Tuesday, 22 April 2025
ออมเงิน

'ออมสิน' ดึงคนฝากเงินแถมลุ้นเงินล้าน 20 รางวัล

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออก 2 แคมเปญเงินฝาก เพื่อส่งเสริมการออมส่งท้ายปี จูงใจด้วยดอกเบี้ยสูงและร่วมลุ้นรางวัลพิเศษ โดยแคมเปญแรกได้แก่ เงินฝากสลากออมสินพิเศษ 2 ปี (ใบสลาก) จับรางวัลพิเศษ ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. – 29 ธ.ค.2564 ร่วมลุ้นเงินรางวัลพิเศษ 1 ล้านบาท จำนวน 20 รางวัล ออกรางวัล 2 ครั้ง ในวันที่ 1 ธ.ค.64 จำนวน 10 รางวัล และ วันที่ 30 ธ.ค.64 อีก 10 รางวัล 

สำหรับสลากออมสินพิเศษ 2 ปี (แบบใบสลาก) ราคาหน่วยละ 100 บาท กำหนดผู้ฝากเป็นบุคคลธรรมดาอายุ 7 ปีขึ้นไป และนิติบุคคลทุกประเภท ฝากได้ที่สาขาธนาคารออมสิน ไม่จำกัดวงเงินฝากสูงสุด ระยะเวลาฝาก 2 ปี มีสิทธิลุ้นถูกรางวัล  24 ครั้ง กำหนดออกรางวัลทุกวันที่ 1 ของเดือน รางวัลสูงสุด รางวัลที่ 1 เป็นเงิน 5,000,000 บาท และรางวัลอื่น ๆ รวมถึงรางวัลเลขท้าย เมื่อฝากครบกำหนดจะได้รับดอกเบี้ยอีกหน่วยละ 0.10 บาท อัตราผลตอบแทนผู้ฝากขั้นต่ำเมื่อสลากครบกำหนดเฉลี่ยต่อปีตามจำนวนเงินฝาก ตั้งแต่ 0.05-0.35% ต่อปี ผู้ฝากเป็นบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยและเงินรางวัลจะได้รับการยกเว้นภาษี 

กอช. ชวนนิสิต นักศึกษา ออมเงินรับบำนาญใช้ตลอดชีพ

น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช. เชิญชวนนิสิต นักศึกษา เสริมสร้างวินัยการออมเงินเพื่ออนาคต เริ่มจากจำนวนเงินน้อย แต่ออมอย่างสม่ำเสมอ ด้วยระยะเวลาในการออมที่ยาว เงินออมจะมีผลตอบแทนที่ทบต้นทบดอกไปเรื่อย ๆ ถือเป้นการวางแผนทางการเงินให้กับตัวเอง และสามารถมีเงินใช้ในอนาคต

ทั้งนี้ในรายละเอียดของการออมเงินนั้น หากนิสิต นักศึกษาเริ่มออมกับ กอช. ตั้งแต่อายุ 20 ปีไปจนถึงอายุ 60 ปี เพียงวันละ 20 บาท หรือเดือนละ 600 บาท รัฐจ่ายเงินสมทบให้อีกตามช่วงอายุ สูงสุด 1,200 บาทต่อปี อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะสามารถรับเงินบำนาญโดยประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาทตลอดชีพ

‘ออมเงินล้างแค้น’ เทรนด์ฮิตวัยรุ่นจีน งดฟุ่มเฟือย-ใช้จ่ายแค่จำเป็น แลกกับได้เห็นตัวเลขเงินเก็บที่เพิ่มขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน

ในขณะที่วัยรุ่นยุค Gen Z ทั่วโลก มีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินสูงขึ้น และเริ่มเป็นหนี้กันตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่ที่จีนกลับมีเทรนด์ที่สวนกระแสไม่แคร์โลก เมื่อวัยรุ่นจีนแข่งขันกันเก็บออมเงินกันมากขึ้น และไม่ใช่การเก็บออมเงินแบบธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการเก็บเงินแบบเอาเป็นเอาตาย เก็บโหด เหมือนโกรธใครมา

กระแสการเก็บเงินแบบโหด เกิดขึ้นในโลกออนไลน์จีนเมื่อไม่นานมานี้ ที่วัยรุ่นจีนเรียกว่า 报复性存钱 (เป้าฟู่ซิ่งฉุนเฉียน) หรือการเก็บเงินล้างแค้น ด้วยการตั้งเป้าหมายการออมเงินต่อเดือนในระดับสูงสุด และใช้จ่ายเงินเพื่อยังชีพเท่าที่จำเป็นให้น้อยที่สุด แล้วจึงเอารายละเอียดการใช้จ่ายของตนมาแชร์ในโลกออนไลน์ เพื่อแข่งกันว่าใครสามารถเหลือเงินเก็บได้มากกว่ากัน 

แต่นอกจากจะแข่งขันกันแล้ว บรรดานักเก็บเงินล้างแค้นยังมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการแบ่งปันเทคนิคการประหยัดเงินในชีวิตประจำวันให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลอีกด้วย อาทิ การเลือกรับประทานอาหารในโรงอาหารชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนมักถูกมองว่าเป็นร้านสำหรับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันมีวัยรุ่น หนุ่มสาวเข้าไปใช้บริการโรงอาหารชุมชนกันมากขึ้น เพราะค่าอาหารถูกโดยไม่ต้องไปคำนึงถึงความหรูหรา บางคนเน้นทำอาหารเองที่บ้าน บางคนเลือกซื้อเฉพาะผัก ผลไม้ตามฤดู หรือมีโปรโมชันลดราคาพิเศษเพื่อเน้นประหยัด

