Tuesday, 22 April 2025
หุ้นไอทีวี

'ก้าวไกล' ส่งหนังสือด่วนถึง กกต. คัดค้านส่งเรื่องวินิจฉัย กรณี 'พิธา' ถือหุ้นสื่อไอทีวีไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

(10 ก.ค. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ส่งหนังสือด่วนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคัดค้านการที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนที่ระเบียบ กกต. ระบุไว้เอง มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ จนน่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่

นายชัยธวัชกล่าวว่า ตามระเบียบของ กกต. เมื่อมีการร้องเรียนผู้สมัครคนใดเกี่ยวกับการกระทำหรือการขาดคุณสมบัติ คณะกรรมการต้องไต่สวน สืบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง จากนั้นให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ถูกร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องเข้าไปชี้แจง จากนั้นจึงดำเนินการต่อไปในการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในกรณีนี้ เมื่อมีการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงให้พิธาทราบ และยังไม่มีการเรียกเจ้าตัวไปชี้แจงด้วย แต่กลับจะมีการเร่งรัดส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับ กกต. กำลังทำผิดระเบียบของตนเองอยู่

“ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ อีกเพียง 4 วัน ก็จะถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี การที่จู่ๆ กกต.จะเร่งรัด ทำข้ามขั้นตอน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันที อาจทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่าองค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง มีเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ ผมเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารอการโหวตนายกรัฐมนตรีกันทั้งประเทศ จึงไม่ควรมีการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวางการตั้งรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย” นายชัยธวัชกล่าว

มติ กกต. 4 ต่อ 1 ดันส่งศาล รธน. ฟัน ‘พิธา’ ‘ปกรณ์’ หนึ่งเสียงค้าน หวั่นด้อมส้มมองไม่เหมาะสม

วันนี้ ( 12 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณี กกต. มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น นั้นมีรายงานว่าบรรยากาศในการพิจารณา เรื่องดังกล่าวของที่ประชุม กกต. เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ซึ่ง กกต. ทั้ง 5 คน เห็นตรงกันว่า บริษัทไอทีวีฯ ประกอบกิจการเป็นสื่อ หากมีการถือหุ้นก็จะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ทั้งมีการพูดถึงว่า หาก กกต. ไม่ส่งศาลธรรมนูญในวันนี้ ก่อนที่รัฐสภาจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดกฎหมายมาตรา 157 จึงมีการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 เสียง

โดย 4 เสียงประกอบด้วย 
1. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.
2. นายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ 
3.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ 
และ 4. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ 

ส่วน 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ คือ นายปกรณ์ มหรรณพ โดยนายปกรณ์ แสดงความกังวลต่อที่ประชุมว่า การที่ กกต. ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงนี้อาจจะถูกมวลชนมองว่าการกระทำของ กกต. ไม่เหมาะสม และควรจะต้องมีสอบประเด็นอื่นเพิ่มเติม อาทิ ความเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ว่านายพิธาเป็นเจ้าของหุ้นจริงหรือไม่ให้ชัดเจนกว่านี้ แม้ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าไอทีวีเป็นธุรกิจสื่อก็ตาม

สำหรับ กกต. ที่ลงมติเรื่องนี้มีเพียง 5 คน เนื่องจากนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย พ้นจากตำแหน่งไปก่อน เพราะมีอายุครบ 70 ปี

เปิดเซฟ 'จักรกฤษณ์ ทองศรี' ส.ส.ภูมิใจไทย พบข้อมูลถือครองหุ้นไอทีวี 4 หมื่นหุ้น

(18 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน อดีต ส.ส.หลายราย หลังพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุดพบข้อมูลว่า นายจักรกฤษณ์ ทองศรี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันได้รับเลือกตั้ง ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ซึ่งนายจักรกฤษณ์ พร้อมด้วย น.ส.ศุภจิรา ทองศรี คู่สมรส แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 84,427,312 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยแบ่งเป็นทรัพย์สินนายจักรกฤษณ์ 80,031,205 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก 32,211,174 บาท เงินลงทุน 16,632,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 12,500,000 บาท ที่ดิน 7,600,000 บาท เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินคู่สมรส 4,178,135 บาท และทรัพย์สินบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 217,9714 บาท

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ ทรัพย์สินในส่วนของเงินลงทุน นายจักรกฤษณ์ แจ้งว่ามีเงินลงทุน 2 รายการ คือ หุ้นไอทีวี จำนวน 40,000 หน่วย แจ้งมูลค่า 0.00 บาท และหุ้น PF จำนวน 41,580,000 หน่วย มูลค่า 16,632,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นายจักรกฤษณ์ ทองศรี มีศักดิ์เป็นหลานของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

