงการ Climate and Clean Air Conference 2023: Air Quality Action Week ที่มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเปิดประสบการณ์การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปกับ MINE Bus โดย บจ.ไทยสมายล์บัส และ MINE Smart Ferry บจ.ไทยสมายล์ โบ้ท บริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ที่สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยฝีมือคนไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ผู้นำด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “Green Product” ที่คำนึงถึง 3 แกนสำคัญ โดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม - การดูแลสังคม - การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแห่งการมีธรรมาภิบาล มาตลอดระยะเวลา 15 ปี ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีกลยุทธ์ “E@ Ecosystem”

โดยลงทุนพัฒนา ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล, กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า MIME Mobility, ธุรกิจสถานีชาร์จ EAAnywhere, ธุรกิจแบตเตอรี่ อมิตา เทคโนโลยี ที่มีกำลังการผลิตซึ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 4 Gwh พร้อมมีโรงผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกของกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อสร้างความสมดุลในทุกมิติ
 

‘รัฐบาล’ ตั้ง ‘คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ รอ ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ผ่านสภาฯ

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้แถลงข่าวประเด็น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งค่าฝุ่นพิษสูงมากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือว่า นายกรัฐมนตรีให้ความใส่ใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ โดยทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศจะมีวาระหนึ่งที่นำเข้าที่ประชุม คือ การให้ความร่วมมือกันในกลุ่มหมอกควันข้ามพรมแดน พร้อมกับพูดคุยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เพื่อยกระดับการพูดคุยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน รวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้บรรจุผ่านเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาในการหารือและนำเข้าวิปรัฐบาลก่อนจะนำเข้าสู่รัฐสภาต่อไป ซึ่งจะทำงานควบคู่กับพระราชบัญญัติอากาศสะอาดของพรรคเพื่อไทยในแง่ของนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารจะเป็นพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความครบถ้วนมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ระหว่างการแก้กฎหมายจนแล้วเสร็จนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน คือ คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบ Quick Win ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติกำลังพิจารณาอยู่ในสภา

นายจักรพล กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าว่ากรุงเทพมหานครติดอันดับ 12 ของโลก เชียงใหม่ติดอันดับ 23 ของโลก ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) อยู่ที่ 154 - 156 อยู่ในโซนสีแดง ทั้งนี้ ทุกปีประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะวางแผนที่จะทำการรับมืออย่างครบถ้วนและครบทุกมิติ ด้วยการเพิ่มมาตรการภาษีบริเวณเขตชายแดนของการนำเข้าสินค้า การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV การเพิ่มโทษ (Polluters Pay Principle: PPP) ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มาตรการเหล่านี้จะเป็นการปลุกระดมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคม ที่ทำการศึกษาและพยายามจะฝ่าฟันปัญหาฝุ่นพิษให้ลุล่วงไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นระหว่างการเดินทางช่วงเช้าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยกับภาวะ PM 2.5 จะรุนแรงขึ้นอีกในปลายปีนี้ รวมถึงไตรมาสหนึ่งของปีหน้า อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำทุกวิถีทางให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) จะสูงระดับนี้ และอยากให้เป็นปีสุดท้ายที่จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ต้องเผชิญฝุ่นพิษนี้ เราตระหนักดีถึงพิษทางเศรษฐกิจและพิษทางสุขภาพ ยืนยันรัฐบาลจะตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

นายจักรพล กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดแนวกั้นไฟที่จังหวัดเชียงใหม่ และประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งประชุมกับภาคภาคีสังคม พร้อมทั้งมอบนโยบายการดูแลป่า 11 แปลงใหญ่ รวมถึงการเผาพืชผลทางการเกษตรหรือเผาเพื่อเอาผลิตผลต่าง ๆ และการเพิ่มโทษของ Contract Farming ในการที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งฝุ่นควัน โดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการพูดถึงค่าฝุ่นพิษที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการเผาไร่อ้อยในปริมณฑล ซึ่งได้มีการเฝ้าระวัง และติดตามอย่างเข้มข้นแล้ว ขณะที่ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เดินทางไปร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ได้มีการใส่สารัตถะในการให้ความสำคัญเรื่อง PM 2.5 เพื่อจะนำมาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการพูดคุยกับกรอบประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาและเกิดมลพิษข้ามพรมแดน ตรงนี้จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหา PM 2.5 เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เข้ามากำกับดูแลปัญหา PM 2.5 รวมทั้งในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการพูดคุยพรรคร่วมกับรัฐบาลที่จะพยายามขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในภาคของนิติบัญญัติอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งมีการหารือกับนักวิชาการและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยในวันพรุ่งนี้ (14 ธันวาคม 2566) จะเดินทางไปที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำโมเดลในเรื่องของการเลี่ยงการเผา เปลี่ยนจากการเผาให้เป็นฟางให้เป็นมูลค่าทางหน้าดินให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

