Monday, 21 April 2025
อันวาร์อิบราฮิม

‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ขึ้นแท่นนายกฯ มาเลเซียคนใหม่ สางปัญหาเงินเฟ้อ-ศก.ชะลอตัว-ความขัดแย้งต่างเชื้อชาติ

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียทรงประกาศแต่งตั้งนาย อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านขึ้น เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย โดยจะเข้าพิธีสาบานตนในเวลา 17.00 น. วันนี้ (24 พ.ย.) นับเป็นการยุติความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานถึง 5 วันเต็ม ภายหลังศึกเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่มีพรรคใดชนะได้ครองเสียงข้างมาก

การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ อันวาร์ มีขึ้นหลังจากที่เขาต้องเผชิญมรสุมในเส้นทางการเมืองมานานถึง 30 ปี โดยเริ่มจากการเป็นอดีตศิษย์รักของ ‘มหาเธร์ โมฮาหมัด’ และเคยก้าวไปถึงตำแหน่งรองนายกฯ ก่อนจะถูกตัดสินจำคุกในคดีรักร่วมเพศ พ้นโทษออกมาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นเป็นนายกฯ มาเลเซียในวันนี้

การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้นำมาสู่ภาวะ ‘สภาแขวน’ เนื่องจาก 2 กลุ่มการเมืองใหญ่ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan - PH) ของ อันวาร์ อิบราฮิม และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Perikatan National - PN) ที่นำโดยอดีตนายกฯ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ต่างไม่สามารถคว้าจำนวน ส.ส.ได้ถึง 112 ที่นั่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเสี่ยงที่จะซ้ำเติมภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งทำให้มาเลเซียต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ มาแล้วถึง 3 คนในช่วงเวลาแค่ 3 ปี และยังอาจทำให้การกำหนดนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก

กลุ่ม PH ของ อันวาร์ คว้าที่นั่ง ส.ส.ได้มากที่สุด 82 ที่นั่งจากศึกเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ (19 พ.ย.) ขณะที่กลุ่ม PN ของมูห์ยิดดิน ได้มา 73 ที่นั่ง ส่วน บาริซาน เนชันแนล (BN) ที่เคยผูกขาดการเป็นรัฐบาลปกครองมาเลเซียมานานถึง 60 ปีตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1857 กลับได้ ส.ส.เข้ามาเพียง 30 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าทำผลงานได้ย่ำแย่เป็นประวัติการณ์ในศึกเลือกตั้งทั่วไป

'ลุงป้อม' จับมือ 'นายกฯ มาเลย์' ร่วมจบปัญหาภาคใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช. เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(10 ก.พ. 66) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ให้การต้อนรับและหารือร่วมกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และคณะ ณ โรงแรมเชอราตัน

ซึ่งภาพรวมความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่แนบแน่นระหว่าง พล.อ.ประวิตร และนายอันวาร์ ส่งผลให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเองและมีความจริงใจต่อกัน โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต่างเห็นพ้องร่วมกัน ให้เกิดความสงบไม่มีความรุนแรงและเปิดพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยมุ่งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และชุมชน ควบคู่ไปกับความมั่นคง ซึ่งจะมีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานด้านการข่าว

‘นายกฯ มาเลย์’ ควันออกหู!! ‘เฟซบุ๊ก’ ลบโพสต์ไว้อาลัยผู้นำฮามาส ประณาม ‘Meta’ เลิกเป็นเครื่องมือให้ ‘ไซออนิสต์อิสราเอล’ เสียที

เมื่อวานนี้ (1 ส.ค.67) นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ออกมาประณาม เมตา แพลตฟอร์มส (Meta Platforms) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างดุเดือดว่าทำตัว ‘ขี้ขลาดตาขาว’ หลังถูกเฟซบุ๊กลบโพสต์ที่ตนเองแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุลอบสังหาร อิสมาอีล ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส

มาเลเซียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามถือเป็นชาติที่แสดงจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขันเรื่อยมา และนายกฯ อันวาร์ ก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอบันทึกการสนทนาระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่ฮามาสคนหนึ่ง เพื่อแสดงความโศกเศร้าอาลัยต่อการจากไปของฮานิเยห์ ก่อนที่โพสต์ดังกล่าวจะถูกเฟซบุ๊กลบออกไป

เหตุลอบสังหารอุกอาจครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ ฮานิเยห์ เดินทางไปยังกรุงเตหะรานของอิหร่าน เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดี มาซูด เปเซสเคียน ผู้นำอิหร่านคนใหม่

หลายฝ่ายมองว่า นี่คือการเติมเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงอยู่แล้ว และอาจทำให้การสู้รบในกาซาลุกลามขยายวงกว้างจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค

อันวาร์ ซึ่งมีโอกาสได้พบ ฮานิเยห์ ที่กาตาร์เมื่อเดือน พ.ค. ระบุว่า ตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำทางการเมืองของฮามาส แม้มาเลเซียจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนฮามาสในด้านการทหารก็ตาม

“ขอให้นี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนแจ่มแจ้งถึงเมตา : หยุดแสดงอาการขี้ขลาดตาขาวแบบนี้เสียที และเลิกทำตัวเป็นเครื่องมือให้กับระบอบไซออนิสต์อิสราเอล!” อันวาร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ เมตา ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนในวันที่ 1 ส.ค.67 ขณะที่กระทรวงสื่อสารของมาเลเซียระบุว่า จะมีการเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียเคยประท้วงเมตามาแล้วหลายครั้งเรื่องการปิดกั้นคอนเทนต์ต่าง ๆ รวมถึงข่าวที่ อันวาร์ ไปพบกับ ฮานิเยห์ ครั้งสุดท้าย ซึ่งต่อมาทางเมตาก็ได้ยอมปลดบล็อกโพสต์ดังกล่าวให้

โดย เมตา ออกมาอธิบายในตอนนั้นว่า ‘ไม่ได้มีเจตนา’ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก และก็ไม่เคยใช้มาตรการจำกัดเนื้อหาที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมตา ถือว่าฮามาสซึ่งเป็นขบวนการอิสลามิสต์ที่ปกครองฉนวนกาซาคือหนึ่งใน ‘องค์กรอันตราย’ (dangerous organization) และห้ามการเผยแพร่เนื้อหายกย่องเชิดชูคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้เมตายังใช้ระบบตรวจจับอัตโนมัติร่วมกับทรัพยากรบุคคลในการลบโพสต์หรือติดป้ายคำเตือนภาพกราฟิกต่าง ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎของแพลตฟอร์มด้วย

รัฐบาลมาเลเซียประกาศจุดยืนสนับสนุนทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ (two-state solution) เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียนปีหน้า เผยคุณสมบัติประสบการณ์ระดับ 'รัฐบุรุษ'

(16 ธ.ค. 67) สื่อมาเลเซียรายงานว่า นายอันวาร์ อิบบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะแต่งตั้งให้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็น "ที่ปรึกษาส่วนตัว" ให้กับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในขณะที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า

นายอันวาร์ เผยว่า คุณสมบัติของนายทักษิณ นอกจากมีประสบการณ์ระดับรัฐบุรุษแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพและสนับสนุนจากชาติสมาชิกหลายฝ่ายในอาเซียน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

“ผมตกลงแต่งตั้ง (ทักษิณ) เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในฐานะประธานอาเซียน ขอบคุณที่ยอมรับการแต่งตั้งนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษแบบนี้” นายอันวาร์กล่าวกับนางสาวแพทองธาร ธิดาคนเล็กของนายทักษิณ

“ขอบคุณที่เขายอมรับการแต่งตั้งครั้งนี้ เพราะเราเห็นความสำคัญจากประสบการณ์ของนักการเมืองผู้มีประสบการณ์เช่นคุณพ่อของท่าน” อันวาร์กล่าวต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร

นอกจากนี้ ในระหว่างการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กับนายอันวาร์ อันวาอิบราฮิม เผยว่า มาเลเซียต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองชาติ โดยตั้งเป้าหมายการค้าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027

"อาจจะมองว่าเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยและมาเลเซีย เราก็มีสิ่งที่สามารถร่วมมือกันได้" นายอันวาร์ กล่าว นอกจากนี้นายกมาเลย์ยังกล่าวถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างไร้รอยต่อในอาเซียน เพื่อให้การค้าภายในภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน ‘อาหาร-ค้าลงทุน-ท่องเที่ยว-มั่นคง’ ขอบคุณมาเลเซียต้อนรับอย่างอบอุ่น กระชับความร่วมมือ 2 ประเทศ

(16 ธ.ค. 67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation: AC) ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุม Bilik Mesyuarat Perdana ชั้น 3 ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดย น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อบรรลุ "สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" และมุ่งหวังที่จะร่วมมือกันเพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองชาติ

ในเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งกรุงเทพฯ ช้ากว่ามาเลเซีย 1 ชั่วโมง) ณ เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย น.ส.แพทองธาร และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม ได้ร่วมกันตรวจแถวกองทหารเกียรติยศในพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในโอกาสการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ (Official Visit)

ในการประชุมหารือประจำปี (AC) ครั้งที่ 7 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของสองประเทศในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการสนับสนุนด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการเชื่อมโยงด้านคมนาคม พลังงาน และความมั่นคงในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวถึงการเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้า การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยมาเลเซียชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เช่น ภูเก็ต และสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้แนวคิด "6 Countries, 1 Destination"

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า มาเลเซีย เป็นมิตรประเทศ ที่ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ อันดีมากอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นหุ้นส่วน ทางการค้า ที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน ขณะเดียวกัน มาเลเซียยังเป็น 1 ใน10 ประเทศ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากอีกด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ทั้ง2 ประเทศ มุ่งมั่น ในการประสานความร่วมมือ ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพลังงาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้กล่าวถึงการค้าระหว่างกัน เช่น การนำเข้ายางพาราจากไทย พร้อมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจด้านยางพาราระหว่างสองประเทศ

สำหรับมิติด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันว่า ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นประเด็นภายในของไทย โดยมั่นใจว่าไทยจะสามารถสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้ โดยการพูดคุยและพัฒนา

ทั้งสองฝ่ายยังได้กล่าวถึงการร่วมมือในด้านความมั่นคง เช่น การป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการหลอกลวงทางออนไลน์ และจะร่วมกันจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และการประชุมความร่วมมือด้านความมั่นคงในปีหน้า

ทั้งนี้ สองประเทศได้ตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันให้ได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 โดยการค้าชายแดนมีสัดส่วนถึง 30% ของการค้าทวิภาคี และเห็นควรผลักดันการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ในด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงโครงการถนนเชื่อมด่านสะเดาใหม่และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่จะเสร็จตามกำหนด และคาดหวังว่าจะมีโครงการทางรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคในอนาคต

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้า ซึ่งมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน ภายใต้หัวข้อ "Inclusivity and Sustainability" ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "Malaysia Madani" โดยเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยในโอกาสต่อไป

ฝ่ายค้านมาเลเซียวิจารณ์ 'อันวาร์' ตั้ง 'ทักษิณ' นั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียนปีหน้า ถามเหมาะสมแล้วหรือ?

(18 ธ.ค.67) เกิดความขัดแย้งในการเมืองมาเลเซียหลังจากนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมประกาศแต่งตั้ง 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมาเลย์ในปีหน้าซึ่งเป็นช่วงที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน โดยเรื่องดังกล่าวบรรดาพรรคฝ่ายค้านและนักการเมืองหลายคนตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่ออาเซียนจริงหรือ และทำไมไม่เลือกนักการทูตหรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศแทน

นายอันวาร์เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมว่า การแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษานั้นเป็นข้อเสนอจากมาเลเซีย และได้รับการตอบรับจากฝ่ายไทย โดยเขามั่นใจว่าประสบการณ์ของทักษิณจะช่วยให้มาเลเซียได้มุมมองที่มีค่าท่ามกลางวิกฤตในภูมิภาค

แม้บางฝ่ายจะมองว่าแต่งตั้งทักษิณเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในพม่าและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ก็มีหลายเสียงที่ตั้งคำถามถึงการเลือกนักการเมืองต่างชาติที่มีประเด็นถกเถียงหลายเรื่อง เช่น ทักษิณที่ถูกลงโทษในคดีคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบในไทย

อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแสดงความสงสัยเช่นกันว่าเหตุใดถึงเลือกทักษิณ ทั้งที่มีตัวเลือกอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย และเน้นว่าการเลือกบุคคลที่มีข้อถกเถียงอาจจะเป็นความเสี่ยงสำหรับอันวาร์

ทักษิณซึ่งกลับไทยในปี 2023 และถูกตัดสินจำคุก 8 ปีในข้อหาคอร์รัปชัน ก่อนจะได้รับการลดโทษและทัณฑ์บน ได้รับการยอมรับในบางวงการ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้เขายังคงมีอิทธิพลทั้งในและต่างประเทศ ทักษิณเคยเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในพม่า และยังคงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย แม้ว่าจะหลบหนีออกจากประเทศไปหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งผู้นำต่างชาติในตำแหน่งที่ปรึกษาอาเซียนนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ในระยะยาว

รมว.ต่างประเทศมาเลย์ยัน ทักษิณ เหมาะสมนั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน เชื่อทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์สองมหาอำนาจได้

นายโมฮัมหมัด ฮะซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2025 โดยในตอนหนึ่งของการแถลง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม จะแต่งตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียนในปีหน้า

โดยนายฮะซัน กล่าวถึงเหตุผลที่นายกฯมาเลย์เลือกนายทักษิณว่า “อดีตนายกฯทักษิณ เป็นผู้ทรงอิทธิพลในไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ และมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน นั่นทำให้เขาเหมาะสมในการทำหน้าที่สะพานเชื่อมอาเซียน ระหว่างสองมหาอำนาจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยให้เป็น 'ที่ปรึกษาส่วนตัว' ของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในช่วงที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2025 นั่นได้สร้างข้อวิจารณ์มากมายจากทั้งฝ่ายค้านของมาเลเซีย ตลอดจนบรรดานักวิชาการของมาเลเซีย

โดยนายอาห์หมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่าเป็นการกระทำที่ 'ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน' และตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนหรือเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของนายอันวาร์ในระดับสากลกันแน่

เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็แสดงความสงสัยเกี่ยวกับการเลือกทักษิณ โดยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ทำไมเขาถึงเลือกทักษิณ เรามีคนให้เลือกมากมาย และทักษิณมีปัญหาทางกฎหมายของตัวเอง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของนายอันวาร์ในการเลือก”

ขณะที่นักวิชาการบางรายกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นข้อเสีย หากถูกมองว่าเป็นการขาดความมั่นใจในรัฐบาลของตัวเองในการบริหารจุดยืนของอาเซียนระหว่างสองขั้วมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่นักวิชาการบางคนมองว่า การแต่งตั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยแนะนำรัฐบาลมาเลเซียในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่อาเซียนจะเผชิญในอนาคต

'อันวาร์' พบ 'ทักษิณ' แล้ว ขึ้นเรือยอร์ชคุยกลางทะเล ชมเปราะเป็น 'บิ๊กคอนเนคชั่นแห่งอาเซียน'

( 27 ธ.ค.67) นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม โพสต์ภาพพร้อมข้อความในการพบปะกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะที่แต่งตั้งให้รับหน้าที่ที่ปรึกษาประธานอาเซียนซึ่งมาเลเซียจะรับบทบาทประธานอาเซียนในปีหน้า

