Wednesday, 3 July 2024
อนุดี_เซียสกุล

แอบส่อง!! คัดแข่งหัวหน้าพรรคทอรี่ สไตล์ผู้ดีอังกฤษ

 อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยที่มีการปกครองด้วยระบบที่มีหลายพรรคการเมือง พรรคใหญ่และเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือพรรคทอรี่หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าพรรคคอนเซอเวทีฟ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเลเบอร์หรือพรรคแรงงาน นอกจากสองพรรคนี้แล้ว อังกฤษก็ยังมีพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งคือพรรคลิบเบอรัลเดโมแครต

แต่พรรคที่มีเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลบ่อยครั้งกว่าก็คือพรรคคอนเซอเวทีฟที่บางครั้งก็เรียกกันว่าพรรคอนุรักษ์นิยมและขณะนี้พรรคนี้ก็เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ 

ในระยะ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาแล้วสามคนหลังจากการลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. ๒๐๑๖

เริ่มจากนายเดวิด แคมเมอรอนก่อนนายเดวิดประกาศลาออกในปี ค.ศ.๒๐๑๖ สาเหตุก็คือในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. ๒๐๑๕นายเดวิดประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งเขาจะจัดให้อังกฤษมีการลงประชามติในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปรากฏว่านายเดวิด ชนะการเลือกตั้งเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติตามสัญญา นายเดวิด สนับสนุนให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่โหวตให้อังกฤษออก ดังนั้นเมื่อความเห็นของเขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอังกฤษ นายเดวิดจึงอยู่ต่อไปไม่ได้

ขอแทรกข้อมูลตรงนี้สักหน่อยว่าเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปนี่ในพรรคคอนเซอเวทีฟพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครกล้าทำเรื่องประชามตินี้ เพราะมันมีผลมากมายและถ้าทำก็ต้องเสี่ยงว่าจะอยู่หรือไป ก็มีความเห็นของชาวอังกฤษที่ขัดแย้งกันและเช่นเดียวกันกับนักการเมือง บ้างก็ว่าอยู่ก็ดี บ้างก็ว่าออกจะดีกว่า

ต่อมานางเทเรซ่า เมย์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. ภายในพรรคอย่างท่วมท้นให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง แต่ระหว่างเป็นนายกฯไม่ถึงสามปีเธอก็ต้องลาออกเพราะรัฐบาลของเธอไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อรองเจรจากับสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขที่อังกฤษต้องการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ มีข้อขัดแย้งหลายประการ อังกฤษถูกโดนรุมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับตัวนางเทเรซ่าเอง เธอดูจะเสียเครดิทไปมากและจากการขัดแย้งกันเองภายในพรรควุ่นวายกันไปหมด จนเทเรซ่า เมย์แทบจะหมดสภาพ เธอยอมลาออกในปีค.ศ. ๒๐๑๙

การเมืองก็คือการเมืองไม่ว่าที่ไหนๆ ต้องมีพรรคมีพวก ส.ส.ในพรรคคอนเซอเวทีฟสนับสนุนให้นายบอริส จอนห์สันซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของนางเทเรซ่าอยู่ ว่าน่าจะมาแทนที่นางเทเรซ่า และสามารถแก้ไขปัญหาการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น เพราะนายบอริส คือตัวหลักคนหนึ่งในการที่สนับสนุนให้อังกฤษ ดีดตัวออกจากสหภาพยุโรปสำเร็จ เพราะฉะนั้นนายบอริส น่าจะเป็นคนที่ทำได้ตามที่อังกฤษต้องการ

และก็เป็นไปตามที่คิดกันในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟก็เลือกนายบอริสขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายบอริสขึ้นชื่อว่าเป็นปลาไหลใส่เสก็ตเก่งคนหนึ่งเขาจึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างง่ายๆต่อจากนางเทเรซ่า  ดังนั้นหลังจากที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานนักนายบอริสก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เกิดปรากฏการณ์ที่ฉงนๆกันอยู่คือว่าพรรคคอนเซอเวทีฟได้คะแนนเสียงข้างมากกว่าเดิมได้จัดตั้งรัฐบาลอีก

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเสียงดีเช่นนี้ ด้วยความมั่นใจนายบอริสก็ดำเนินการเจรจาให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น แต่เมื่อปีที่แล้วนายบอริสก็มาตกม้าตายจากการบริหารประเทศในการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่สับสนวุ่นวายทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตเพราะโรคระบาดไปนับแสนคน แผนการที่รัฐบาลออกมารับมือถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพและสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนเพราะรัฐบาลนายบอริสเชื่องช้าและเพิกเฉยต่อการรับมือกับโรคระบาด