นอกจากนั้น นายจักรพล ได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถึงปัญหาฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้ว่าไม่ได้เกิดจากจังหวัดปทุมธานี แต่เป็นเขตปริมณฑล โดยฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมหน้าดินในเรื่องของการทำไร่อ้อย โดยจะมีมาตรการของ ธกส. ในการที่จะเปลี่ยนการเผาให้เป็นทุน รวมถึงมีการพิจารณาเรื่อง คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเปลี่ยนจากการเผามาเป็นการรับซื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าจากการเผาให้มาเป็นมูลค่าแทน ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ทันทีนั้น คือ ใครเผาหรือก่อมลพิษ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับได้เลยซึ่งมีโทษอยู่แล้ว หากเป็นในต่างจังหวัดก็จะมีเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการซึ่งจะทำงานร่วมกับนายอำเภอของแต่ละจังหวัด โดยได้มีการเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจจับ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง นอกจากนั้นต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังไม่เด็ดขาด โดยในการผลักดันครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเข้าใจและมีความเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง ตลอดเวลาที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 ไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง หากเราไม่ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติก็จะสร้างผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะฉะนั้นครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ

>> คำถามที่ 1 ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ 

ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า 

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…

🟢1.อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย 

ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้

ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 

(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้

(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น

🟢2.แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน

แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

🟢3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล 

ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่

ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...

1.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ

2.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่  ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า

3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น

>> คำถามที่ 2 การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก

2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี

แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…

ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที 

หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…

>> คำถามที่ 3 ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา

พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น

หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน 

รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี

>> คำถามที่ 4 ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ

"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

'วีระศักดิ์' มั่นใจ!! พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 อยู่หมัด คาด!! มีผลบังคับใช้ 'วันอากาศสะอาดสากล' 7 ก.ย.นี้

(5 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระประเทศไทย..วาระโลก : แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ลดโลกเดือด’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ร่วมชมบูธนิทรรศการของภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมโดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนหรือคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติเป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึงระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเร่งพิจารณา

‘พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารจัดการเชิงพื้นที่กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดนมีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วนขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ ในไตรมาส 4 ปีนี้เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย’ นายจักรพล กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าจากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ มีผู้ป่วยฯ มากกว่า 400,000 คน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษPM2.5สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ(NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง ‘การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม’ เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)

‘สสส.มุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยการเสนอนโยบาย สร้างสรรค์งานวิชาการ เสริมหนุนประชาสังคม และสื่อสารสังคมมีผลงานที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.), เสริมหนุนเครือข่ายสภาลมหายใจ 15จังหวัดสานพลังภาครัฐ ท้องถิ่นเอกชน ประชาสังคม ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน, สร้างโมเดลต้นแบบ Low Emission Zoneใน 5 เขตของกรุงเทพฯ, จัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ก้าวกระโดดไปมากกว่า 600 โรงเรียน,จัดทำต้นแบบห้องปลอดฝุ่น1,000 ห้องทั่วประเทศ, จัดเวทีวิชาการระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM 2.5 เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สรุปข้อเสนอและนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ 1 ใน 7 ร่างที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการนับเป็นข่าวดีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ที่มีสาระสำคัญในการกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ’ นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด วุฒิสภากล่าวว่าเมื่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายลูก ระเบียบ มาตรการต่างๆ ซึ่งจะเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีการเผาใหญ่ที่สุด อยู่ในเขตป่า 64%โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ รองลงมาคือพื้นที่การเกษตร 26.8% โดยเฉพาะนาข้าว ที่มีการเผาฟางช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวทั้งที่สามารถใช้ปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นชีวมวลได้จึงต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแปรรูป การขนส่ง และการตลาด ซึ่งจะช่วยลดการเผาได้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อนเกินกำลังกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายเครื่องมือ ไม่สามารถจัดการได้เฉพาะในช่วงฤดูฝุ่น 3 เดือนแต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ด้วยสูตร 8-3-1 คือ 8 เดือนช่วงดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขออกแบบกลไก วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ลดการเผา 3 เดือนช่วงเผชิญเหตุ การเฝ้าระวังจุดความร้อน การบังคับใช้กฎหมาย และ 1 เดือนช่วงฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เชื่อว่า พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงาน ระบบงบประมาณ ลดปัญหาความล่าช้า โดยหวังว่าวันที่ 7 ก.ย. ‘วันอากาศสะอาดสากล’  พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top