‘คณะกรรมการไต่สวน’ ชงยกคำร้อง ‘พิธา’ ผิด ม.151 เหตุขณะยื่นสมัครไม่พบไอทีวี ประกอบกิจการ-มีรายได้

(14 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนวนการสอบสวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลกรณีรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน กกต.นั้น มีรายงานว่า ผลสอบที่คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้น ได้เสนอความเห็นว่า เห็นควรให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส.66 วันที่ 4-7 เมษายน ไม่พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ

ทั้งนี้ คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งได้มอบรองเลขาธิการ กกต.ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้อง และปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณา ตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต.วินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านของคณะอนุฯวินิจฉัยหลายกรณี เมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุฯวินิจฉัยได้รับสำนวนหากเห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัยก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีคาดว่า คณะอนุฯวินิจฉัยจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้นายพิธาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะ สส.ของนายพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต.พิจารณา เช่นที่เคยดำเนินการกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด

สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 151 นั้น หากที่สุด กกต.มีมติเห็นว่า ผู้สมัครรายนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเมื่อดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีของนายธนาธร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า นายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 แต่เมื่อ กกต.ดำเนินคดีอาญาอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยมาตรา 151 นั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด

‘พิธา’ รอด!! กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี

(24 ม.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) กรณีถือหุ้นไอทีวี

โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัยศาลได้ชี้แจงว่าเคยได้แจ้งให้ทราบว่าคดีนี้ผู้ถูกร้องขอขยายเวลาการชี้แจงสองครั้งครั้งละ 30 วัน ความจริงคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปก่อนหกสิบวันที่แล้วไม่ใช่ศาลล่าช้า และขอแจ้งว่าการไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อถือว่าเป็นการไม่เหมาะสมเพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกหรือลบก่อนศาลวินิจฉัยจะเป็นการชี้นำและกดดันศาลจึงขอเตือนไว้ด้วย

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่และนับแต่เมื่อไหร่ โดยเห็นว่า รธน. มาตรา98 บัญญัติเรื่องการห้ามลงสมัคร สส. ในกรณีการห้ามถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการสื่อ

การจะพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการสื่อ ต้องดูว่ามีเจตนาและยังมีการประกอบกิจการและมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่

โดยเมื่อมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อปี 2566 กำหนดให้วันที่ 4 เม.ย. เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง โดยพรรคก้าวไกล ยื่นรายชื่อนายพิธาเป็นผู้สมัครลำดับที่ 1 และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ลำดับที่ 7,061 จำนวนสี่หมื่นสองพันหุ้น และถือเรื่อยมา จน 15 พ.ค.2566 จึงโอนหุ้นให้นาย ภาษิน ลิ้มเจริญรัตน์ และมีการระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทว่าเป็นสื่อโทรทัศน์

โดยนายพิธาโต้ว่าไม่มีอำนาจครอบงำ เพราะกฎหมายหลักทรัพย์บัญญัติให้ตนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 จึงเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำ ยกเว้นเป็นการได้มาโดยมรดก และจำนวนหุ้น 42,000 หุ้น แต่หุ้นไอทีวีมี หนึ่งพันสองร้อยหกล้านหุ้น ร้อยละ 0.00348 เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่เข้าข่ายการครอบงำ โดยศาลเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าววางหลักว่า รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าจะถือหุ้นเท่าใด หรือมีอำนาจบริหารหรือไม่ การถือเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการถือแล้ว การบัญญัติก็เพื่อไม่ให้ใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ จึงห้าม สส. ถือหุ้นกิจการสื่อโดยไม่ได้ระบุว่าต้องถือหุ้นเท่าไหร่ หรือมีอำนาจครอบงำหรือไม่ การเถือเพียงหุ้นเดียวจึงเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ต่อมาต้องพิจารณาว่าวันสมัครได้ถือหุ้นหรือไม่ โดยนายพิธาอ้างว่า บัญชีผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 โดยระบุว่าถือในนามตัวเองแต่ไม่ได้ถือนามผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดและต่อมาวันที่ 15 พ.ค. จึงโอนหุ้นให้นายภาษิน