ชาวเน็ตรายหนึ่ง ที่ใช้นามแฝงว่า Little Zhai Zhai เล่าว่า เธอมีเป้าหมายที่จะลดค่ากินอยู่ให้เหลือเพียงแค่ 300 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 1520 บาท/เดือน) ซึ่งล่าสุดเธอได้แชร์คลิปวิดีโอว่าสามารถใช้ชีวิตด้วยเงิน 10 หยวนต่อวันได้อย่างไร 

แถมหลายคนยังกลัวว่าตัวเองจะหลุดเป้า จึงเกิดไอเดียหาคู่หูร่วมประหยัด ให้มาช่วยกันดึงสติในการประหยัดเงินไปด้วยกันให้สามารถบรรลุเป้าหมายในแต่ละเดือนได้สำเร็จอีกด้วย 

กระแส ‘ออมเงินล้างแค้น’ สะท้อนหลายสิ่งที่น่าสนใจในสังคมจีนปัจจุบัน จากมุมมองของ ฉวน เหลียน ผู้อำนวยการของสำนักวิเคราะห์ตลาด China Market Research Group กล่าวว่า คนรุ่นใหม่จีนเลือกที่จะตอบโต้ต่อสภาพสังคมที่กดดัน บีบคั้น ด้วยการเก็บเงินอย่างเอาเป็นเอาตาย 

ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มวัยรุ่นในยุคก่อนหน้าช่วงปี 2010s ที่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายเพื่อคลายเครียด ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดสินค้าแบรนด์เนมในจีนเฟื่องฟูมาก จนวัยรุ่นยุคนั้นถึงขนาดยอมกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อกระเป๋ากุชชี่สักใบ หรือ iPhone สักเครื่องกันมากมาย 

แต่วัยรุ่นจีนในยุคนี้ กลับมีความระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ส่งสัญญาณค่านิยมแบบ ‘การบริโภคย้อนกลับ’ หรือ ‘เศรษฐกิจแบบตระหนี่’ ซึ่งก็มีทั้งความพยายามในการใช้สติก่อนใช้สตางค์ หรือการเสาะหาโปรโมชันลดราคาทุกครั้งเมื่อต้องจับจ่ายซื้อของแต่ละชิ้น

ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกระแสค่านิยมของวัยรุ่นยุค Gen Z โดยรวมทั่วโลก ที่มักใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว ซื้อความสุขให้ตัวเองก่อนคิดที่จะออมเงิน เช่นเดียวกับรายงานดัชนีความมั่งคั่งโดย Intuit พบว่า 73% ของกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของตน มากกว่ายอดเงินออมในธนาคาร 

แต่ค่านิยมการเก็บเงินล้างแค้นของวัยรุ่นจีนมาจากไหน? 

คริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษาของ Gavekal Dragonomics กล่าวว่า คนรุ่นใหม่จีนเริ่มมีความรู้สึกตรงกันว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่คิด ทำให้คนจีนเลือกที่จะเก็บเงินสำรองไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

เพราะหากดูจากตัวเลข GDP ของจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 นี้ เติบโตขึ้น 5.3% ซึ่งดีกว่าที่รัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ แต่จากรายงานของธนาคารแห่งชาติจีนก็ยังชี้ว่าครัวเรือนจีนยังออมเงินเพิ่มขึ้นเป็น 11.8% เช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่ออนาคตของเศรษฐกิจจีน 

เจี๋ย เหมี่ยว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สถาบัน NYU เซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ปัญหาตลาดแรงงานที่คับแคบและหดตัวลง เป็นสาเหตุสำคัญที่หนุ่ม-สาวจีน ใช้จ่ายเงินลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 - 24 ปีอยู่ที่ 14.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการว่างงานของประเทศถึง 5% ส่วนเงินเดือนเฉลี่ยขอผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่สำรวจในปี 2023 อยู่ที่ 6,050 หยวน/เดือน (ประมาณ 3 หมื่นบาท) ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเพียง 1% 

จากสถานการณ์ที่ตลาดแรงงานแข่งขันสูง หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยยังหางานทำไม่ได้ และการหารายได้เสริมทำได้ยากขึ้น เป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตวิญญาณ และ ความมั่นใจของหนุ่มสาวจีนให้หมดไฟ จึงต้องหาทางระบายด้วยการเก็บเงินล้างแค้น แม้ชีวิตจะลำเค็ญ แต่เมื่อเห็นตัวเลขเงินออมที่เพิ่มขึ้น ก็ยังพออุ่นใจในอนาคตที่ไม่แน่นอนของพวกเขาได้นั่นเอง

‘SCB EIC’ ชี้!! ‘แก่ก่อนรวย’ ในสังคมไทยยังน่าห่วง คนใกล้เกษียณมีสินทรัพย์น้อย-วัยทำงานหนี้สินรุมเร้า

(17 ก.ค. 67) SCB EIC เผยผลสำรวจ ‘SCB EIC Consumer survey 2023’ ว่า ในระยะสั้นปัญหาแก่ก่อนรวยของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ในระยะยาว SCB EIC มองว่าปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า ในภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 - 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

นโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ เพื่อให้ปรับการออม พร้อมนับถอยหลังใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดีขึ้น

>>กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน 

1.1. กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่าง ๆ

1.2.กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

>>กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม

2.1. กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า

2.2.กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top