'สภาภาคยานุวัติ' ประกาศรับรองพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลสที่ ๓' เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ

พระราชพิธีประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

พระราชวังเซนต์เจมส์เวลา ๑๐ นาฬิกาตรงตามเวลาในท้องถิ่นวันนี้ ๑๐ กันยายนจะมีพิธีสำคัญเกิดขึ้น ณ ที่นั่นคือการประกาศแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

พระราชพิธีนี้มีขั้นตอนอย่างไร ขอเริ่มจากจุดที่อาจจะเล็กแต่ก็น่าสนใจ คือ ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้น จะมีการเปลี่ยนการลดธงครึ่งเสาในการไว้อาลัยการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่ามาเป็นการชักธงขึ้นเสาเต็มตามปกติและจะทำเช่นนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์จึงจะลดลงครึ่งเสาตามเดิมจนกว่าพระราชพิธีพระศพจะผ่านพ้นไป

ก่อนอื่นขออธิบายว่าพระราชพิธีประกาศแต่งตั้ง Accession Council ในวันนี้ แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก Coronation ซึ่งจะมีขึ้นอีกในเวลาต่อมาเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการระยะหนึ่งและพิธีการนี้จะจัดขึ้นในวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

สำหรับพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษในวันนี้เป็นเพียงพิธีประกาศพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยคณะบุคคลที่เรียกว่า Accession Council หรือภาษาไทยเรียกว่า สภาภาคยานุวัติ กำหนดเดิมคือ ต้องทำภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังการสิ้นพระชนม์ แต่ในกรณีนี้เวลาได้ล่วงผ่านมาแล้ว ตามความเป็นจริงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทันทีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดาแล้ว

ขั้นตอนของพิธีที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในวันนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ในส่วนแรก พระเจ้าชาร์ลส์ จะยังไม่เสด็จเข้าร่วม แต่จะเป็นการชุมนุมของสมาชิกสภาองคมนตรีที่มีจำนวนถึง ๗๐๐ คน แต่พิธีวันนี้อาจเชิญมาได้เพียง ๒๐๐ คน ประธานในพิธีหรือ Lord President ประธานสภาองคมนตรีคือนางเพนนี มอร์ด้อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะอ่านประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นเธอจะให้เจ้าหน้าที่อ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ที่ยืนยันพระนามของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการที่พระองค์ทรงเลือกก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

หลังจากนั้นจะเป็นการลงพระนามและลงนามในคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ประกอบด้วยพระราชินี, เจ้าชายมกุฎราชกุมาร, พระสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่, ประธานสภาขุนนาง, อ้าทบิช็อปแห่งยอร์ก และนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามแล้ว ประธานเพนนี มอร์ด้อนจะบอกให้ที่ชุมนุมเงียบฟังคำประกาศในสาระรายละเอียดของการแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคำประกาศสิ้นสุดลง ประธานเพนนีจะสั่งให้มีการยิงสลุตปืนใหญ่ที่สวนไฮด์ปาร์ก กลางกรุงลอนดอน และหอคอยลอนดอน พิธีการในช่วงแรกนี้ครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดียังมีพิธีการที่ต้องทำอีกอย่างคือ การอ่านคำประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ระเบียงที่เรียกว่า Friary Court ของพระราชวังเซนต์เจมส์อีกดัวยและจะมีการอ่านคำประกาศนี้ในเมืองเบลฟาส, คาร์ดีฟ, เอดินเบอเรอะ และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

ในช่วงที่สอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะเสด็จเข้ามาในห้องซึ่งจะมีเพียงคณะองคมนตรีที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเข้าเฝ้าและพระองค์จะประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีและกล่าวระลึกถึงพระมารดาเป็นการส่วนพระองค์ ต่อจากนั้นให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแสดงความหวังว่าพระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการทรงงานเพื่อประเทศชาติ 

นอกจากนี้จะตรัสสาบานว่าจะปกปักรักษา Church of Scotland อีกด้วยเพราะการปกครองของสก็อตแลนด์ได้แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน และทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสองฉบับ โดยมีพระราชินีและเจ้าชายมกุฎราชกุมารเป็นพยานพร้อมกับบุคคลอื่นที่อยู่ ณ ที่นั้น คณะที่ปรึกษาจะลงนามด้วยในระหว่างที่ทูลลาจากพิธี เป็นการเสร็จสิ้นพิธีการประกาศตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีตามรายงานข่าวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาพระราชอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์ด้วยเป็นครั้งแรก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top