Wednesday, 23 April 2025
อัตราดอกเบี้ย

‘พงษ์ภาณุ’ มอง!! แม้ FED แก้ปัญหาเร็ว แต่ยังไม่จบ เมื่อระเบิดเวลาจากอัตราดอกเบี้ย ยังรอซ้ำดาบสอง

(26 มี.ค.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภาคธนาคาร ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 ระบุว่า…

แม้เราจะมองเห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็วของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่เกิดขึ้น จาก ‘Bank Run’ ด้วยการเข้ามาค้ำประกันเงินฝาก ให้แบงก์เอาพันธบัตรไปวางค้ำและปล่อยกู้ในมูลค่าเต็มของราคาพันธบัตรนั้นๆ แต่จริงๆ แล้วปัญหามันยังไม่จบ ผมคิดว่า มันยังมีความเสี่ยงด้าน ‘Credit risk’ เป็นส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงของผู้กู้ที่อาจจะไม่สามารถชำระคืนได้ 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Interest Rate Risk’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ไม่หมดเอย หรืออีกส่วนหนึ่งก็นำไปลงทุนในหลักทรัพย์เอย โดยเฉพาะอย่างหลังกับหลักทรัพย์ ที่เวลาเจอดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร ราคาทรัพย์มันมักจะตกลงตาม โดยเฉพาะกับกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้คงที่ แบบ ‘Fixed Income Securities’ (ตราสารหนี้) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ตามกำหนดเวลา และชำระคืนเงินต้นเมื่อครบอายุของหลักทรัพย์

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ สมมติว่าเราไปซื้อพันธบัตรรัฐฯ ไว้ 1 หมื่นบาท แล้วภายในระยะเวลา 5-10 ปี เขาก็จะคืนมาให้ 11,000 บาท โดยเงื่อนไขในพันธบัตรจะเขียนว่า รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ย เป็นจำนวน 5 บาท ทุกวันที่นั้น วันที่นี้ และเมื่อครบกำหนด ก็จะชำระคืนเงินต้น ซึ่งจำนวนเงิน 5 บาทนี้ แม้ดอกเบี้ยจะขึ้นเร็ว-ขึ้นแรงแค่ไหน รีเทิร์นมันก็จะถูกฟิกซ์ไว้อยู่ดี

'กนง.' มีมติคงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี ชี้!! เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเป้า

(21 ส.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/67ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้างหลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกันโดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงานและอาหารสดไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 

ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ราคาน้ำมันดิบ พุ่ง!! เกือบ 2% หวั่น!! คว่ำบาตรเพิ่มรัสเซีย-อิหร่าน

(14 ธ.ค. 67) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 2% ในวันศุกร์ (13 ธ.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่า การคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับรัสเซียและอิหร่านอาจทำให้อุปทานตึงตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในยุโรปและสหรัฐอาจช่วยหนุนความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

• สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.27 ดอลลาร์ หรือ 1.81% ปิดที่ 71.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
• สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.08 ดอลลาร์ หรือ 1.47% ปิดที่ 74.49 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. และเพิ่มขึ้น 5% ในสัปดาห์นี้ ส่วนน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 6% ในสัปดาห์นี้ และปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปตกลงที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 15 ในสัปดาห์นี้ อันเนื่องมาจากสงครามของรัสเซียกับยูเครน โดยมุ่งเป้าไปที่กองเรือบรรทุกน้ำมันเงาของรัสเซีย (shadow tanker fleet) ขณะที่สหรัฐก็กำลังพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่า พวกเขาพร้อมที่จะกลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศทั้งหมดต่ออิหร่านหากจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ทางด้านข้อมูลจาก ‘จีน’ ในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยคาดว่าระดับการนำเข้าน้ำมันจะยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 เนื่องจากโรงกลั่นเลือกที่จะเพิ่มการจัดหาน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีราคาที่ถูกลง ขณะที่โรงกลั่นอิสระเร่งใช้โควตาการนำเข้าของพวกเขา

ขณะที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2568 เป็น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดไว้ที่ 990,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน

การปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารในจีนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนพ.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแอในจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายให้คำมั่นว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

IEA คาดการณ์ว่าจะมีอุปทานน้ำมันส่วนเกินในปีหน้า เมื่อประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มโอเปกพลัสจะเพิ่มการผลิตน้ำมันประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยได้รับแรงผลักดันจากอาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา กายอานา และสหรัฐ

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นสมาชิกของโอเปกวางแผนที่จะลดการส่งออกน้ำมันในต้นปีหน้า เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัส มุ่งเน้นการควบคุมการผลิตให้เข้มงวดขึ้น

ราคาน้ำมันดิบที่อิหร่านซึ่งเป็นสมาชิกโอเปกขายให้กับจีนนั้น เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ ทำให้ความสามารถในการขนส่งลดลงและเพิ่มต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และคาดว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านด้วย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์หน้า และจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกินคาด

ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำนวน 4 คนสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หากอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงสามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการน้ำมัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top