โดยศาลเห็นว่า สำเนาบัญชีผู้ถือที่ระบุว่าถือ 42,000 หุ้น รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ ว่าวันที่ 5 ก.ย.2550 รับโอนหลักทรัพย์จากบิดา โดยเป็นการโอนในกรณีผู้จัดการมรดก เมื่อมีฐานะเป็นทายาทอีกทาง รวมถึงหุ้นบริษัทไอทีวี มีผลให้เป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาท จึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีตั้งแต่ปี 2550 และหนังสือโอนหุ้นกับนายภาษิน บอกว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงโอนหุ้นให้และไม่สอดคล้องที่บอกว่าเป็นกิจการต้องห้าม เพราะตามความเข้าใจของผู้ถูกร้องไม่จำเป็นต้องโอน และการยื่นต่อ ป.ป.ช. นายพิธาไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้น และการที่เบิกความว่าหุ้นไอทีวี เป็นหุ้นที่โอนได้ตามตลาดเพราะไม่ได้อนุญาตให้ซื้อขายจึงไม่ได้โอนให้ทายาทอื่น แต่ต่อมาปี 2566 ได้รับคำแนะนำให้โอนทางทะเบียนได้ แสดงว่าการไม่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เป็นความคลาดเคลื่อนและเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง

เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธ จึงฟังไม่ได้ว่าโอนหุ้นดังกล่าว และเป็นผู้ถือหุ้นในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนกรณีไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ศาลเห็นว่าการพิจารณานิติบุคคลใดเป็นสื่อหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ แต่จะพิจารณาควบคู่ไปพฤติการณ์ว่าประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยปี 2538 ได้ดำเนินการกิจการโทรทัศน์และมีสัญญา 30 ปี และต่อมา สปน. ปี 2550 มีหนังสือบอกเลิกสัญญา การแจ้งย่อมเป็นผลทำให้การร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องว่าเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2550 แจ้งประกันสังคมว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีพนักงาน ถึงปัจจุบันก็ปรากฏว่าหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550

นอกจากนี้ไอทีวีเคยดำเนินกิจการโทรทัศน์แต่ถูกเลิกสัญญาและบอกว่ามีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และบริษัทย่อยก็ต้องหยุดกิจการไปด้วย แต่เมื่อดู ภงด. 50 บอกว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ แต่มีรายได้ 0 บาทจากการผลิตสื่อ แต่รายได้อื่นมาจากดอกเบี้ยรับ

ส่วนรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่บอกว่ายังประกอบกิจการอยู่ ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการสื่อมวลชนและหากศาลปกครองพิพากษาให้ชนะจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะประกอบกิจการหรือไม่ ดังนั้นการที่วัตุประสงค์บอกว่าประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่ต้องดูงบการเงินด้วย และยังไม่มีคลื่นความถี่ที่จะประกอบกิจการ และไอทีวีก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องให้คืนสิทธิ์แก่ตนเองแต่อย่างใด

ข้อพิพาทดังกล่าวหากท้ายที่สุดไอทีวีชนะก็ไม่ได้มีผลให้ไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ ปรากฏจึงสรุปว่าไอทีวีไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการสื่อตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 และการคงสถานะเพื่อดำเนินคดีที่ค้างในศาลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ การที่มีการเบิกความว่าหากชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่ จึงเป็นเรื่องในอนาคต ดังนั้นแต่ สปน. เลิกสัญญาก็ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อ ดังนั้น ณ วันที่นายพิธาสมัคร ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อ การถือหุ้นไอทีวี จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง

จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายพิธาไม่สิ้นสุดลง 

'อัษฎางค์' รวบย่อไทม์ไลน์ 'พิธา' กับ 'ปมหุ้นไอทีวี' บทสรุปการ 'รอด' เพราะศาลวินิจฉัยไม่ได้ทำธุรกิจสื่อแล้ว

(24 ม.ค. 67) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปกรณี 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ได้ไปต่อหลังรอดปมหุ้มไอทีวี ว่า...

ศาลตัดสินคดีพิธาถือหุ้นไอทีวี

1. ถือหุ้นสื่อ 1 หุ้นก็ถือว่า ผิด
2. พิธา อ้างว่าเป็นเพียงผู้จัดการมรดก แต่ศาลวินิจฉัยว่า พิธาเป็นทั้งผู้จัดการมรดก และทายาทผู้ได้มรดกเป็นหุ้นไอทีวีด้วย
3. พิธา อ้างว่าเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ถือหุ้นสื่อ
4. แต่ พิธา ยังอ้างว่าโอนหุ้นโดยปากเปล่า ก่อนสมัคร สส. (อันนี้เป็นพฤติกรรมดิ้น เอามาอ้างไม่ได้)
5. ทำใหัศาลสงสัยว่า ถ้าพิธามั่นใจว่าไม่ได้ถือหุ้นสื่อแล้วจะโอนหุ้นทำไม
6. สรุปว่าพิธาถือหุ้นไอทีวี ในวันที่สมัคร สส.จริง
7. แต่ศาลวินิจฉัยว่า ไอทีวี ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว
8. ศาลจึงตัดสินว่า พิธา รอด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top