พับตำราอหิงสาวิธี เมื่อการอดประท้วงจนผ่ายผอม ต้องจำยอมมนุษย์บางจำพวกที่ 'ยิ่งอด - ยิ่งอ้วน'
"การอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) เป็นหนึ่งวิถีการต่อสู้ซึ่งไร้ความรุนแรงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกนัยคือยุทธศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจรัฐเกิดความละอาย และเรียกร้องให้สาธารณชนสนใจประเด็นปัญหาหรือความอยุติธรรมอันเกิดขึ้น โดยหวังผลให้สามารถสั่นคลอนรัฐ และผู้มีอำนาจ รวมทั้งปลุกกระแสสังคมได้ ซึ่งปรากฏอยู่ในการต่อสู้ทั้งจากปัจเจกบุคคลและขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก"
อาจเรียกได้ว่านั่นคือ คำจำกัดความของการอดอาหารประท้วง นิยามโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
การอดอาหารประท้วง ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในประวัติศาสตร์โลก เกิดขึ้นโดย 'มหาตมะ คานธี' (Mahatma Gandhi) ซึ่งอดอาหารประท้วงตลอดชีวิตรวม 18 ครั้ง เพื่อรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และต่อสู้ขอคืนเอกราชของอินเดีย จากอาณานิคมปกครองอังกฤษ ตามแนวทางสันติวิธีที่รู้จักกันดีว่า 'อหิงสา' ซึ่งคานธีอดนานสุด 21 วัน
'อหิงสา' นับเป็นแนวทาง 'ต่อสู้' โดย 'ไม่ต่อสู้' คือ การต่อสู้เยี่ยงอารยชน เป็นการต่อสู้ที่เหนือกว่าการต่อสู้ทั้งปวง ผู้เจริญและฝึกฝนตนเองอย่างเคี่ยวกรำเท่านั้น จึงจะสู้ด้วยวิธีอหิงสานี้ได้
การอดอาหารประท้วงบนบริบทการเมืองไทยที่รับรู้อย่างแพร่หลาย คือ กรณีของ 'เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร' อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. ตราด - พรรคประชาปัตย์) และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยครั้งแรกคุณฉลาดอดทั้งข้าวและน้ำเพื่อประท้วงรัฐบาล 'พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์' เรื่องทุจริตกักตุนน้ำมันในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาได้ประท้วงรัฐบาล 'พลเอก เปรม ติณสูลานนท์' ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ (พ.ศ. 2526)
แต่การต่อสู้ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ของ 'ฉลาด วรฉัตร' คือ การอดอาหารเรียกร้องให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยร่วมขบวนขับไล่ 'พลเอก สุจินดา คราประยูร' จนเกิดเป็นชนวนเหตุการณ์อัปยศของชาติ 'พฤษภาทมิฬ' ในเวลาต่อมา
แม้กระทั่งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร.ต.ฉลาด ในวัย 71 ปี ก็ยังออกมาอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภา ตั้งแต่ค่ำวันดังกล่าว เพื่อต่อต้านกฎอัยการศึก และการทำรัฐประหารของกองทัพ โดยประทังชีวิตเพียงน้ำเปล่าและน้ำผึ้งอยู่นาน 45 วัน เจ้าของฉายา 'จอมอด' จำต้องยุติการประท้วงลง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปกติร่างกายของคนทั่วไปจะทนต่อภาวะขาดอาหารได้ 30 - 60 วัน อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงร้อยละ 30 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ยิ่งอายุน้อยความแข็งแรงของร่างกายจะมีมากกว่าคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป นอกจากนี้ ร่างกายคนปกติทั่วไปจะทนต่อภาวะขาดน้ำได้เพียง 3 - 7 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
