อว. เปิด ‘อิมแพ็คฯ-สามย่านฯ’ รับ ‘มหกรรมวิทย์ฯ 65’ ผสานแนวคิด ‘ศิลปะ-วิทย์-นวัตกรรม’ 13-21 ส.ค.นี้
เมื่อ (3 ส.ค. 65) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขานรับนโยบาย อว. เปิดพื้นที่ 2 แห่ง จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565 ภายใต้แนวคิดศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ร่วมแสดงนวัตกรรมและผลงานวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่แห่งปี 13 – 21 สิงหาคม 2565 ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และ 17 – 21 สิงหาคม 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กับงาน NST Fair Science Carnival Bangkok
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปี 2565 นี้ อว. มีกำหนดจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น 2 แห่ง คือที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในรูปแบบการจัดงานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินมาทุกปี มีสถานที่จัดงานกว้างขวาง และเดินทางสะดวกสำหรับนักเรียน เยาวชนที่สนใจเข้าชมงาน และในปีนี้ได้ริเริ่มจัดที่สามย่านมิตรทาวน์ขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งเป็นใจกลางเมืองอีกแห่งที่มีเยาวชนรวมตัวกันมากเป็นพิเศษ ทั้งมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีได้อย่างสะดวกมาก
รมว.อว. กล่าวต่อว่า สำหรับมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปีนี้ ที่ อว.โดย อพวช. จัดขึ้นนั้น ตั้งใจจัดให้เยาวชน นักเรียน และผู้สนใจที่เข้าชมงานมีความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปพร้อมๆ กับการเพิ่มพูนความรู้รอบตัว ทำให้ผู้ที่เข้าชมงานเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นผู้ที่มีทั้งวิทย์และศิลป์ ตลอดจนคุณธรรมในตัวเอง เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีเป้าหมายทำให้สังคมยั่งยืน ทุกวันนี้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์แล้ว คนไทยไม่แพ้ใคร มีนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนที่ทำงานให้กับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี วิทยาศาสตร์ของไทยเป็นศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณ บรรพบุรุษไทยมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว เห็นได้จากการสร้างโบราณสถานมากมายหรือวัดวาอาราม ล้วนนำองค์ความรู้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น
“คนไทยเก่งในการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมแบบไทย วิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่มีการต่อยอดพัฒนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาสู่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงต้องมีการผนวกรวมวิทยาศาสตร์ในยุคเก่าและยุคใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งเราจะได้สัมผัสและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้กันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ของปีนี้ ที่จะปลุกความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวของทุกคนกับนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจและกิจกรรมที่สนุกสนานอีกมากมาย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่จัดโดย กระทรวง อว. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ‘พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย’ และ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงนำความรู้ด้านศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ศิลปะมาใช้ในการพัฒนาประเทศ เป็นต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังได้นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า แนวคิดหลักของการจัดงานในปีนี้คือ “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) โดยเน้นนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและประชาชนไทย มากถึง 124 หน่วยงาน จาก 11 ประเทศ (รวมประเทศไทย)
ส่วนจัดแสดงที่สำคัญคือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติของกษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ อันเปี่ยมไปด้วยคุณูปการและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ภายในงานยังมี หนึ่งในโครงการที่สำคัญ โดยจะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ Prime Minister’s Science Award 2022 ให้กับเยาวชนและครูวิทยาศาสตร์ที่ผู้เป็นต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันหรือภายในชุมชน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดการมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนและครู และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเยาวชน ครูและสถานศึกษา ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศต่อไป