ข้อความจากเฟซบุ๊กของนายกอันวาร์ระบุว่า "ยินดีที่ได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และเพื่อนที่รัก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เราทั้งสองสนทนาอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น รวมถึงในฐานะที่ท่านเป็นที่ปรึกษานอกรอบของประธานอาเซียนของมาเลเซีย บทสนทนาของเรามุ่งเน้นไปที่เรื่องสำคัญในระดับภูมิภาค ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ การส่งเสริมสันติภาพในภาคใต้ของไทย และการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา

เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบได้ของทักษิณในภูมิภาค และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของท่าน จะเปิดโอกาสอันมีค่าให้กับมาเลเซียและอาเซียนในการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยความมั่นใจและประสิทธิผลที่มากขึ้น

เราได้หารือกันถึงวิธีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและไทยที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยการปรับให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างความสมานฉันท์ในภูมิภาค ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เดียวกับที่ผมแบ่งปันกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทักษิณและผมเชื่อมั่นว่า มาเลเซียและไทยสามารถทำได้มากกว่าที่เคย โดยไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ของชาติของเรา แต่เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม เรามุ่งมั่นที่จะทำให้วิสัยทัศน์นั้นกลายเป็นความจริง" ข้อความที่นายกอันวาร์ระบุ 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม แถลง!! ผลการหารือกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เผย!! พูดคุยประเด็นสำคัญในภูมิภาค เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสร้างสันติภาพในภาคใต้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เปิดใจเชื่อ ความเจนจัดของอดีตผู้นำไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อ 'มาเลเซีย' ที่กำลังจะนั่งในตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนคนใหม่ในปี 2025

และเสริมว่า ผู้นำทั้งสองพบกันในวันพฤหัสบดี (26) โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ประเด็นการหารือประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทยและต่อวิกฤตพม่า

“เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบเคียงของคุณทักษิณไปทั่วทั้งภูมิภาคพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญที่พิเศษที่โดดเด่นของเขานั้นเป็นเสมือนการสัญญาต่อโอกาสที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับทั้งมาเลเซียและอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถที่มากขึ้น” 

อันวาร์ซึ่งเรียกอดีตนายกฯ ไทยว่า ‘เพื่อนรัก’ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกวิตกต่อปัญหาทางกฎหมายและการเมืองในไทยที่รุมล้อมอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนาน 15 ปีจากการโดนทำรัฐประหาร ซึ่งมีประวัติทำความผิดคอร์รัปชันและสามารถรอมชอมกับทหารได้ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

และหลังจากที่นายกฯ อันวาแต่งตั้งทักษิณเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาส่วนตัวในการนั่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนครั้งแรกกลับพบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งในไทยและในมาเลเซีย และรวมไปสื่อนอกเช่น รอยเตอร์

มีการหยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด

ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียเองออกมาถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือและจะเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์ได้อย่างไร ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน ‘ดร.มหาเธร์’ งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย

ซึ่งการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำมาเลเซีย-ไทยนี้เป็นที่จับตาเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก เกิดขึ้นหลังสื่อ TASS ของรัสเซียรายงานวันพุธ (25) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ตอบรับการเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS partner country) ซึ่งเป็นก้าวที่จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัวในอนาคต

กลายเป็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญว่า กลุ่มอาเซียน 10 ชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1967 นี้จะยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างไรในเมื่อ 3 ชาติจากทั้งหมดได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะเป็นประธานอาเซียน รวมไทย ที่มีอดีตนายกฯ นั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และอินโดนีเซียนั้นกำลังจะเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซีย-จีนผ่านกลุ่ม BRICS

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ในฐานะเป็นประธานอาเซียน อันวาร์และมาเลเซียจะผงาดบนเวทีโลกในฐานะชาติมหาอำนาจตัวกลาง (middle power) โดยในการจำกัดความที่หมายถึงประเทศที่ยังไม่มีอิทธิพลโดดเด่นในฐานะชาติมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย แต่ถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การทูตของนายกฯ อันวาร์รวมถึงการไปเยือนอเมริกาใต้เพื่อประชุมเอเปกและการประชุม G-20 สะท้อนถึงการสร้างที่ยืนของมาเลเซียและเขาบนเวทีโลกและแผนสำหรับการนำอาเซียนในปี 2025

เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มักจะย้ำเสมอในการให้สำคัญต่ออาเซียนและกลไกของอาเซียนต่อเป้าหมายในการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้นสำหรับความพยายามอย่างเคลื่อนไหวภายในโลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งโลกขั้วใต้นี้ปักกิ่งได้ประกาศแสดงความเป็นผู้นำ

และเป็นเสมือนสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแดนเสือเหลืองที่ต้องทำให้มั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่ต้องถูกมองให้เป็นเช่นนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Matthijs van den Broek แสดงความเห็น

และเสริมว่า ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วต่อประเทศใดๆ ที่เขาเชื่อว่ากำลังเป็นศัตรูกับดอลลาร์สหรัฐ หลังกลุ่ม BRICS วางแผนจะตั้งสกุลเงินใหม่ของตัวเอง

ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้อขายต่างชาติระดับต้นและเป็นพันธมิตรทางการลงทุน ดังนั้นแล้ว มาเลเซียในฐานะประธานต้องเพิ่มความสามารถทางการทูตของตัวเองเพื่อไม่ให้มีการทำให้รู้สึกทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อันวาร์วิจารณ์ไบเดนมัวแต่สนใจยูเครน จีนรับอานิสงส์ แผ่อิทธิพลอาเซียนมากขึ้น

(21 ม.ค.68) นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อไฟแนนเชียลไทมส์ โดยแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ มุ่งเน้นความสำคัญไปที่สงครามในยูเครนมากจนทำให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง "บางทีพวกเขาอาจจะมุ่งเน้นไปที่ยุโรปก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้(อาเซียน)น้อยลง ยกเว้นแค่คำแถลงนโยบายต่างประเทศทั่วไป" นายกอันวาร์กล่าว 

แม้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะไม่ได้กล่าวถึงตัวบุคคล แต่เขากล่าวถึงรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยอันวาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความละเลยของสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์กับอาเซียนทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพื้นที่ให้กับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "ที่ผ่านมาอาเซียนเราความร่วมมือกับสหรัฐฯ เป็นอย่างดีแต่พวกเขาก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้เหมือนที่เคยเป็นในอดีต ขณะที่จีนมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น"

เขายังกล่าวชื่นชมการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลจีนที่มาเลเซีย โดยว่ามาเลเซียเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ "จีนให้การเข้าถึงที่ดีกว่า คุณสามารถพบปะพวกเขาได้ง่าย เราส่งรัฐมนตรีไปที่นั่น พวกเขาส่งรัฐมนตรีมา" 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังปกป้องการตัดสินใจของประเทศในภูมิภาคในการร่วมมือกับจีนอย่างสร้างสรรค์ และยินดีต้อนรับการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐาน "มันเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างมาเลเซียที่จะขยายความสัมพันธ์กับจีน" นายกรัฐมนตรีมาเลย์กล่าว

เมื่อถูกถามถึงความจำเป็นในการเข้มงวดกับจีนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย เขากล่าวว่า "ทำไมเราต้องเข้มงวด? เราไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในหลายเรื่องด้านนโยบายต่างประเทศ แต่เราก็ต้องการให้พวกเขาเป็นพันธมิตรที่สำคัญ" และ "กับจีน ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของการเข้มงวดกับประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่งและใหญ่"

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังให้ความเห็นถึงกรณีกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมั่นใจว่า "เหตุผลจะชนะในที่สุด" และกล่าวว่า "มีบริษัทใหญ่จากสหรัฐฯ ที่มีความสนใจและการพึ่งพาการค้าต่างประเทศและการลงทุนจำนวนมาก"

ในแง่การบาลานซ์ระหว่างมหาอำนาจ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวถึงความตั้งใจที่จะ 'รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย' ในระหว่างการเป็นประธานอาเซียน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top