Tuesday, 22 April 2025
อัครเดช

‘อัครเดช’ ตอบ ‘สนธิญาณ’ เผย พรบ.ประชามติ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 60 ย้ำจุดยืนพรรค!! ไม่แก้ 112- คงปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ โต้ข้อกล่าวหาจากสนธิญาณ ยันหลักเกณฑ์ประชามติของพรรคยึดเกณฑ์รับรองรัฐธรรมนูญปี 60 ย้ำจุดยืนพรรคไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 รัฐธรรมนูญ และคงไว้ซึ่งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด 

(11 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงกรณีนาย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ออกมาตั้งคำถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติทรยศต่อจิตวิญญาณของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่?

โดยนายอัครเดช เปิดเผยว่า จากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในชั้นวุฒิสภานั้น ได้มีการแก้ไขในสาระสำคัญให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีออกเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ได้รับความเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง 

จากข้อมูลการลงประชามติรัฐธรรมนูญล่าสุดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50ล้านคน ดังนั้นหากจะได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากผู้มีสิทธิไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย เพราะในการลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง ที่ผ่านมา มีผู้เห็นชอบ 16.8ล้านคน จากยอดผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติ 29.7ล้านคน เท่านั้น

ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์ของวุฒิสภา จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง นั่นคือ 25 ล้านเสียง จาก 50 ล้านเสียง จะเห็นว่าถ้าใช้หลักเกณฑ์วุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับปี60ที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกงก็ไม่ผ่านการเห็นชอบในการออกเสียงประชามติจากพี่น้องประชาชน

ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงใช้หลักเกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิคือ 29.7 ล้านเสียง ซึ่งคำนวณออกมาแล้วคือประมาณ 15 ล้านเสียงถึงจะได้รับการรับรอง โดยในครั้งนั้นมีผู้เห็นชอบ16ล้านเสียงจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับปี60มาซึ่งก็เป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้รับรอง รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ  มีความเห็นให้ใช้เกณฑ์ตามร่างที่ผ่านการลงมติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะขอเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการร่วมที่ตั้งขึ้นใหม่ที่พรรคส่งนายวิทยา แก้วภราดัยไปผลักดันประเด็นที่มีสาระสำคัญว่า จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่าการออกเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนน และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จึงเป็นการยืนยันเจตนารมณ์เดิมของผู้มารับรองรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติในปี พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน

หากแก้ไขตามมติของวุฒิสภาจะทำให้การลงประชามติให้เห็นชอบเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ และทำประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อาจถึงทางตันทางการเมืองได้และอาจเกิดวิกฤติการเมืองในอนาคตได้อีกด้วย จึงขอยืนยันข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาติยังสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติเมื่อครั้ง 'ลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560' 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีพฤติกรรมดังที่นายสนธิญาณได้กล่าวหาแต่อย่างใดและถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมกับพรรค

และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ประกาศจุดยืนอย่างหนักแน่นและต่อเนื่อง ว่าจะต้องไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 รวมถึงต้องคงไว้ซึ่งการปราบปรามทุจริตอย่างเด็ดขาดเช่นเดิม

ตนขอยืนยันว่าพรรครวมไทยสร้างชาติยังสานต่อจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รักษาไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ  ซื่อสัตย์สุจริต และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างถึงที่สุด

‘อัครเดช’ จี้ตรวจสอบถังดับเพลิงแบตรถ EV หลังสืบพบติด มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต

(17 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวของ กรรมาธิการอุตสาหกรรมฯว่า

จากปัจจุบันประชาชนได้หันมาใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งใช้แบบเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ การดับเพลิงจะทำได้ยากกว่าเหตุเพลิงไหม้ทั่วไป ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการระงับเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นมาโดยเฉพาะ 

คณะทำงานชุดดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง จากหลายภาคส่วน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, สมาคมดับเพลิงและช่วยชีวิต พบข้อมูลเบื้องต้นว่าประสิทธิภาพของทั้งอุปกรณ์ และสารเคมีดับเพลิงในการระงับเพลิงไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร

ดังนั้นจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อลดการสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน 

นอกจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าว ยังได้พบว่าในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ดับเพลิง หรือ ถังดับเพลิง ซึ่งอ้างว่าสามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนหรือรถ EVได้ และยังมีตรา มอก. กำกับ แต่อย่างไรก็ดีจากการสืบสวนในทางลับของคณะทำงาน พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นการลอบประทับตรา มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต คณะทำงานจึงนำเรื่องมาเพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการ 

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงได้ประสานงานไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปแล้วอีกด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะส่งผลร้ายในอนาคตขึ้นได้ เนื่องจากประชาชนที่ใช้อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวในการดับเพลิงรถ EV หรือเพลิงไหม้จาก แบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนแต่ไม่สามารถดับได้จริง ย่อมจะทำให้เกิดการสูญเสียในทรัพย์สิน และอันตรายถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนได้

นอกจากนี้ยังมีเอกสารหรือ การกล่าวอ้างอีกว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท ในเครือ ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินการ โดยกิจการในกำกับต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  และ ผู้บริหารต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ดังนั้นตนจึงเรียกร้องไปยังบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าบริษัทที่ทำผิดกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.หรือไม่ รวมทั้งออกมาชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว และหากบริษัทดังกล่าวถือหุ้นโดย ปตท. จริงจะต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างไร 

นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าคณะทำงานของกรรมาธิการอุตสาหกรรมที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่จะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องดับเพลิงหรือสารดับเพลิงของบริษัทดังกล่าวที่มีการใช้ตราสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตว่ามีประสิทธิภาพในการระงับเพลิงจาก แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร ซึ่งได้มีการทดสอบไปแล้วอยู่ระหว่างการสรุปผล เสนอกรรมาธิการอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถยนต์เหมือนที่เพิ่งเกิดขึ้นมากับรถแก๊สที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศจึงจะเร่งดำเนินการ กรณีดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนต่อไป

‘อัครเดช’ ปลื้ม บรรลุ 4 ข้อตกลงประชุมสภาอาเซียน หนุนการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค เกาะกระแสเทคโน-AI

(21 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ในรัฐสภาอาเซียน ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภานำสมาชิกรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุม 

นายอัครเดช ได้เปิดเผยว่า ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ของรัฐสภาอาเซียนที่ได้เข้าร่วมประชุมกับ 10 ชาติสมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน 8 เรื่อง โดยมีเรื่องที่สำคัญ ๆ คือ 

เรื่องแรก คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะตอบโจทย์ของปัญหาที่ชาติสมาชิกต่างเผชิญร่วมกันคือ การหลอกลวงทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น  

เรื่องที่ 2 จากการที่ชาติสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Artificial Intelligence หรือ AI ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นชาติสมาชิกจึงตัดสินใจร่วมกันพัฒนา Asian Digital Master Plan เพื่อให้มีการพัฒนา AI ระหว่างชาติสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม  

รวมถึงริเริ่ม Digital Integration Initiative ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชาติสมาชิกของภูมิภาคในด้าน AI ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เรื่องที่ 3 เป็นการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยมีการหยิบกรณีตัวอย่างซึ่งประสบความสำเร็จจากการเชื่อมโยงการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) ในอนุภูมิภาค(Sub Religion) ของภูมิภาคอาเซียน คือ กลุ่มประเทศ BIMP อันประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

กลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทั้งการขนส่งคน และการขนส่งของได้อย่างไร้รอยต่อเป็นอันสำเร็จ ซึ่งทาง AIPA จะได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และกฎหมายร่วมกันเพื่อให้เกิดการขนส่งแบบไร้รอยต่อ(Seamless Transportation) ภายในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งการพัฒนากฎหมายนี้จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการขนส่ง มาตรการในการลดอุปสรรคในการขนส่งคนและสิ่งของข้ามพรมแดน โดยการพัฒนากฎระเบียบดังกล่าวจะยึดหลักความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การพัฒนาการขนส่งแบบไร้รอยต่อนี้ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และประเทศไทยจะได้รับผลดีทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์จากการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน  

เรื่องที่สำคัญเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) ที่เป็นกลไกสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ทางที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งเสริมให้มียุทธศาสตร์หลักเพื่อจะเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก (Climate Changes Goals)

โดยยุทธศาสตร์นี้จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมมือกันลดการใช้เชื้อเพลิงพลังงานจากฟอสซิล

นอกจากนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ยังได้มีการหยิบยกอีกหลายเรื่องขึ้นมาหารือ อาทิ การติดตามความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนทางด้านการเกษตรและอาหาร การติดตามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน การสนับสนุนความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีตาม ASEAN Connectivity 2025 ซึ่งเป็นแผนแม่บทของชาติสมาชิก และการส่งเสริมทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์(Eco and Culture Tourism)

‘อัครเดช’ ชี้แก้ไข รธน.ต้องทำประชามติ 3 รอบ ย้ำจุดยืน รทสช. ห้ามแตะหมวด 1 – 2 และการปราบทุจริต

‘อัครเดช’ อธิบายชัดจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 รอบ ขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสิ้นข้อสงสัยแก่ทุกฝ่าย จี้หาหลักประกันไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 การปราบปรามทุจริตหากมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

(17 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่า 

การแก้รัฐธรรมนูญสำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีจุดยืนที่ชัดเจนคือจะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จะต้องไม่มีการแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 

กรณีมีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น จะเป็นกรณีที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ และไม่มีการแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 

สำหรับการสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการจัดทำประชามติกี่ครั้งนั้น ก่อนหน้านี้มีวุฒิสมาชิกท่านหนึ่งได้มีความเห็นว่าการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้หรือไม่เพียงใด เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8) ได้บัญญัติไว้ว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 หรือเกี่ยวกับหมวด 15 จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 256(7) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเพิ่มหมวด 15/1 เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการจัดทำประชามติจากพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจก่อนที่จะมีการแก้ไข จึงเป็นที่มาว่าในครั้งนั้นรัฐสภาจึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 

สำหรับในครั้งนี้ได้มีการตีความคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนั้นแตกต่างกันออกไป สำหรับความเห็นส่วนตัวของตนนั้นเชื่อว่าไม่ต้องมีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวด 15/1 ต้องมีการทำประชามติก่อน 1 ครั้ง เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีก 1 ครั้ง ก่อนที่เมื่อรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดย ส.ส.ร. แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงต้องมีการทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง ตามรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้

จากระเบียบวาระครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างความหวาดหวั่นใจให้กับเพื่อนสมาชิกรัฐสภาหลายท่านทำให้หลายท่านลาประชุม หรือไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม เนื่องจากเกรงว่าจะมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเพื่อให้สิ้นกระแสความ เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย จึงเป็นอันดีและไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ต่อประเทศชาติแต่อย่างใด 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top